“ธาริต” มาศาล ฟังฎีกาคดี “อภิสิทธิ์ -สุเทพ” ฟ้อง พร้อมทำคำชี้แจงเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ DSI
โดยวันนี้นายธาริต ได้ทำคำชี้แจง ให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบ โดยระบุว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ 1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ 2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตายและ 3. นายธาริต ฯ กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่า ในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาและยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือข้าพเจ้าและญาติผู้ตายอยู่นั้น มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งรวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะและหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพ ฯ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยเป็นฝักไฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพ ฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากว่า 10 คนนั้น
เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม
ฉะนั่นเมื่อ 08.30 น. ของวันนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาโดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน
รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริงและจากการที่ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้ทำคดีพิพากษาดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ข้าพเจ้าขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น ข้าพเจ้าร้องคัดค้านและโต้แย้งว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นจะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวทุกฉบับไม่ได้ โดยข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกัน
การยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3818/2533 วางบรรทัดฐานรับรองและคุ้มครองสิทธิให้กระทำได้ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขององค์กรศาลยุติธรรมในภาพรวมและเชื่อว่าศาลอาญาจะได้ส่งคำร้องขอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้ยื่นในเช้านี้ไปยังศาลฎีกาและทางศาลฎีกาจะได้มีกระบวนการพิจารณาคำร้องขอของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรม โดยท่านประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันจะได้เห็นชอบให้ การทำคำพิพากษาและการพิจารณาสั่งคำร้องทุกเรื่องได้เข้าสู่การพิจารณาและจัดทำโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ 10 กรกฎาคม 2566