พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565
กฎหมายนิยามความหมายใบของพืชกระท่อม โดยให้รวมถึงน้ำต้มใบของพืชกระท่อมและสารสกัดที่ได้จากใบของพืชกระท่อมด้วย
เนื้อหาครอบคลุมถึงการขออนุญาต การนำเข้าส่งออก การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคและการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
ดังนั้น จึงต้องศึกษากฎหมายให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามบทบัญญัติที่ตราไว้
มาตรา 24 บัญญัติว่าห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมหรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลดังต่อไปนี้ คือบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
มาตรา 25 บัญญัติว่าห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมในสถานที่ โดยวิธีการ หรือลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่
สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก และขายโดยใช้เครื่องขาย
ข้อกฎหมายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ใช้พืชกระท่อมในการสันทนาการและใช้เสพติด
นอกจากนี้ มาตรา 26 บัญญัติว่าห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจสาธารณชนให้บริโภคทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ส่วนบทกำหนดโทษนั้น มาตรา 33 ระบุผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท และมาตรา 34 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลชุดนี้มักปล่อยเสรีพืชที่เกี่ยวข้องและมีลักษณะดุจเดียวกับยาเสพติดออกมาก่อนแล้วกฎหมายตามมาทีหลัง
เช่นเดียวกับกัญชาเสรี ที่รัฐประกาศปลดล็อกปลดปล่อยออกมาก่อน โดยที่ยังไม่มีมาตรการป้องกันและกฎหมายรองรับจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์