ทารกวันเพียง 52 วัน ป่วยขั้นวิกฤต จากสิ่งที่ยายคิดว่าเป็นยาดี แต่ไม่ต่างจาก "ยาพิษ"

Home » ทารกวันเพียง 52 วัน ป่วยขั้นวิกฤต จากสิ่งที่ยายคิดว่าเป็นยาดี แต่ไม่ต่างจาก "ยาพิษ"
ทารกวันเพียง 52 วัน ป่วยขั้นวิกฤต จากสิ่งที่ยายคิดว่าเป็นยาดี แต่ไม่ต่างจาก "ยาพิษ"

ทารกวัยเพียง 52 วัน ป่วยหนักขั้นวิกฤต หลังยายให้ดื่ม “น้ำผึ้ง” แก้ไอบำรุงปอด ความหวังดีและความรักต่อหลาน กลายเป็นทำร้ายทางอ้อม

เมื่อไม่นานมานี้ ที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เกิดเหตุสะเทือนใจขึ้น เมื่อทารกหญิงวัยเพียง 52 วัน ได้รับพิษโบทูลินัมจนต้องเข้ารักษาตัวในอาการวิกฤต ต้นเหตุมาจากความเชื่อในวิธีการรักษาแบบดั้งเดิม ยายให้เด็กดื่มน้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการไอและบำรุงปอด ทว่ากลับกลายเป็น “ยาพิษ” สำหรับร่างกายบอบบางของทารกแทน

นายหยวน กวงเฟิง รองผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอาหารและสุขภาพ Kexin ประเทศจีน เปิดเผยว่า กรณีเด็กเล็กได้รับอันตรายจากการบริโภคน้ำผึ้งนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 ทารกวัย 6 เดือนในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เสียชีวิตจากพิษโบทูลินัมหลังรับประทานอาหารที่มีน้ำผึ้งผสม หรือย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1970 สหรัฐอเมริกาพบผู้เสียชีวิตรายแรกจากเชื้อ Clostridium botulinum ในทารกที่บริโภคน้ำผึ้ง

เหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านี้ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกออกคำเตือน “ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีบริโภคน้ำผึ้งในทุกรูปแบบ”

ทำไมน้ำผึ้งอาจทำให้เกิดพิษโบทูลินัม และอันตรายแค่ไหน?

น้ำผึ้งถูกยกให้เป็นอาหารที่อุดมด้วยสารอาหาร มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอ ช่วยให้ชุ่มคอ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม มีน้อยคนที่รู้ว่า ในน้ำผึ้งอาจมีสปอร์ของแบคทีเรีย Clostridium botulinum ซึ่งเป็นต้นเหตุของพิษโบทูลินัม

นายหยวน กวงเฟิง อธิบายว่า สปอร์ของแบคทีเรียชนิดนี้ทนความร้อนสูง และไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยการต้มตามปกติ หากเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์เหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและปล่อยสารพิษโบทูลินัม ซึ่งเป็นหนึ่งในสารพิษต่อระบบประสาทที่ร้ายแรงที่สุดในโลก สารพิษนี้จะขัดขวางการส่งสัญญาณประสาท ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจลำบาก และหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาจถึงแก่ชีวิต

ROMAN ODINTSOV

ทำไมน้ำผึ้งอันตรายต่อทารก แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ใหญ่?

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ระบบย่อยอาหารของทารกอายุต่ำกว่า 1 ปียังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และยังไม่มีแบคทีเรียชนิดดีเพียงพอที่จะยับยั้งการเจริญเติบโตของ Clostridium botulinum ทำให้ทารกมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อและเกิดพิษจากน้ำผึ้ง ในขณะที่ผู้ใหญ่และเด็กโตมีระบบทางเดินอาหารที่แข็งแรงพอจะต้านทานแบคทีเรียชนิดนี้

อาการของพิษโบทูลินัมในระยะแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ จากนั้นอาจมี สายตามัว หนังตาตก กลืนลำบาก เสียงแหบ หากรุนแรงขึ้น อาจทำให้ กล้ามเนื้อระบบหายใจเป็นอัมพาต และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยอัตราการเสียชีวิตจากพิษนี้อยู่ที่ 20 – 40%

การรักษาจำเป็นต้องใช้เซรุ่มต้านพิษโดยเฉพาะ ซึ่งหายากและประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการวินิจฉัยและรักษา

จะป้องกันทารกจากความเสี่ยงต่อพิษโบทูลินัมได้อย่างไร?

เพื่อป้องกันพิษโบทูลินัม โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ปกครองและผู้ดูแลควรระมัดระวังสิ่งต่อไปนี้:

  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีรับประทานน้ำผึ้ง ในทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และหลายองค์กรทางการแพทย์ทั่วโลก
  • ระมัดระวังอาหารหมักหรือทำเองที่บ้าน โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ ไข่ ปลาเค็ม ไส้กรอก เพราะอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสปอร์ Clostridium botulinum

  • ปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน เพราะสารพิษโบทูลินัมสามารถถูกทำลายได้เมื่อปรุงที่อุณหภูมิ 100°C เป็นเวลา 10 นาที

  • ดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในถุงสุญญากาศหรืออาหารที่ไม่ทราบแหล่งที่มา

จากเหตุการณ์สะเทือนใจนี้ นายหยวน กวงเฟิง ยังเตือนผู้ปกครองว่า ไม่ใช่อาหารทุกชนิดจะเหมาะสมกับเด็ก แม้จะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใหญ่ การมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะช่วยปกป้องเด็กจากอันตรายที่แอบแฝงในชีวิตประจำวันได้ดีที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ