ทำไม “โควิด-19” ทำสุขภาพจิตเด็ก-วัยรุ่นไทยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

Home » ทำไม “โควิด-19” ทำสุขภาพจิตเด็ก-วัยรุ่นไทยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
ทำไม “โควิด-19” ทำสุขภาพจิตเด็ก-วัยรุ่นไทยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

องค์การยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต แสดงความห่วงใยต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย หลังจากที่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้วัยรุ่นจำนวนมากต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง

ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง, ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คนที่เข้ามาประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตในช่วง  18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 

การสำรวจโดยยูนิเซฟเมื่อปีที่แล้วยังพบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 7 ใน 10 คนมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษาและการจ้างงานในอนาคต

นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ  และเราเชื่อว่านี่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แม้ว่าผลกระทบด้านสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนจะเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กในระยะยาว แต่ประเด็นสุขภาพจิตมักถูกละเลย หรือถูกมองข้าม หรือแม้กระทั่งถูกปกปิดไว้ เนื่องจากสุขภาพจิตยังเป็นเรื่องที่ถูกตีตราหรือเรื่องน่าอาย แต่ในความเป็นจริงเรื่องของสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลใส่ใจอย่างจริงจัง และถูกหยิบยกมาพูดถึงให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตได้รับการสนับสนุนและเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้สะดวกขึ้นและรวดเร็วขึ้น” 

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ยูนิเซฟได้เผยแพร่รายงาน The State of the World’s Children 2021; On My Mind: promoting, protecting and caring for children’s mental health ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กอย่างน้อย 1 ใน 7 คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่เด็กอีกมากกว่า 1,600 ล้านคนต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง รายงานฉบับดังกล่าวยังเตือนว่าเด็กและเยาวชนอาจจะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ต่อไปอีกหลายปี

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ที่จริงแล้วแม้แต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดเด็กและเยาวชนเหล่านี้ต่างต้องแบกภาระทางสุขภาพจิตที่แทบไม่เคยถูกกล่าวถึง จากการประเมินพบว่า เด็กอายุ 10-19 ปี กว่า 1 ใน 7 คนทั่วโลกมีความป่วยทางจิตที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และวัยรุ่นเกือบ 46,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในวัยรุ่น

ในประเทศไทย การฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของวัยรุ่น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเด็กและเยาวชนอายุ 10-29 ปี ราว 800 คนฆ่าตัวตายสำเร็จในพ.ศ. 2562  ในขณะที่ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมสุขภาพจิต ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีกว่า 10,000 คน ได้โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา โดยปัญหาสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นที่พบมากที่สุด คือ ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเด็กและวัยรุ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ได้จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการได้หลายด้าน ทั้งผลกระทบที่มีต่อผู้ปกครองและครอบครัวก็ทำให้การเลี้ยงดูทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่สามารถใช้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กได้เพียงพอ ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากการเจ็บป่วย การเว้นระยะห่างทางสังคม การงดกิจกรรมนอกบ้าน และการสวมหน้ากากอนามัย 

“สำหรับในเด็กวัยรุ่นนั้น พบว่ามีความเครียดสูงมากขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางรายอีกด้วย ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะติดตามเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน รวมไปถึงยูนิเซฟที่ร่วมกันช่วยดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างดีเสมอมา”

การขาดความรู้และความตระหนักในสุขภาพจิต ประกอบกับการตีตราและการขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพจิตส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากพลาดโอกาสที่จะได้รับการส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดีหรือได้รับการช่วยเหลือเมื่อเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิต จากฐานข้อมูลของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นให้บริการในหน่วยงานของรัฐเพียงประมาณ 200 คน เท่านั้นเมื่อเทียบกับประชากรวัยรุ่น 15 ล้านคน

องค์การยูนิเซฟ และ กรมสุขภาพจิต ได้เร่งทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการและการช่วยเหลือที่มีคุณภาพและทันท่วงทีสำหรับเด็กและวัยรุ่น และมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติเชิงลบต่อปัญหาสุขภาพจิตผ่านการพูดคุย การลดการตีตรา และการสร้างเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตให้แก่เด็ก วัยรุ่น รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมโดยรวม

ในพ.ศ. 2563 ยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต และ JOOX ได้ออกแคมเปญ “The Sound of Happiness” หรือ “ฟัง x เล่า = ความสุข” เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นมีทักษะในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่กระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา  ผ่านพอดแคสต์และเพลง โครงการนี้ยังมุ่งลดทัศนคติเชิงลบในสังคมที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิต และส่งเสริมให้เยาวชนกล้าเปิดอกพูดถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่พวกเขาไว้ใจ

นางคิมกล่าวเสริมว่า “ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต ภาคการศึกษา และภาคีต่างๆ ของเรา เพื่อให้เด็กและวัยรุ่นได้เติบโตและเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เปี่ยมไปด้วยความรัก และเอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี และเมื่อใดก็ตามที่เด็กๆ ต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญ เราต้องสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตที่มีคุณภาพ เป็นมิตร และทันท่วงที”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ