ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบกลาง ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง
โดยมีแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน สำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันได
แบ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์ต่อหน่วย
เฉลี่ยแล้วค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 จะอยู่ที่อัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีอีกมาตรการหนึ่งควบคู่กัน คือช่วยเหลือระยะเร่งด่วน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลดอีกรายละ 150 บาทต่อเดือน
ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 23.40 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท ขณะที่มาตรการแรกครอบคลุม 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณ 7,602 ล้านบาท รวมทั้งหมด 11,112 ล้านบาท
แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงยุบสภา ดังนั้น ครม.จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการนำเสนอคณะกรรมกาการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบใช้งบกลาง
การลดค่าไฟฟ้าเป็นผลต่อเนื่องจากที่รัฐบาลมีมติขึ้นจากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย เป็น 4.77 บาทต่อหน่วย แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเพิ่มภาระประชาชน ก่อนยอมลดเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย
สำหรับนโยบายพลังงานถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่อยมาตลอดช่วง 8-9 ปี ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีคนเดิม
แน่นอนส่วนหนึ่งที่ค่าไฟฟ้าแพง เป็นผลจากราคาพลังงานโลกสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าขึ้นตามไปด้วย แต่หลายฝ่ายก็ตั้งคำถามรัฐบาลผลิตสำรองไฟฟ้ามากเกินไปหรือไม่ สูงเกิน 36 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าแพง
ขณะนี้ใกล้โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ แทบจะทุกพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายปฏิรูปพลังงาน เพราะสร้างความเดือดร้อนหนักให้แก่ประชาชน
ในท่ามกลางสถานการณ์นี้ จึงเกิดคำถามอีกว่าทำไมรัฐบาลเพิ่งจะลดค่าไฟฟ้า อีกทั้งต้องใช้งบหมื่นล้าน เพื่อหวังสร้างคะแนนนิยมให้บางกลุ่ม บางคนหรือไม่