โลกกำลังถูกติดตาม แต่ไม่ใช่จากจรวดหรือเอเลียน แต่เป็นดาวเคราะห์น้อย
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติยืนยันการค้นพบ “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” (Trojan asteroid) ดวงใหม่ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีลักษณะของวงโคจรและคาบการโคจรเหมือนกับโลก
ที่มาของภาพ, NOIRLab/NSF
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า 2020 XL5 และถือเป็น “โทรจัน” ดวงที่ 2 ที่ถูกค้นพบว่ามีวงโคจรเดียวกับโลก
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์อาจสามารถไปสำรวจดาวดวงนี้ เพื่อตั้งฐานที่มั่น และทำการศึกษาเรื่องระบบสุริยะ หรือใช้เป็นแหล่งทรัพยากรได้ในอนาคต
ดาวเคราะห์น้อย 2020 XL5 ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2020 แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลในอดีต และการเฝ้าสังเกตการณ์จากโลก เพื่อให้แน่ใจว่ามันคือโทรจันของโลก

ที่มาของภาพ, Getty Images
ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน เป็นดาวที่มีวงโคจรเดียวกับดาวเคราะห์ขนาดใหญ่กว่า ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงโลก โดยจะมีวงโคจรที่แน่นอนอยู่ด้านหน้า หรือด้านหลังของดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่า
ที่ผ่านมามีการพบโทรจันของดาวเคราะห์อื่นหลายครั้ง แต่พบโทรจันของโลกเพียงครั้งเดียวในปี 2011 ซึ่งมีชื่อว่า 2010 TK7

ทำไมจึงเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน
ชื่อนี้ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกตอนที่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้เคลื่อนที่ในวงโคจรเดียวกับดาวพฤหัสบดี โดยชื่อ “โทรจัน” มาจากเรื่องสงครามกรุงทรอยในตำนานเทพเจ้ากรีกโบราณ
โทรจัน ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในระบบสุริยะ คือดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่รอบจุดลากรานจ์ของดาวพฤหัสบดี โดยมีการค้นพบกว่า 11,000 ดวง
ส่วนดาวเนปจูนมีโทรจัน 32 ดวง ดาวอังคารมี 9 ดวง และดาวยูเรนัสมี 1 ดวง

สำหรับโทรจันดวงใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบ เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอน เพราะมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นธาตุคาร์บอน
ดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้ถือเป็นหนึ่งในวัตถุเก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา โดยมีองค์ประกอบคล้ายกับดวงอาทิตย์ ซึ่งนี่หมายความว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการกำเนิดของระบบสุริยะ และการก่อตัวของดาวเคราะห์ต่าง ๆ

ที่มาของภาพ, NASA
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โทรจันดวงใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบนี้มีขนาดใหญ่กว่าดวงแรกที่ค้นพบเมื่อปี 2011 มาก และจะใช้พลังงานน้อยกว่าในการเดินทางไปสำรวจ
พวกเขาระบุว่า โทรจันดวงนี้จึงถือเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับภารกิจการสำรวจ และในอนาคตอาจสามารถใช้เป็นฐานของมนุษย์ หรือติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และพวกเขาจะมีเวลาเหลือเฟือที่จะศึกษามัน เพราะเชื่อว่าโทรจันดวงนี้จะอยู่ในวงโคจรปัจจุบันต่อไปอีก 4,000 ปี
ซีซาร์ บริเซโย นักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ออปติคอลและอินฟราเรดแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้าเราค้นพบโทรจันของโลกได้เพิ่มขึ้น และบางดวงมีความเอียงของวงโคจรต่ำ ก็อาจช่วยให้การเดินทางไปสำรวจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการไปสำรวจดวงจันทร์
“ดังนั้นพวกมันจึงอาจเป็นฐานที่เหมาะสมในการสำรวจระบบสุริยะ หรืออาจเป็นแหล่งทรัพยากรได้”
……………………………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว