ทำไม 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” ระหว่างรอวัคซีนโควิด-19

Home » ทำไม 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” ระหว่างรอวัคซีนโควิด-19
ทำไม 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีน “ไข้หวัดใหญ่” ระหว่างรอวัคซีนโควิด-19

แพทย์ย้ำวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญโดยเฉพาะยุคโควิด-19 พร้อมเผยผลการศึกษาชี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง พบอัตราการติดเชื้อใหม่ และอัตราการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ยิ่งสร้างความกังวลให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มักพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่แพร่กระจายสู่คนทั่วไปได้เช่นเดียวกับโควิด-19 และหากติดเชื้อร่วมกัน (Co-infection) จากทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะทำให้มีอาการรุนแรง และยิ่งเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

ไข้หวัดใหญ่ อันตรายถึงชีวิตได้

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่าในทุกๆ ปี จะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 500-1,000 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก ประมาณ 3-5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 290,000-650,000 คนต่อปี ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคไม่รุนแรง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง นอกจากนี้ ยังพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดการป่วย ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ลง รวมไปถึงลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและการเข้ารับการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันได้

ขณะที่ช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามฉีดปูพรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากยิ่งขึ้น เพื่อตัดศัตรูออกไปด้านหนึ่ง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ววัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่เชื่อว่าน่าจะมีการกระตุ้นทางอ้อมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ได้ช่วยรักษาบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นทรัพยากรสำคัญในภาวะวิกฤต อย่างน้อยก็ช่วยลดภาระจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ลง เพื่อจะได้รับมือกับโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง 

ขณะเดียวกัน ตัวผู้ป่วยเองก็ลดความสับสนและความวิตกกังวลจากอาการที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงยังลดการเกิดโรคร่วมกัน (Co-infection) จากทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาวิจัยในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2021 ของการระบาดโควิด-19 ที่สนับสนุนคุณค่าของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไว้อย่างน่าสนใจมากมาย ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกามีผลวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 22 มกราคม – 10 มิถุนายน 2020 (อ้างอิงจากข้อมูลเผยแพร่โดย US National Library of Medicine – National Institutes of Health) พบว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมมากขึ้นทุกๆ 10% จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึง 28%

ในขณะที่ประเทศบราซิลมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อัตราความรุนแรงของโควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศบราซิล (อ้างอิงจากบทความ BMJ Evidence-Based Medicine ฉบับเดือนสิงหาคม 2021) เป็นการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 50,000 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2021 โดยศึกษาเปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลปรากฏว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโควิด-19 จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ช่วยลดอัตราของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 17% และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 16% ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ยังจำเป็น ในช่วงโควิด-19 ระบาด

ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีอัตราการเกิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลงทั่วโลก อาจเกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย การกักตัวอยู่บ้าน และการสร้างระยะห่างทางสังคม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มักมีคำถามว่ายังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่ คำตอบคือ มีความจำเป็นอย่างมาก 

โดยมีผลการศึกษาต่างๆ มากมายที่บ่งชี้ว่า “วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19” และหากกรณีที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และมีอาการก็จะต้องไปตรวจรักษาเหมือนผู้ป่วยโควิด-19 เพราะอาการที่แสดงเบื้องต้นจะไม่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้น ทั้งการติดเชื้อโควิดและเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้มีการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น นอนโรงพยาบาลนานมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น

ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อไร?

ปัจจุบัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ได้แนะนำระยะเวลาของการฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนอื่นๆ ในวันเวลาเดียวกันได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรห่างจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ เป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีนทั้งสองที่อาจจะซ้อนกัน 

โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มเติมบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและโรงเรียนในทุกช่วงอายุโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งนับเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดี ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาดภายในประเทศไทย โดยมีแนวทางปฎิบัติในการเข้ารับวัคซีน 3 แบบ คือ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อน ฉีดวัคซีนโควิด-19, ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง ฉีดวัคซีนโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม แพทย์ขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ โดยวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้ทั้ง 2 สายพันธุ์ กล่าวคือครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata จึงเพิ่มความสามารถในการครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น ที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความรุนแรงของโควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้อีกด้วย

118619

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ