บทบรรณาธิการ : จับตาจีน-ลาว

Home » บทบรรณาธิการ : จับตาจีน-ลาว


บทบรรณาธิการ : จับตาจีน-ลาว

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

จับตาจีน-ลาว

เปิดบริการแล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 สำหรับโครงการรถไฟระหว่างเมืองคุนหมิงตอนใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงนครเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เปิดวิ่งเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาระบอบสาธารณรัฐหรือวันชาติสปป.ลาว ด้วยขบวนรถไฟที่ชื่อว่า “ล้านช้าง”

โครงการนี้มีมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระยะทาง 414 ก.ม. ความเร็ว 160-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมโครงข่ายคมนาคมระบบรางเชื่อมจีนและชาติอาเซียน ตามแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ถือเป็นความสำเร็จของการคมนาคมระบบรางเป็นครั้งแรก

เส้นทางรถไฟสายนี้สร้างด้วยรางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของ 6 ระเบียงเศรษฐกิจนานาชาติ ตามข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของสาธารณรัฐประชาชนจีน

อยู่ในส่วนของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน เชื่อมระบบการขนส่งทางรางจากเมืองคุนหมิงกับประเทศสิงคโปร์ ผ่านประเทศสปป.ลาว ไทย และ มาเลเซีย รองรับรถไฟความเร็วสูงได้มากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นักวิชาการระบุว่าโครงการนี้ เป็นผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งของจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่จีนต้องการขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้

เป้าหมายสูงสุดคือสร้างให้จีนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างงานรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 ก.ม. วงเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ณ วันที่ 25 ต.ค.2564 การรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่าภาพรวมงานก่อสร้างมีความคืบหน้า 2.73% เท่านั้น

มีสัญญาที่ลงนามแล้ว 11 สัญญาก่อสร้างเสร็จแล้วเพียง 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 10 สัญญา กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตลอดเส้นทางในปี 2569

เป็นที่น่าเสียดายรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ยังอีกนานที่จะแล้วเสร็จสามารถเปิดใช้ ขณะที่รถไฟเวียงจันทน์-คุนหมิงเปิดใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว พร้อมขนส่งทั้งคนและสินค้าแล้ว

แต่ประเทศไทยเส้นทางระบบรางยัง “กุด” อยู่แค่เฟสแรก ที่จ.นครราชสีมาเท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ