“เศร้า” กับ “ซึมเศร้า” แตกต่างกันตรงที่ อาการเศร้า เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่สามารถหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เมื่อสมอง และจิตใจยอมรับ และเข้าใจในสิ่งที่เกิดได้ ความรู้สึกเศร้าก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่หากเป็น “โรคซึมเศร้า” มันไม่ใช่เพียงความเศร้าชั่วคราว นานวันเข้าอาจกระทบกระเทือนชีวิตการทำงานจนอาจต้องจากโลกก่อนวัยอันควรได้
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัยมาก โดยภาพรวมก็เป็นปัจจัยทางด้านจิตใจ การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่ทำให้ตัวเองมีแนวโน้มที่จะมองตัวเองในทางลบ วัยเด็กอาจจะถูกทอดทิ้ง หรือว่าใช้ความรุนแรง หรือว่ามีความห่างเหินทางด้านจิตใจระหว่างผู้ป่วยกับพ่อแม่ หรือมีการเลี้ยงดูที่ไม่ค่อยถูกต้องต่าง ๆ ไม่ค่อยได้เสริมให้เด็กมีกำลังใจหรือว่าเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือว่าอาจจะมีความเครียดต่อเนื่องกันมานาน ๆ สุดท้ายแล้ว ประสบการณ์ที่เขาเติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นจากการเลี้ยงดู หรือว่าปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดความเครียดต่าง ๆ มันก็มีผลต่อการทำงานของสมองที่ควบคุมเรื่องของอารมณ์
โรคซึมเศร้า ต้องรีบพบแพทย์
มีหลายคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า กว่าจะถึงมือแพทย์ได้ก็ตอนที่พยายามจะทำร้ายตัวเอง คนที่โชคดีอาจจะทำร้ายตัวเองไม่สำเร็จแล้วรอดชีวิตมาได้ จนได้เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้ากับจิตแพทย์
แต่จะรอจนกว่าจะถึงวันที่ลงมือทำร้ายตัวเองก็ดูจะสายเกินไป ปัจจุบันมีแบบทดสอบที่จะคัดกรองประเมินตัวเอง (คลิกที่นี่) หากเราประเมินตัวเองแล้วรู้สึกว่าอารมณ์ของเราเปลี่ยนไปจากเดิม มันมีผลกระทบต่อชีวิตของเราเยอะ จากที่เราเคยมีความสุขในการที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือทำงานตามหน้าที่ได้ตามปกติ มันเริ่มท้อถอยไป แล้วก็รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ไม่มีความสุข อาจจะคิดลบต่าง ๆ หรือมีอาการนอนไม่หลับ ความคิดความจำลดลงนั้น ก็ควรจะมาพบแพทย์ได้แล้ว ไม่ต้องรอให้อาการเยอะจนกระทั่งความคิดด้านลบมันอยู่เป็นเวลานาน หรือจนกระทั่งคิดจะทำร้ายตัวเอง
รักษาโรคซึมเศร้าด้วยการกินยา และผลข้างเคียง
รศ.นพ.ศิริไชย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การรักษาด้วยยาทางจิตเวชที่รักษาโรคซึมเศร้า จะไม่ใช่ยาที่รับประทานแล้วจะดีขึ้นมาในวันสองวัน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปถึงจะดีขึ้น
หากถามว่ามีผลข้างเคียงอย่างไร โดยทั่วไป ถ้าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นเก่า ๆ ก็จะมีผลข้างเคียงเยอะตั้งแต่ปากแห้ง ท้องผูก ใจสั่น แต่ยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นหลัง ๆ ผลข้างเคียงต่าง ๆ จะน้อยกว่ายารุ่นก่อน แต่ก็จะยังมีอยู่ เช่น อาจจะมีความรู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอม บางคนก็จะเวียนหัว อาจจะมีใจสั่นมือสั่นบ้าง แต่โดยทั่วไป ผลข้างเคียงมันก็จะค่อย ๆ ลดลงเหมือนเราทนกับยาได้มากขึ้น
ถ้าหมอไม่ได้อธิบายไว้ก่อน ผู้ป่วยก็จะไม่ค่อยอยากกินยาเพราะว่าการกินยาช่วงแรก ผลของมันจะยังไม่เห็น แต่ว่าผลข้างเคียงจะมาก่อน เพราะฉะนั้นผู้ป่วยก็จะต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ช่วงแรกอาจจะต้องทนกับผลข้างเคียงนิดนึง แล้วมันก็จะลดลง ส่วนเรื่องอารมณ์มันจะใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ที่จะเริ่มเห็นผลได้ชัดเจน
การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการบำบัดจิตใจ
การรักษาโรคซึมเศร้าต้องมีการบำบัดทางด้านจิตใจร่วมด้วย และยารักษาโรคซึมเศร้าตัวหนึ่ง ไม่ใช่ได้ผลกับทุกคน บางคนก็อาจจะ ได้ผลดีกับตัวนี้ บางคนก็อาจจะได้ผลดีกับอีกตัว เพราะฉะนั้น เวลาเริ่ม รักษา ถ้ารักษาไประยะหนึ่ง เช่น 4 สัปดาห์ หรือ 6 สัปดาห์ แล้วดูอาการยังไม่ค่อยดีขึ้น หมอก็อาจจะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย แต่ละคน
ระหว่างรักษาโรคซึมเศร้า ต้องพยายามใช้ชีวิตให้ปกติ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรพยายามทำกิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด พบปะเจอะเจอผู้คน ทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วก็อาจจะต้องใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีทั่ว ๆ ไป เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนัง เป็นต้น ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจให้ได้มากที่สุด หรืออาจเลือกทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น ลงเรียนคอร์สที่สนใจ ช่วยเหลือหมาแมวจรจัด ทำบุญเลี้ยงอาหารเด็ก ดูแลคนชรา ฯลฯ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีในทางที่เป็นประโยชน์ จะช่วยให้เห็นคุณค่าของตัวเองมากยิ่งขึ้น