คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ก่อหนี้เพิ่ม
การก่อหนี้เพิ่มของรัฐบาลส่งท้ายปีนี้อีก 155,000 ล้านบาทเป็นไปตามสถานะทางการเงินของประเทศที่มีเงินไม่พอใช้จ่ายในโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา
เพราะตัวเลขวงเงินที่เหลืออยู่ ณ วันที่ 19 พ.ย. 2564 มีเหลือเพียง 5,360 ล้านบาท
มติที่ออกมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จึงขยายกรอบอัตรายอดคงค้างภาระหนี้ที่ภาครัฐต้องชดเชยตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ มาตรา 28 จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 ของกรอบเงินงบประมาณประจำปี
การตัดสินใจนี้เป็นไปตามสภาพ และตรงกับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน ว่าเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 จะไม่สวยหรู
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดติดต่อกันมา 2 ปี และไม่ได้หายไปไหน ยังจะส่งผลต่อไปในปี 2565 จึงทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ง่าย
ยิ่งเมื่อกลไกทางการเมืองติดกับอยู่กับผลกระทบอันยาวนานของรัฐประหาร ยิ่งทำให้รัฐบาลไม่มีแนวทางให้เลือกมากนัก
การกู้เงินมาของรัฐบาลในช่วง 2 ปีมานี้ ไม่เพียงเยียวยาประชาชนจากผลกระทบของโควิด-19 ยังประคองสถานะของรัฐบาลไปในตัว จนดูเหมือนว่าประชาชนไม่มีทางเลือกมากนัก
การใช้เงินมหาศาลย่อมส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ต่อจีดีพี
แม้การกู้เงินและขยับเพดานหนี้เป็นวิธีที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศต้องทำเช่นกันเพื่อให้การบริหารการคลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่การแบกหนี้ร่วมกันของคนในประเทศต้องอาศัยปัจจัยหลักด้านประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเห็นชอบร่วมกันว่าหนี้ดังกล่าวนี้จะส่งผลประโยชน์ถึงประชาชนอย่างเท่าเทียม
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปีสองปีข้างหน้าที่ยังต้องพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มช้า
แม้จะมีแนวโน้มว่าอาจเกิดการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งและต้องเร่งหาเสียง แต่การทุ่มเงินลงไปโดยไม่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว อาจทิ้งไว้แค่หนี้ที่เพิ่มขึ้น