นักวิชาการ ฉะ 'ตู่' อยากได้ตั๋ว 12 ปี บี้ลาออก 'กุนซือกรธ.' ชี้ นับวาระตั้งแต่ปี 57 

Home » นักวิชาการ ฉะ 'ตู่' อยากได้ตั๋ว 12 ปี บี้ลาออก 'กุนซือกรธ.' ชี้ นับวาระตั้งแต่ปี 57 


นักวิชาการ ฉะ 'ตู่' อยากได้ตั๋ว 12 ปี บี้ลาออก 'กุนซือกรธ.' ชี้ นับวาระตั้งแต่ปี 57 

นักวิชาการ ฉะ ‘ตู่’ อยากได้ตั๋ว 12 ปี บี้ลาออก แนะทำหนังสือขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ จี้ศาลต้องวินิจฉัยเร็วที่สุด ‘อดีตที่ปรึกษากรธ.’ ชี้ นับวาระตั้งแต่ปี 57

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ส.ค. 2565 ที่สมาคมนักข่าวฯ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเสวนา “วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ” โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า ตนอยากตั้งคำถามให้ประชาชนช่วยกันคิด คือ 1.การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะวางกรอบบรรทัดฐานทางการเมือง ซึ่งในต่างประเทศไม่ตีความแบบเรียงความ แต่จะดูเจตนารมณ์และโครงสร้างของกฎหมาย ระยะเวลา 8 ปีสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม

2.การดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการผูกขาดอำนาจรัฐนานเกินไป 3.เรื่องนี้เป็นประเพณีทางการเมืองไทยหรือไม่ และ 4.การที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น คิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่าการนับวาระ 8 ปี จะเริ่มที่ปี 2560 เพื่อหวังจะนั่งในตำแหน่งนายกฯไปอีก 4 ปี หรือต้องการตั๋ว 12 ปี จึงขอตั้งคำถามว่านายกฯ ต้องการเป็นจักรพรรดิ์หรือ หากเป็นอย่างนี้เกรงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองขึ้นได้

ด้านนายวันวิชิต บุญโปร่ง กล่าวว่า เวลานี้ประชาชน และนักวิชาการ ต่างมีคำถามว่าวาระ 8 ปี นับตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะนายกฯ ไม่เคยประกาศเจตจำนงว่าจะวางอนาคตทางการเมือง โดยบอกว่าอยู่ที่ศาล สะท้อนว่าจะไปต่อ แต่ไม่อยู่ในวิสัยทัศน์ที่จะพูดได้เท่านั้น วันนี้ต้องทำเป็นบรรทัดฐานว่าจะเป็นรัฐบุรุษหรือไม่ เพราะในอดีตทหารรุ่นพี่ มีการระบุเวลาที่จะบริหาร รู้จักพอ และมียางอาย มีสปิริต มีความรู้สึกรับผิดชอบ เช่น สมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระบุจะอยู่ 15 เดือน เพราะเห็นว่าการเมืองต้องอยู่ในกลไกสภา

นายวันวิชิต กล่าวว่า จึงถามนายกฯ ว่า สปิริตตรงนี้เหลืออยู่หรือไม่ และต่อมจริยธรรมทางการเมืองยังมีเหลืออยู่หรือไม่ วันนี้ทุกภาคส่วนที่สนับสนุนมูฟออนไปแล้ว ไม่เหลือพื้นที่ความไว้วางใจ การบริหารประเทศลดทอนประสิทธิภาพความเชื่อมั่นของประชาชนลงไปเรื่อยๆ วันนี้คนไทยบางส่วนกำลังถูกสะกดจิตหมู่ว่าต้องให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ หรือหากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ใครจะเป็นต่อ แล้วจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าบ้านเมืองอยู่ได้ แม้ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น ประชาชนจึงควรเรียกร้องไปยังผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรจะสนับสนุนต่อไปหรือไม่

ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เขียนไว้ชัดเจนมากว่า นายกฯ ต้องดำรงตำแหน่งรวมกันไม่เกิน 8 ปี และมาตรา 264 กำหนดชัดว่า ครม.ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ให้ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ทั้งนี้ เห็นว่าบ้านเมืองเราจะเสียหายมาก หากผู้หมดวาระไปดำเนินการเกี่ยวกับการเงินการคลังของแผ่นดิน

อีกทั้งยังห่วงว่าวันที่ 24 ส.ค.เป็นต้นไป ท่านอาจไม่สามารถเบิกจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นๆ ในตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเรื่องนี้คนเป็นนายกฯ ควรคิดได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จะมาตีความเพื่อยืดเวลาดำรงตำแหน่งทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกว่าเสียสละเข้ามา เหมือนเป็นอัศวินขี่ม้าขาว

ผมไม่ได้มาไล่นายกฯ แต่มาแสดงความเป็นห่วง ในแง่การตรวจสอบว่าหลังวันที่ 24 ส.ค.นี้ นายกฯ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะดูแลเงินแผ่นดิน ดังนั้น อย่าถลำลึก จนไม่สามารถรับผิดชอบได้ และทางที่ดี นายกฯ ควรใช้สามัญสำนักในเรื่องนี้ว่าจะเสียสละอย่างไร โดยให้ทำหนังสือถึงประธานสภาว่า จะขอหยุดปฎิบัติหน้าที่ แล้วให้สรรหานายกฯ คนใหม่มาแทน โดยเป็นไปกลไกของสภาในการแก้ไขปัญหา” นายพิศิษฐ์ กล่าว

นักวิชาการ ฉะ 'ตู่' อยากได้ตั๋ว 12 ปี บี้ลาออก 'กุนซือกรธ.' ชี้ นับวาระตั้งแต่ปี 57 

นักวิชาการ ฉะ ‘ตู่’ อยากได้ตั๋ว 12 ปี บี้ลาออก ‘กุนซือกรธ.’ ชี้ นับวาระตั้งแต่ปี 57

 

นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) กล่าวว่า เมื่อมีการยื่นเรื่องเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เร็วที่สุด และควรให้ทันก่อนวันที่ 24 ส.ค. หรือหากไม่ทัน ก็ควรสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะขอพักการปฏิบัติหน้าที่ก่อน หรือจะลาออกแล้วเป็น นายกฯ รักษาการ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ 8 ปีแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถเป็นนายกฯ รักษาการได้ ซึ่งต้องใช้กลไกปลัดกระทรวงรักษาการแทน ดังนั้น ฝ่ายการเมืองอาจต้องคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ก่อนวันที่ 23 ส.ค.

ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การตีความกฎหมาย วันนี้เราต้องตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปีเมื่อไหร่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีรวมกัน ซึ่งครม.ที่เป็นก่อนประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้ถือเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย

วิธีคำนวณวาระ 8 ปี หากตีความตรงไปตรงมาคือ ครบวาระวันที่ 24 ส.ค.2565 หากตีความอีกแบบคือ เรื่องมาตรา 158 จะบังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ หากนับเช่นนี้จะต้องเริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 แต่การคิดแบบนี้จะเป็นเรื่องอันตราย เพราะเท่ากับว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557-2560 จะถือเป็นการใช้อำนาจอะไร แม้หลายคนจะใช้เรื่องอำนาจรัฎฐาธิปัตย์มาอธิบาย แต่จริงๆ ถือว่าความเป็นรัฎฐาธิปัตย์สิ้นสุดหลังมีการโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้ว

ดังนั้น หากอ้างความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ช่วงเวลาหลังจากนั้นจะถือว่าเป็นกบฎ และการตีความอีกแบบคือ เอาแค่มาตรา 158 แต่ไม่เอามาตรา 264 โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย เป็นเพียงความต่อเนื่องในการบริหาร ซึ่งการใช้กฎหมายแบบนี้ไม่สามารถนำมาซึ่งระบบนิติธรรมได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ในทัศนะของตนหากไม่นับวาระตั้งแต่ปี 2557 จะเป็นเรื่องที่แปลก

หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วดำเนินการไม่เสร็จภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. แม้วันที่ 24 ส.ค.จะยังดำรงตำแหน่งได้ตามนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วจะทำได้หรือไม่ เพราะในวันที่ 26 ส.ค. จะมีการประชุมกำหนดตัวผู้บัญชาการเหล่าทัพ หากท่านไปนั่งเป็นประธานการประชุมแล้ว แต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ จะทำได้หรือไม่

นายเจษฎ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่และคืนเงินเดือนในช่วงหลังจากวันที่ 24 ส.ค. จะลดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ จะช่วยพล.อ.ประยุทธ์ ป้องกันปัญหาและช่วยลดแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญ และตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่ยื้อเวลาการพิจารณาออกไปนานอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ ยุติปฏิบัติหน้าที่ ต้องย้ายออกจากบ้านพักทหารหรือไม่ และสถานะครม.เป็นอย่างไร นายเจษฎ์ กล่าวว่า หากยุติปฏิบัติหน้าที่ นายกฯ จะไปวิ่งเล่น เที่ยว หรือไลฟ์มาบอกว่าไม่ได้ทำงานแล้วก็ได้ แต่ในแง่ของครม.จะมีปัญหา 2 ลักษณะ แม้รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อ แต่เมื่อรัฐมนตรีเชื่อมกับนายกฯ เมื่อนายกฯ พ้นสภาพ รัฐมนตรีต้องพ้นสภาพไปด้วย อาจเกิดปัญหา

นำมาซึ่งคำถามรัฐมนตรียังนั่งอยู่ในตำแหน่งได้ หรือขณะที่นายกฯ มารักษาการ ก็เป็นประเด็นอีกจะเลือกใคร และรักษาการไปถึงเมื่อไหร่ ในเมื่อมีกลไกการได้มาซึ่งนายกฯ คนมีรายชื่ออยู่ จะยอมรักษาการยาวเลยหรือ โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล ถ้ามีการลงมติในสภา เป็นนายกฯ ได้เลย แล้วจะรักษาการไปทำไม

เรื่องนี้สมมติฝ่ายค้านยื่นประธานสภา ในวันที่ 17 ส.ค. ท่านคงไม่รอช้า คงจะส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย เวลานี้ตำบลกระสุนตกอยู่ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ ครม. และสภา โดยสภาหากไม่ทำอะไรเลย จะมีคนนำไปยื่น ป.ป.ช. ทำให้พ้นตำแหน่งไปได้ เงื่อนงำนี้ ให้จบไปก่อนได้หรือไม่เมื่อฝ่ายค้านยื่น ก็มีเวลาให้วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

เมื่อถามว่าศาลจะรับเรื่อง เมื่อเกิดเหตุแล้วเท่านั้นหรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า มองได้ 2 รูปแบบ หากพิจารณาโดยรูปธรรมคือ รอเมื่อเกิดเหตุก่อน แล้วไปยื่น แต่มีอีกแบบ พิจารณาเชิงนามธรรม คือมีโอกาสเกิดเหตุเป็นรูปธรรม ที่เมื่อเกิดแล้วจะเกิดความเสียหาย เยียวยาไม่ได้ ก่อนหน้าศาลเคยรับเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดมาแล้วในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีคนแก้กฎหมายจะเอา ส.ว.สรรหาทั้งหมด ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ