ผู้นำ…หมายถึงผู้อยู่สูงสุดในองค์กร มีอำนาจการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม และแน่นอนว่าอำนาจนั้นย่อมนำมาซึ่งความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะวันที่พวกเขา “ตัดสินใจผิดพลาด”
เมื่อถึงวันนั้นเราจะได้เห็นทักษะอีกด้านของความเป็นผู้นำของพวกเขาเหล่านั้นว่าแต่ละคนมีวิธีการรับผิดชอบกับความผิดของตัวเองอย่างไร
และนี่คือศิลปะและทักษะในการ “ขอโทษ และ รับผิดชอบ” ของเหล่าผู้นำสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป ในวันที่แฟนบอลมองพวกเขาว่าเป็นพวกทรยศแฟน ๆ และหมดค่าที่จะให้ความเคารพ… แต่ละคนมีทางลงอย่างไรกันบ้าง
1. ฟลอเรนติโน่ เปเรซ
“มาเฟียสเปน” คือแกนนำอันดับ 1 เรียกได้ว่าเป็นบิ๊กบอสของกลุ่ม ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก เลยก็ว่าได้ ประธานสโมสรของ เรอัล มาดริด คือ ตัวตั้งตัวตีและกล้าเปิดหน้าชนกับ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป(ยูฟ่า) เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ทีมยักษ์ใหญ่ ที่ลงทุนมากกว่าทีมอื่น ๆ ควรจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า เหมาะสมยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
เปเรซ จัดว่าเป็นผู้นำที่ชัดเจนในแนวทางการบริหารองค์กรอย่างที่สุด เขาไม่ได้โด่งดังในเรื่องของการเป็นเศรษฐีพันล้านเหมือนกับผู้บริหารและเจ้าของทีมดังทีมอื่น ๆ แต่ เปเรซ เป็นผู้นำที่เหมาะสมกับคำว่า “ผู้มีอิทธิพลอย่างที่สุด” หากจะกล่าวก็คงต้องใช้คำว่า ใจถึงพึ่งได้ เพื่อผลประโยชน์ขององค์กร เปเรซ พร้อมเป็นคนออกหน้าทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องในแง่ลบ และเเง่บวก
การต่อต้าน ยูฟ่า ของ เปเรซ เป็นไปในทิศทางยอมหักไม่ยอมงอ แม้กระทั่งสโมสรสมาชิกจะถอนตัวไปจนเกือบหมด แต่เขายังคงยืนหยัดในแนวคิดดังกล่าว และยืนยันว่า “นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดกับสโมสร และเขาจะไม่เลิกล้มความคิดการก่อตั้งยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกอย่างแน่นอน”
“เราจะดำเนินการในสิ่งที่เราทำต่อไป โปรเจ็คต์นี้ยังไม่ตาย มันรอวันผงาดทุกวินาที” เขายืนยันอย่างชัดเจนแม้ในวันที่ทั่วโลกต่างดีใจกับชัยชนะของเหล่าแฟนบอล
สิ่งที่ตามมาหลังการแถลงของเปเรซ นั้นแตกต่างจากสโมสรอื่น ๆ แฟนบอล ของ เรอัล มาดริด ไม่ได้มีท่าทีเดือดดาลและโมโหการตัดสินใจของเขาเหมือนกับแฟนบอลทีมบิ๊ก 6 ของ อังกฤษ ที่ถอนตัว ดังนั้นเราน่าจะพอสรุปได้ว่าคาแร็คเตอร์ของเขาที่ชัดเจน การตัดสินใจที่เด็ดขาด ไม่มีการเหยียบเรือสองแคม มันเป็นที่แน่ชัดว่าแฟนบอลของ มาดริด เชื่อใจ เปเรซ ในระดับสูงเลยทีเดียว
“เพราะผู้นำไม่ใช่แค่ตำแหน่ง แต่คือการกระทำ” นี่คือประโยคคลาสสิกที่อธิบายถึงตัวตนของ เปเรซ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าคนจะรักหรือเกลียดแนวคิดและวิธีการของเขา แต่ที่สุดเเล้ว เรอัล มาดริด กลายเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุโรปในรอบ 10 ปี
จากนี้ไปไม่ว่าจะโดนลงโทษหรือไม่ แน่นอนว่าคนอย่าง เปเรซ ไม่มีถอย ตราบใดที่เขายังมีอำนาจและมีสิทธิ์มีเสียง แนวคิดการก่อตั้งลีกใหม่ที่ดีกว่าก็ไม่มีทางจะถูกปัดตกสำหรับ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ อย่างแน่นอน
2. โจน ลาปอร์ต้า
การเพิ่งเอาชนะการเลือกตั้งประธานสโมสร บาร์เซโลน่า ทำให้ โจน ลาปอร์ต้า ต้องแสดงออกถึงการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพาสโมสรก้าวออกจากวิกฤติครั้งสำคัญให้ได้เป็นอันดับแรก
การบริหารที่ผิดพลาดและการฉ้อโกงคอรัปชั่นในยุคประธานคนเก่าอย่าง โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ทำให้ บาร์เซโลน่า มีหนี้มากกว่า 1 พันล้านยูโร ดังนั้นเมื่อ ลาปอร์ต้า เข้ามาสิ่งที่เขาต้องทำ คือ การหารายได้เพิ่ม เพื่อนำมาอุดรูรั่วที่มีมากมาย และ ซูเปอร์ลีก คือ ทางออกที่เปรียบได้ดั่งตั๋วทองคำของบาร์เซโลน่า อย่างแท้จริง ไม่ต้องแปลกใจที่พวกเขาเลือกเข้าร่วมโปรเจกต์นี้เป็นสโมสรแรก ๆ
อย่างไรก็ตามในวันที่ทุกอย่างพลิกคว่ำไม่เป็นท่า สมาชิกถอนตัวกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่า ลาปอร์ต้า ก็เตรียมจะตามน้ำด้วยการตัดสินใจยอมแพ้แบบเสียไม่ได้ อย่างไรก็ตามในฐานะผู้นำองค์กร เขาไม่ได้แถลงขอโทษแฟนบอลบาร์เซโลน่า หรือนักเตะในทีมแบบที่อังกฤษทำ เพราะดูเหมือนว่าแฟน ๆ ของ บาร์เซโลน่า ก็ไม่ได้มีท่าทีเคียดเเค้นอะไรสำหรับการตัดสินใจครั้งสำคัญในการ “ย้ายลีก” ของสโมสรครั้งนี้
“เราจะพูดคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งและมากขึ้นอีกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้ผมเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสิ่งที่กลุ่มสมาชิกทั้งหลายของเราแถลงออกมา” นี่คือสิ่งที่ ลาปอร์ต้า เปิดปากหลังโครงการ ซูเปอร์ลีก ล่มลงไป
ท่าทีของ ลาปอร์ต้า นั้นเป็นการยืนกระต่ายขาเดียวและเชื่อมั่นว่า ซูเปอร์ลีก จะเป็นทางด่วนทางลัดสำหรับการอยู่รอดของสโมสรที่จ่ายค่าจ้างแพงที่สุดในโลกอย่าง บาร์เซโลน่า แม้ท่าทีของเขาจะไม่แข็งกร้าวและยืนหยัดท้าชนเหมือนกับ ที่ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ทำ แต่ในฐานะผู้นำของสโมสร ลาปอร์ต้า ยังคงแสดงออกอย่างชัดเจนว่า หากวันใดที่ทุกอย่างพร้อม บาร์เซโลน่า จะไม่ลังเลที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้ง ซูเปอร์ลีก อย่างแน่นอน
ไม่ว่าอย่างไรที่สุดแล้ว ลาปอร์ต้า ยังมีคุณสมบัติของผู้นำที่ดี นั่นคือเขามีเป้าหมายที่ชัดเจน, มีผู้ตามที่ดี และที่สำคัญคือกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อไปหาผลลัพท์ที่ดีกว่าเดิม … ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่แฟน ๆ ในแคว้นกาตาลุนญ่า ไม่ได้มีท่าทีต่อต้าน และเลือกเขาขึ้นมาเป็นผู้นำพาความรุ่งโรจน์กลับมายังสโมสรอีกครั้ง
3. อันเดรีย อันเญลี่
ตระกูลอันเญลี่ คือตระกูลที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์นำพายูเวสตุสกลับมาผงาดครองวงการลูกหนัง อิตาลี ได้อีกครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และผู้นำของตระกูลและทีมบริหารของสโมสรคือ อันเดรีย อันเญลี่ นั่นเอง
อันเญลลี่ เข้าเป็นประธานสโมสรของ ยูเวนตุส ตั้งแต่จบฤดูกาล 2009-10 ต่อจาก ฌอง โคล้ด บลองค์ จากนั้นเขาเริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรหลายอย่าง เช่น การเลือกซื้อนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี การลงทุนสร้างสนาม ยูเวนตุส สเตเดี้ยม (เปลี่ยนตามชื่อสปอนเซอร์เป็น อลิอันซ์ สเตเดี้ยม) จนทีมมีรายรับจากค่าตั๋วเข้าชมมากกว่ายุคเช่าสนามโอลิมปิก ตูริน ถึง 45% นอกจากนี้เขายังกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ มากมาย เช่น การเปิดรับผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศ การรีแบรนด์สโมสรใหม่ และการเปลี่ยนซีอีโอใหม่ที่มีประสบการณ์
ทั้งหมดนี้ทำให้เราคาดเดาลักษณะการเป็นผู้นำของ อันเญลี่ ได้ดี เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ได้พื้นที่สื่อเท่ากับที่ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ได้ แต่เขาเป็นหนึ่งในผู้นำไม้แข็ง ที่ไม่อ่อนข้อให้ใคร เขาไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง และไม่กลัวโดนแฟนบอลโจมตีในการตัดสินใจอะไรสักอย่าง อาทิ การรีแบรนด์สโมสร อย่างการเปลี่ยนโลโก้ที่โดนแฟนบอลต่อต้าน อันเญลี่ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
“ไม่ว่าสิ่งใดที่คุณคิดออกในโลกของฟุตบอลคุณย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนเต็ม 100% อยู่แล้ว ประเด็นคือผู้มีส่วนได้เสียควรจะนั่งลงและคุยกันซะ เพื่อหาสมดุลของปัญหา เราเคยทำแบบนี้มาแล้ว เพื่อทำให้ทีมงานของเราหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน” อันเญลี่ ว่าไว้เมื่อครั้งอดีต
ทุกวันนี้เขายังคงทำเช่นเดิม ในการจัดตั้ง ซูเปอร์ลีก นั้น อันเญลี่ เป็นแนวหน้าพอๆกับที เปเรซ เป็น เขาออกตัวในฐานะผู้นำขององค์กรลีกใหม่ และพร้อมรับทุกคำวิจารณ์ เพราะที่สุดเเล้วแนวคิดของเขาคือการเปิดกว้างและรับฟังเสียงเหล่านั้น แต่เขาไม่กลัวมัน และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องมาถึงในสักวัน โดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้สโมสรได้เดินไปข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม อันเญลี่ ยังไม่ได้ยืนเป็นผู้ท้าชนเท่ากับ เปเรซ แม้จะมีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่เขาก็เห็นโลกแห่งความเป็นจริงและยอมรับมัน พร้อมทั้งเข้าใจว่าโปรเจกต์ซูเปอร์ลีก ณ เวลานั้นยังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
“ผมยังเชื่อมั่นในความสวยงามของโปรเจกต์นี้ คุณค่าที่มันจะมอบให้กับโลกฟุตบอล ในการสร้างลีกที่เยี่ยมที่สุดของโลก แต่ในโลกแห่งความจริง ผมไม่คิดว่าโปรเจกต์นี้ยังไปต่อได้” เขาว่าเช่นนั้น
การแถลงของ อันเญลี มีท่าทีของการยอมรับความจริงอยู่ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือเขายังไม่ทิ้งโปรเจกต์ซูเปอร์ลีกอย่างแน่นอน หากวันใดที่ถึงเวลาอันเหมาะสมและเขายังเป็นผู้นำของ ยูเวนตุส เรามั่นใจได้เลยว่าทีมหญิงชราแห่งตูรินจะจับจองพื้นที่สมาชิกขององค์กรนี้อีกครั้ง
4. จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่
เจ้าของสโมสรลิเวอร์พูลชาวอเมริกัน คือคนที่สมควรได้รับการปรบมือในการแสดงความรับผิดชอบต่อการทำร้ายความรู้สึกของแฟนบอลในเหตุการณ์ซูปอร์ลีกครั้งนี้อย่างถึงที่สุด
ลิเวอร์พูล เป็นหนึ่งในสโมสรที่ได้รับผลกระทบจากการต่อต้านของแฟนบอลมากที่สุด พวกเขาเคยเป็น People Club ที่รักษาขนบธรรมเนียมอันยาวนาน เป็นสโมสรแห่งความหวังที่มีการผูกติดกับชุมชนมานับร้อยปี และการที่เจ้าของสโมสรตัดสินใจโดยไม่ปรึกษาท้องถิ่นและแฟนบอล ทำให้แฟน ๆ หงส์เเดง นั้นต้องออกตัว และแสดงความต่อต้านถึงขีดสุด ไม่ว่าในโลกโซเชี่ยล หรือแม้กระทั่งการออกแอ็คชั่นถึงหน้าสนามแแอนฟิลด์ สังเวียนเหย้าของทีม เช่น การเผาเสื้อแข่ง และป้ายผ้าต่อต้านด้วยความสะท้อนถึงความรู้สึกของแฟนบอลท้องถิ่น
“น่าอับอายและอัปยศ RIP ลิเวอร์พูล 1892-2021”, “แฟนบอลลิเวอร์พูลต่อต้านซูเปอร์ลีก”, “ปลดรูปปั้น บิล แชงค์ลี่ย์ ออกซะ เขาจะต้องเสียใจกับสิ่งที่สโมสรทำ” นี่คือตัวอย่างข้อความที่เผ็ดร้อนของแฟนบอล ลิเวอร์พูล และการขับเคลื่อนของแฟน ๆ ครั้งนี้ ทำให้ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ ต้องแถลงการณ์เป็นวีดีโอคลิป เพื่อขอโทษสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เขาไม่ได้โทษใครเลยในทีมบริหาร และขอรับผิดชอบความเกลียดชังของแฟนๆ “แต่เพียงผู้เดียว”
“ผมต้องขอโทษกับแฟนบอลและผู้สนับสนุนสโมสรลิเวอร์พูลทุกคน สำหรับความวุ่นวายต่าง ๆ ที่ผมได้ก่อไว้ในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา… ผมขอโทษอีกครั้ง และน้อมรับความผิดชอบต่อกระแสแง่ลบที่กระทบสโมสรแห่งนี้แต่เพียงผู้เดียว” ใจความส่วนหนึ่งของการแถลงของ เฮนรี่ ใน วีดีโอคลิป
การแสดงออกของ เฮนรี่ คือ การขอโทษในฐานะผู้นำที่มีมุมมองทางด้านธุรกิจ จนลืมความเป็นมาและความสำคัญของแฟนบอล แต่สิ่งสำคัญ คือ การที่เขากล้ายอมรับผิดทุกอย่างแบบไม่ได้มีท่าทีการไว้ฟอร์ม หรือแก้ตัวอะไรเลยภายในวีดีโอแถลงการณ์นั้น สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการยอมรับผิด คือ การยืนยันว่าจะแก้ไขทุกเรื่องให้ถูกต้องที่สุด
เขาไม่ได้ขอโทษแฟนบอลที่เลือกตัดสินใจเขาร่วมเป็นสมาชิก ซูเปอร์ลีก แต่สิ่งที่ เฮนรี่ กล่าวขอโทษคือความรู้สึกผิดที่ทำให้แฟนบอลต้องเสียใจและผิดหวัง เพราะที่สุดเเล้วมันทำให้เขารู้ดีว่า ธุรกิจฟุตบอลจะต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กับแฟน ๆ ที่คอยหนุนหลัง และให้การสนับสนุนตลอดมานั่นเอง
รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความรับผิดชอบ และมีการสื่อสารที่ดี 3 ข้อนี้คือสิ่งที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ แสดงออกมาซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ช่วยลดความเดือดดาลของแฟน ๆ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
5. โจเอล เกลเซอร์
หนึ่งในพี่น้องเกลเซอร์ ตระกูลเศรษฐีจากอเมริกา เป็นตัวแทนแต่เพียง 1 เดียวที่ออกมาขอโทษและร่อนแถลงการณ์ต่อแฟน ๆ ของ แมนฯ ยูไนเต็ด หนึ่งในสโมสรที่ขนบธรรมเนียมมายาวนานมากที่สุดในทีมหนึ่งบนเกาะอังกฤษ
แฟนบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด ถือว่าเป็นแฟนบอลที่พร้อมเอาตายกับบอร์ดบริหารชุดนี้อยู่แล้ว พวกเขาอยู่ตรงข้ามกับตระกูลเกลเซอร์ รวมถึง เอ็ด วู้ดเวิร์ด มาโดยตลอด และแน่นอนว่าทางกลุ่มผู้บริหารก็น่าจะทราบถึงกระแสดังกล่าวเป็นอย่างดี ดังนั้นการที่พวกเขาทำผิดในครั้งนี้ จะให้กล่าวขอโทษกับแฟน ๆ อย่างเดียวคงไม่พอแน่นอน
แรกเริ่มเดิมที หลังจากเข้าโดนกระแสแฟนบอลซัดเข้าเต็มเปา สโมสรกลับแสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ขอโทษ” ด้วยข้อความสั้น ๆ จนแทนที่จะได้รับความเห็นใจกลับกลายเป็นการสร้างความเดือดดาลยิ่งกว่าเดิม เพราะคำขอโทษประโยคนั้นมีเพียงว่า
“เราขอปฎิเสธการเข้าร่วม ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก และพร้อมจะแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพื่อความท้าทายในระยะยาว”
ทั้งแถลงการณ์ชุดแรกจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีเพียงเท่านั้น และไม่ได้เป็นการขอโทษในฐานะผู้นำของตระกูลเกลเซอร์ด้วย
แฟนบอล ยูไนเต็ด ต้องการใครสักคนมารับผิดชอบ และคนคนนั้นคือ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ซีอีโอของสโมสร ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการเข้าร่วมสมาชิกซูเปอร์ลีก โดย วู้ดเวิร์ด นั้นได้ประกาศลาออกทันที หลังจากกระแสต่อต้านรุนแรงและหนักหน่วง โดยเขาจะทำหน้าที่จนหมดปี 2021 และลาออกจากทีมอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามวลี “Love United, Hate Glazer” ก็หนักข้อ แฟนบอลทุกคนรู้ดีว่า วู้ดเวิร์ด อาจจะสมควรรับผิดชอบ แต่คนที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจแบบ “นักธุรกิจ” ของตระกูลเกลเซอร์ ก็สมควรจะต้องมีคนรับผิดชอบมากกว่านี้ นั่นทำให้ โจเอล เกลเซอร์ ต้องออกหน้ารับเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เป็นการร่อนจดหมายปิดผนึก แตกต่างกับที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ ทำ (พูดผ่านวีดีโอด้วยตัวเอง)
“ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เราทั้งหมดได้เห็นถึงความคลั่งไคล้ที่ขับเคลื่อนวงการฟุตบอล ซึ่งแฟนบอลของเราได้แสดงออกถึงความรักที่มีต่อสโมสรแห่งนี้ พวกคุณทำให้เห็นจุดยืนอย่างชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามกับ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก และเราก็ได้รับฟังเรื่องนี้ …เราทำพลาดไปแล้ว และเราก็อยากแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราล้มเหลวที่ยังแสดงออกถึงความเคารพต่อวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกของสโมสรแห่งนี้ไม่เพียงพอ”
“ในการหาหนทางสร้างองค์กรให้มีความยั่งยืนกว่านี้ เราล้มเหลวในการแสดงความเคารพต่อประเพณีรากเหง้า, การเลื่อนชั้น, ตกชั้น, พีระมิด ในเรื่องดังกล่าวพวกเราขอโทษ”
“นี่คือสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เราขอโทษที่ได้ร่วมก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา”
“มันเป็นสิ่งสำคัญ ในการกลับมาทำให้มันถูกต้อง”
“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีมรดกอันล้ำค่ำ เราตระหนักถึงความรับผิดชอบในการแบกรับประเพณีและค่านิยมที่ยิ่งใหญ่
“โรคระบาดได้ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่เข้ามาและเราภูมิใจในหนทางของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแฟนบอลจากแมนเชสเตอร์ และรอบโลกกับการตอบโต้ต่อความกดดันครั้งใหญ่ในเวลานี้”
“เรายังพบว่าเราต้องทำการสื่อสารกับคุณให้ดียิ่งขึ้น แฟนบอลของเรา เพราะคุณจะเป็นหัวใจหลักของสโมสรเสมอไป”
“ในฉากหลัง คุณแน่ใจได้เลยว่าจะมีขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นต่าง ๆ ด้วยมุมมองในการทำงานร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว” เขาว่าเช่นนั้น
ความผิดพลาดนี้อาจจะลืมยากสักหน่อย เพราะความสัมพันธ์เดิมทีก็ไม่ได้เป็นไปทิศทางแง่บวกสักเท่าไหร่ และแถลงการณ์ของ เกลเซอร์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของแฟน ๆ ที่มีต่อเขานัก หนำซ้ำกระแส #GlazerOut ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างร้อนแรงในเครือค่ายโซเชี่ยลมีเดีย
อย่างไรก็ตามจดหมายปิดผนึกของเขาอย่างน้อยๆก็แสดงถึงความเป็นผู้นำที่ดีขึ้นมาบ้างในแง่วาทะกรรม เขายืนยันว่าจะผลักดันทีมไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่น่าเสียดายที่เขารับผิดชอบกับเรื่องนี้น้อยเกินไป เพราะหลักของการเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุดหนึ่งข้อ คือ “ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นจริงได้”
ซึ่งตอนนี้แฟนบอลยังมองในทิศทางตรงกันข้ามกับเขา สิ่งที่ยืนยันได้คือในทุก ๆ ปี สโมสรยังคงมียอดรายรับเข้ามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเสมอ แต่ ยูไนเต็ด กลับเป็นทีมที่มีสัดส่วนหนี้สินของมูลค่าทีมทั้งหมดถึง 16% มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของทีมท็อป 10 มูลค่ามากที่สุดในโลกนั่นเอง
หนำซ้ำ อัฟราม เกลเซอร์ หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ยังทำให้แฟนเดือดส่งท้าย… ด้วยการด้วยการบอกกับสื่อว่า “ไม่มีอะไรจะพูด” หลังโดนถามว่า เขาจะขอโทษแฟนบอลหรือไม่ที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ซูปอร์ลีก?
หากจะวิเคราะห์ว่า เกลเซอร์ เป็นผู้นำประเภทไหนเราก็คงต้องบอกว่า กล้าตัดสินใจ และกล้าเปลี่ยนแปลง แต่ข้อเสียคือเขาไม่ได้มีผู้ตามที่ดี และไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ตามได้เท่าไรนัก … แม้กระทั่งการขอโทษ ยังเริ่มต้นด้วยการแถลงการณ์ขอโทษที่ดูไม่จริงใจ นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี
6. วินัย เวนเกตชาม
ชื่อของ วินัย เวนเกตชาม นั้นอาจจะไม่คุ้นชื่อแฟนบอลมากมายนัก เพราะเขาเพิ่งก้าวเข้ามาเป็นประธานบริหารของสโมสร อาร์เซน่อล จากการแต่งตั้งของ สแตน โครเอนเก้ เจ้าของทีมชาวอเมริกันได้ไม่นานนี้เอง
อย่างไรก็ตามหลังจากการเข้ามาของ วินัย การแสดงออกและท่าทีของเขาดูเหมือนจะเป็นไม้กันหมาเสียมากกว่า เพราะแฟนบอล อาร์เซน่อล เรียกได้ว่า “100 ทั้ง 100” เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้นำอย่าง โครเอนเก้ คือคนที่ทำให้สโมสรตกต่ำในทุกวันนี้
การตัดสินใจเข้าร่วมสมาชิก ซูเปอร์ลีก ของ อาร์เซน่อล นั้นไม่ใช่อะไรเซอร์ไพรส์ การที่พวกเขาการันตีรายได้ทุกฤดูกาล โดยไม่ต้องเดือดร้อนแย่งโควต้าท็อป 4 ในพรีเมียร์ลีก เป็นใครจะไม่เอา? แต่สุดท้ายการกระโดดเข้าหาผลประโยชน์โดยไม่สนใจแฟนบอลคือเหตุผลที่ทำให้ โครเอนเก้ หมดความชอบธรรม 100% ในสายตาของแฟน ๆ อาร์เซน่อล
เขาบริหารทีมได้แย่ ไม่มีงบประมาณในการพัฒนาทีม และไร้ปฎิสัมพันธ์กับท้องถิ่น แค่นี้ก็แย่พอแล้ว แต่การเข้าร่วมโดยการไม่เห็นหัวแฟนบอล เป็นเหมือนการเอาน้ำมันราดกองไฟเสียมากกว่า ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้กลุ่มผู้บริหารของ อาร์เซน่อล สอบตกที่สุดภายในบรรดาผู้นำของทั้ง 12 สโมสรที่เข้าร่วมโปรเจกต์ซูเปอร์ลีกครั้งนี้
แม้กระทั่งการออกมาขอโทษแฟนบอลโครเอนเก้ ก็ยังไม่ออกหน้ารับผิดเอง เขาให้ วินัย เป็นคนจัดการตั้งแต่แถลงการณ์ขอโทษแฟนบอล โค้ช และนักเตะในทีม ซึ่งที่สุดเเล้วใคร ๆ ก็รู้ว่านั่นไม่มากพอเท่าที่แฟนบอลต้องการ และเป็นเหตุผลที่ว่าแฟนบอลของ อาร์เซน่อล ยังคงเดือดดาลถึงขีดสุดในตอนนี้ … ไม่ว่าผู้นำอย่าง โครเอนเก้ หรือแม้แต่หุ่นเชิดอย่าง วินัย จะพูดดีแค่ไหน ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทันเเล้ว ณ เวลานี้
7. เเดเนี่ยล เลวี่
สเปอร์ส เป็นทีมที่ลงทุนไปมากมายกับการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่เปิดให้ใช้เมื่อ 2 ปีก่อน และการเข้ามาของโควิดทำให้ทุกอย่างผิดพลาดไปหมด ทีมขาดรายรับจากยอดตั๋วผู้ชม หนำซ้ำเพดานค่าเหนื่อยนักเตะในทีมก็สูงขึ้น และการไปเล่นฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ ก็เป็นเรื่องหนักหนาที่พวกเขาต้องฝ่าฟันในทุก ๆ อย่างไป ทั้งหมดนี้มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึง “เอาด้วย” กับ โปรเจกต์ ซูเปอร์ลีกครั้งนี้
แน่นอนเมื่อสโมสรประกาศการเข้าร่วม เสียงตอบรับของแฟน ๆ สเปอร์ส นั้นไม่ต่างกับทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีกที่ไม่เห็นด้วย และออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้สโมสรเห็นความสำคัญของแฟน ๆ ซึ่ง แดเนี่ยล เลวี ประธานสโมสรตอบสนองกลับอย่างรวดเร็ว เขาคือคนที่แถลงการณ์ขอโทษเป็นคนแรก ๆ ในบรรดาของกลุ่มสมาชิกเลยก็ว่าได้
“เราเสียใจอย่างยิ่งที่สร้างความกังวลและความไม่พอใจที่เป็นเหตุมาจากการก่อตั้งลีก ESL เรารู้สึกว่าการเข้าร่วมลีกนี้ของสโมสรจะเป็นการรับประกันความมั่นคงของการเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างใหม่ให้กับสโมสร และหวังที่จะเพิ่มฐานแฟนบอลให้มากขึ้นกว่าเดิม” นี่คือสิ่งที่ เลวี่ ว่าไว้
เลวี่ แสดงออกแบบเสียไม่ได้ ทีมของเขามีรายจ่ายมากเกินกว่ารายรับหลายเท่า และสเปอร์สเป็นทีมที่มีสัดส่วนหนี้มากที่สุดในบรรดาท็อป 10 สโมสรที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ดังนั้นแม้เขาจะขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ยอมรับว่า ซูเปอร์ลีก คือทางรอดที่จะทำให้สโมสรแห่งนี้เติบโตขึ้น มีรายรับมากขึ้น และมีแฟนบอลมากขึ้นด้วย
แฟน ๆ ของ สเปอร์ส อาจจะโกรธแค้น เลวี่ สำหรับการปฎิบัติที่ข้ามหัวผู้สนับสนุนอย่างแฟน ๆ ท้องถิ่น แต่ที่เเน่ ๆ การต่อต้าน เลวี่ นั้นไม่รุนแรงเท่าที่ โครเอนเก้ ได้รับจากแฟนๆ อาร์เซน่อล หรือ เกลเซอร์ ได้รับจากแฟน ๆ ยูไนเต็ด แน่นอน
ในแง่ของความเป็นผู้นำ เลวี่ ถือว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือการนำทีมไปทาบทามความยิ่งใหญ่ของสโมสรระดับบิ๊กในยุโรปให้ได้
อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิดนั้นสวนทางกับการลงทุนของไก่เดือยทอง นั่นคือความผิดพลาดที่เขาต้องรับผิดชอบ … ซึ่งในแง่ของการรับผิดชอบนั้น แม้เขาจะไม่พูดขอโทษเต็มปากมากนัก แต่เมสเซจที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำแถลงการณ์ คือ การเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีขึ้นในไม่ช้า และ สเปอร์ส กำลังเฝ้ารอการยกระดับสโมสรอย่างใจจดใจจ่อ
แม้ว่าแฟนบอลจะไม่เห็นด้วย แต่เชื่อเถอะว่าถึงเวลาที่ทุกอย่างพร้อม เลวี่ จะกล้าเปลี่ยนแปลงแน่นอนด้วยสถานการณ์รายล้อมที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้