หลายคนคงจะเคยได้ยินสำนวนไทยที่ว่า “ครั้งสมัยพระเจ้าเหา” แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่า “พระเจ้าเหา” ที่ว่านี้คือใคร? และทำไมเวลาที่จะไปอ้างอิงความเก่าแก่อะไรแล้วจึงต้องไปดึงเอาชื่อพระเจ้าเหามาใช้ด้วย?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณลิขิต ฮุนตระกูล ผู้เขียนชุดหนังสือ “ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างชาติไทยกับชาติจีน แต่ยุคโบราณจนถึงสมัยชาติไทยได้มาตั้งกรุงสุโขทัย เป็นราชธานีแห่งประเทศไทย” จำนวน 2 เล่มจบ ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2509 ได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือชุดเดียวกันนี้เองว่า
“ในที่สุดข้าพเจ้าก็พบหลักฐานในหนังสือจีนกล่าวว่า ชนชาติไทยกับจีนก็ได้ก่อสร้างตนมาตั้งแต่เริ่มต้นพงศาวดารจีน ฉะนั้น หนังสือประวัติศาสตร์การสัมพันธ์ระหว่างชาติไทยและจีนเล่มนี้จำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้องนำเหตุการณ์ และศักราชแห่งพงศาวดารจีนมาเป็นแนวทางเรียบเรียง เพื่อให้ผู้อ่านจะได้มีโอกาสตรวจสอบได้สะดวกในพงศาวดารจีน มีข้อความปรากฏดังต่อไปนี้ คือ
(ก) พระเจ้าเสียวเหา (หรือพระเจ้าเหาน้อย ไทยเรียก พระเจ้าเหา) กษัตริย์องค์ที่ 2 ในพงศาวดารจีนครองราชย์ระหว่าง 2,054 ถึง 1,971 ก่อนพุทธศักราช พระองค์เป็นต้นตระกูลของชนชาวไท-ไทย ซึ่งลูกหลานในภายหลังได้กลายเป็นชาวดอยไปในมณฑล ฮูนาน, กวางตุ้ง, กวางสี, กุยจิว, เสฉวน และ หยุนนาน ซึ่งชนจีนได้พบชาวดอยนี้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)”
จากข้อความดังกล่าวพอจะสรุปได้ว่า สำหรับคนที่สนใจเรื่องจีนๆ แถมยังมีชีวิตอยู่ในช่วงที่สังคมเชื่อว่าคนไทยต้องอพยพมาจากที่อื่นๆ (โดยเฉพาะจากจีน) อย่างคุณลิขิตแล้ว อะไรที่เรียกว่า “พระเจ้าเหา” นั้นมาจากจีน แถมยังไม่ใช่จีนธรรมดา เพราะคุณลิขิตยังบอกต่อไปด้วยว่า
“ในบันทึกประวัติศาสตร์จีน เชื้อพระวงศ์พระเจ้าเหานี้ ได้รับพระราชทานตราตั้ง ราชกูล ‘ไทไท’ เป็นฐานันดรศักดิ์ประจำตระกูล”
ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยที่คุณลิขิตจะเสนอไว้ในหนังสือชุดเดียวกันนี้ว่า พระเจ้าเหาคนเดียวกันนี้เองที่เป็น “ต้นตระกูลไทย” และเป็น “บรรพบุรุษ” ดังนั้น เวลาที่คนไทยจะอ้างว่าอะไรเก่าแก่จึงต้องอ้างอิงไปถึงพระเจ้าเหาตลอด
แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไรเล่าครับ ในเมื่อ “พระเจ้าเหา” คนที่คุณลิขิตอ้างถึงเป็นลูกของ “หวงตี้” ปฐมกษัตริย์ในตำนานของชาวจีนเขา ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันดีในแวดวงประวัติศาสตร์ และโบราณคดีว่า เรื่องของหวงตี้นั้นเป็นเพียงแค่ตำนานเท่านั้น ไม่ได้เคยมีชีวิตอยู่จริงเสียหน่อย แถมเอาเข้าจริงแล้ว ความรู้ทางโบราณคดีในทุกวันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า คนไทยไม่ได้อพยพมาจากแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห ที่ตำนานว่ากษัตริย์หวงตี้ และพระเจ้าเหาตั้งราชวงศ์อยู่ที่โน่น
แต่คุณลิขิตก็ไม่ใช่คนเดียวที่ได้เสนอข้อสันนิษฐานเรื่องของพระเจ้าเหาเอาไว้ อดีตนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งปัญญาชนอย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยเขียนตอบคำถามทางบ้านของคุณรักษ์ม้า ที่เขียนถามคุณชายคึกฤทธิ์อย่างท้าทายว่า “ถ้าหม่อมตอบคำถามเหล่านี้อย่างครบถ้วน ผมขอยกให้หม่อมเป็นขงเบ้งบวกบังทองแห่งประเทศไทย” เอาไว้ในคอลัมน์ “ตอบปัญหาประจำวัน” ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐเอาไว้ว่า
“คำว่า ‘พระเจ้าเหา’ นี้มาจากตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีพระราชวิจารณ์ว่า คำว่า เหา นี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่า เรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าหา หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่า จะมีศาลพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันมาแต่โบราณแล้ว เป็นแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่ สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี”
“ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า ‘ตึกพระเจ้าเรียก’ เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า ‘Convocation hall’ คือตึกเรียกประชุม Con = มารวมกัน Vocare = เรียก Convocare = เรียกให้มารวมกัน”
โดยเฉพาะเมื่อคุณชายท่านยังได้นำเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามประวัติศาสตร์ มาอ้างต่อไว้ด้วยว่า
“ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ได้ทำการรัฐประหารในตึกนี้ กล่าวคือในขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง ก็ให้ทหารเอาหอกดาบและปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วพระเพทราชาก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ ที่นั้น หลังจากรัฐประหารครั้งนี้แล้วเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการคงจะเปลี่ยนไปมาก ของอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ ถ้ามีคนถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ตอบกันว่า ‘แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา’ ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็เกิดขึ้น ‘แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา’ ต่อมาคำว่า ‘ตึก’ เห็นจะหายไป คงเหลือแต่คำว่า ‘ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา’ แปลว่า ‘ตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ หรือ ‘ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร’ อย่างไรเล่า”
ฟังดูก็เข้าทีดีนะครับ ติดอยู่ก็เพียงแต่ว่า ในอะไรที่เรียกว่า ‘ตึกพระเจ้าเหา’ มีฐานชุกชี ซึ่งย่อมต้องใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปแน่ ดังนั้นจึงออกจะฟังดูน่าพิลึกทีเดียว ถ้าตึกที่ใช้ประชุมขุนนางของสมเด็จพระนารายณ์นั้น จะมีพระพุทธรูปองค์โตตั้งอยู่เป็นประธาน
ในเอกสารของกรมศิลปากรที่ชื่อว่า “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จ. ลพบุรี” (ตีพิมพ์ พ.ศ. 2542) ก็อธิบายว่า “ตึกพระเจ้าเหา อาจจะเป็นหอพระประจำพระราชวัง” ดังนั้น ถ้าพิจารณาในแง่การแปลความหลักฐานทางโบราณคดีนั้น ตึกพระเจ้าเหาไม่น่าจะใช้สำหรับการประชุมขุนนางแน่ แถมในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เองก็ยังสันนิษฐานถึงความหมายของชื่อตึกต่อไปอีกด้วยว่า
“เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อว่า พระเจ้าเหา หรือ พระเจ้าหาว (หาว เป็นภาษาไทยโบราณแปลว่า ท้องฟ้า)”
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก และยังไม่สามารถอธิบายได้อีกด้วยว่า ทำไม ‘พระเจ้าเหา’ จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับความเก่าแก่โบราณ?
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจีนศึกษาระดับปรมาจารย์อย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล ได้เคยอธิบายถึงคำว่า ‘พระเจ้าเหา’ เอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ ‘ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่’ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559) เอาไว้ว่า คำว่า ‘เหา’ น่าจะมาจากคำว่า ‘เฮ่า’ ในภาษาจีน ซึ่งหมายถึง ‘พระเทพบิดร’ ซึ่งก็หมายถึงบูรพกษัตริย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ที่สำคัญก็คือในจีนยังมีคำว่า ‘เมี่ยวเฮ่า’ ที่หมายถึง ‘ศาลบูรพกษัตริย์’ และถ้าจะแปลแบบไทยๆ ก็คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นแหละครับ
นักหนังสือพิมพ์ ควบตำแหน่งนักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงอธิบายว่า ‘ตึกพระเจ้าเหา’ ควรจะเป็น ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ มากกว่าจะเป็นอย่างอื่น โดยมีพระพุทธรูปในตัวตึก (ซึ่งสูญหาย หรือปรักหักพังไปแล้ว) นั่นแหละที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวพระเทพบิดร
และก็แน่นอนด้วยว่า เมื่อเป็นคำว่า ‘เหา’ มาจาก ‘เฮ่า’ คือ ‘พระเทพบิดร’ หรือปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์แล้ว ก็ย่อมหมายถึงอะไรที่เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ตามไปด้วยนั่นแหละ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าอะไรสักอย่างนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว ก็ย่อมหมายถึงว่ามีมาเนิ่นนานแล้วเลยทีเดียว
แถมความเชื่อเรื่อง ‘เฮ่า’ และคติการสร้าง ‘เมี่ยวเฮ่า’ ในจีนเองก็เก่าแก่ระดับปฐมบรมเก่า จนถ้าจะเป็นสัญลักษณ์ของความเก่าก็เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงเลยนะครับ เพราะปรากฏคำเหล่านี้อยู่บนจารึกกระดองเต่าในจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซาง เมื่อ 3,000 ปีมาแล้วเลยทีเดียว