ทางออกรัฐบาลปม‘ม็อบจะนะ’

Home » ทางออกรัฐบาลปม‘ม็อบจะนะ’


ทางออกรัฐบาลปม‘ม็อบจะนะ’

ทางออกรัฐบาลปม‘ม็อบจะนะ’

นักวิชาการ ได้สะท้อนมุมมองต่อกรณีตำรวจควบคุมฝูงชน(คฝ.) สลายการชุมนุมกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. หลังจากมาปักหลักทวงคำสัญญาจากรัฐบาลที่เคยให้ไว้ในการยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ตามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) เมื่อ 15 ธ.ค. 63 รวมถึงแนะทางออกต่อปัญหายืดเยื้อมานานหลายปี ผอ.โรงพยาบาลจะนะ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ผอ.โรงพยาบาลจะนะ

ตัวโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา มีขนาด 2 หมื่นไร่ ซึ่งชาวบ้านประท้วงมา 2-3 ปีแล้ว และปีที่แล้วชาวบ้านก็มาประท้วงที่กรุงเทพฯ โดยไปทำข้อตกลงกับรัฐบาล คือ ยุติการแก้ไขผังเมือง ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นนิคมอุตสาหกรรม กับการศึกษาเอสอีเอ โดยให้มาศึกษากับสภาพพื้นที่จะนะ ควรหรือไม่ควรมีนิคมอุตสาหกรรม

ข้อตกลงนี้ เป็นการทำเอ็มโอยูโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น และนำเข้าครม. ซึ่งครม.ก็รับทราบให้ไปศึกษาข้อตกลงก็ดำเนินการไปได้

แต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ศอ.บต.เข้ามาให้ยุติโครงการ และอาจจะต้องไปนับหนึ่งใหม่ อ้างว่าการทำเอสอีเอไม่ได้รับการตอบสนองให้มีกระบวนการศึกษาศักยภาพในพื้นที่จะนะ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าโดนเบี่ยงประเด็น เลยขึ้นมาทวงสัญญาจากรัฐบาล แต่ไม่คิดว่าไปทวงสัญญาได้ 3 ชั่วโมงก็โดนสลาย โดนจับ แต่เมื่อถูกปล่อยมา ชาวบ้านก็ไม่กลับยังปักหลักกันอยู่ที่หน้ายูเอ็น

ผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการ ข้อเสียคือเมื่อมีการสร้างนิคม ต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เหมือนแม่เมาะ มีท่าเรือที่ต้องขุดทะเลลึกเพื่อให้เรือเข้าได้ ทำให้ทะเลเสียหายมาก และบนบกกลายเป็นพื้นคอนกรีต 2 หมื่นไร่ใน 3 ตำบล โดยต.ตลิ่งชัน จะกลายเป็นนิคม บ้านของชาวบ้านยังอยู่ต่อ แต่อยู่ข้างกำแพงนิคม ซึ่งกระทบไปหมดและโดยรอบจะเต็มไปด้วยโรงงาน มีมลพิษเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การสร้างนิคมจะนะเป็นการพัฒนาที่ชาวบ้านเขารับไม่ได้ เพราะไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบ เหมือนการมัดมือชกกัน

ส่วนข้อดีก็มี คือทำให้บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด บริษัทเดียวที่มาลงทุน ทำให้หุ้นขึ้น มีเงินสะพัดช่วงผลักดันโครงการ มีการสร้างแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่คุ้มกับทรัพยากรและอาชีพเดิมที่เสียไป

ในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน มีการรับฟังเพียง 1 ครั้งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือเมื่อ 11 ก.ค. 63 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ซึ่งมีทหาร ตำรวจ ปิดกั้นไม่ให้คนค้านเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้ จึงมีแต่ฝ่ายที่หนุนและทราบว่าจะจัดรับฟังความคิดเห็นอีกเป็นครั้งที่ 2 วันที่ 13-16 ธ.ค. ซึ่งตอนแรกจะจัดเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่คงกลัวว่าจะมีปัญหา จึงเปลี่ยนมารับฟังแบบออนไลน์แทน ยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ

การสลายการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่หน้าทำเนียบ เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.นั้น ถือว่าไม่ปกติ เพราะต้องมีการเจรจาก่อน จะอ้างว่ากลัวการแพร่ระบาดของโควิด ก็ไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมาโควิดหนักกว่านี้ยังไม่มีการสลายการชุมนุมเลย แต่รอบนี้ชาวบ้านนั่ง 3 ชั่วโมงโดยไม่มีการเจรจา หรือ นายกฯ เห็นชาวบ้านก็ยิ่งหงุดหงิด เพราะมีปัญหาอยู่กับร.อ.ธรรมนัส จึงสั่งให้สลายการชุมนุม ถ้านายกฯ ไม่สั่ง แล้วใครจะกล้าทำ ตำรวจจะกล้าทำหรือ

ส่วนที่ดูเหมือนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ไม่เข้าใจผู้ชุมนุม ทั้งที่เป็นคนจะนะ เป็นเพราะนายนิพนธ์ยอมรับเองว่า เป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินของบริษัททีพีไอ ญาติก็ทำ และรู้เรื่องนี้ เขานินทากันทั้งจะนะ การที่ผู้ชุมนุมไปกดดันให้นายนิพนธ์ลาออกเพราะปฏิบัติตนไม่เหมาะต่อการเป็นรัฐบาลและเป็นคนจะนะ แทนที่จะช่วยกันปกป้องบ้านเกิด ปกป้องจะนะ กลับขายบ้านเกิด

ทางออกของเรื่องนี้คือ ต้องยึดมติครม.วันที่ 15 ธ.ค.63 ที่นายกฯ รับทราบการทำเอ็มโอยู ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเมื่อยุติแล้วก็มาหาคำตอบร่วมกันว่านิยามแบบไหนที่ชาวบ้านรับได้ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะค้านทั้งหมด และนายกฯ จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเข้าครม.แล้วไม่ใช่มติ เพราะเวลาแต่งตั้งปลัดกระทรวงต้องให้ครม.รับทราบ ถือเป็นมติแล้ว และเรื่องจะนะ จะไม่ใช่มติครม.ได้อย่างไร

จึงเห็นว่านายกฯ คงจะเพลีย เพราะอยู่นานเกินไป จนหมดความสามารถในการแก้ปัญหาของประเทศ

เกื้อ ฤทธิบูรณ์

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

สาเหตุที่การเรียกร้องคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะยังยืดเยื้อ ไม่ลงตัว เพราะทุกครั้งที่เปิดเวที ไม่ได้สร้างบรรยากาศการพูดคุยอย่างสบายใจและปลอดภัย อย่างเวทีใหญ่เมื่อ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้เห็นต่างถูกกีดกันอย่างชัดเจน และในเวทีมีกองพัน กองร้อย เหมือนภาครัฐมีธงไปนำ ไปคุยแบบมีคำตอบสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่ความหมายของการมีส่วนร่วม

พี่น้องที่ไปเปิดการพูดคุยที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่สาธารณะใหญ่ทำให้คนได้ยินมากขึ้น และเชื่อว่าผู้มีอำนาจได้ยินทุกอย่าง อยู่ที่ว่ารับฟังหรือไม่ แต่อย่างน้อยสังคมภาคใหญ่รับรู้ รับฟัง ดังนั้น ถ้าคนที่มีสามัญสำนึกก็น่าจะคิดได้แล้ว

ส่วนข้อดีข้อเสียหากเดินหน้าโครงการต่อไปนั้น ตอบแบบโจทย์ง่ายที่สุดคือ ยังไม่มีการศึกษาศักยภาพพื้นที่ แล้วจะมาบอกว่า ดีกว่า หรือไม่ดีกว่าในสิ่งที่เอาเข้ามา จึงเป็นคำตอบไม่ได้ หากดูพื้นฐานชาวบ้านซึ่งคือประมงและเกษตร ฉะนั้น อุตสาหกรรมใหญ่ใช่คำตอบของชาวประมงหรือเกษตรหรือไม่

โครงการพัฒนาเป็นเรื่องที่ดี แต่คำว่าดี ต้องสอดรับกับฐานทรัพยากร ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นอยู่ และศักยภาพของชุมชน คนและวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ จึงต้องมีการศึกษาในทางวิชาการกันจริงๆ

แต่ถ้าไม่มีโครงการนี้ดีแน่นอน เพราะคนที่ได้ศึกษามาแล้วคือ คนจะนะที่ศึกษามาทั้งชีวิตแล้ว เขาถึงออกมาบอก และที่ผ่านมา ชาวบ้านเรียกร้องโดยมีทางออก คือเขาไม่ได้ขอให้ยกเลิกแต่ให้หยุดไว้ก่อน หยุดกระบวนการคิดแบบนี้และคิดใหม่ โดยใช้กระบวนการใหม่

มองว่าชาวบ้านใจกว้างมาก และคนในพื้นที่เสียสละมาก ที่เหนื่อยต้องมาคัดค้าน เพราะเขามองว่าโครงการนิคมจะนะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่จะนะ และชาวบ้านเขาเห็นบทเรียนมาแล้วจากมาบตาพุด ซึ่งมีขนาดเท่าๆ กัน เห็นปัญหามากมายที่ไม่ได้รับการแก้ไข เขาถึงยอมไม่ได้

ท่าทีของรัฐบาล ทั้งนายกฯ และนายนิพนธ์ บุญญามณี ไม่ใช่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่เขาไม่เปิด ถ้าพูดกันตรงๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้อะไรเป็นสิ่งใหญ่กว่าทุกอย่างก็คือผลประโยชน์ เพราะเขามีที่ดินและเตรียมทุกอย่างไว้แล้ว กุมผลประโยชน์ตรงนั้นไว้แล้ว

ถ้ารัฐบาลยังไม่สนใจข้อมูล ไม่พัฒนาด้วยมูลฐานของปัญหาและไม่ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ถือว่าล้าหลังมาก เป็นแนวคิดการพัฒนาแบบเก่า ที่มุ่งเน้นพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยปู้ยี่ปู้ยำฐานทรัพยากร เห็นฐานทรัพยากรเป็นของฟรี ซึ่งหมดยุคแล้วและล้าหลัง ไม่มีอารยะ จึงอยากให้กรณีของจะนะมาปลุกให้รัฐคิด เหมือนที่ไปสัญญากับประชาคมโลกในทุกเรื่อง

การสลายชุมนุมเครือข่ายจะนะหน้าทำเนียบ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ถือว่าโหดร้ายและแสดงออกชัดเจนว่าไม่สนใจเสียงของประชาชน และประชาชนไม่อยู่ในสมการการพัฒนาของคุณ

ดังนั้น จะมาพูดไม่ได้ว่าการพัฒนาจะนะเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข เพราะถ้าเขาอยู่ดีมีสุขจะออกมานั่งถนนให้ร้อน ให้ถูกจับทำไม

สำหรับทางออกของเรื่องนี้ มองว่าภาควิชาการควรออกมาพูด เพื่อให้เห็นว่าประเทศเราควรจะเดินและมีทิศทางพัฒนา แบบไหนที่มีคุณค่า เพราะภาควิชาการเป็นแบ๊กที่หนักแน่น เป็นเหตุผล สนับสนุนได้และเป็นคำตอบว่ามีมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับคนได้พัฒนาความรู้และความคิด ถ้ารัฐไม่ฟัง แล้วจะมีมหาวิทยาลัย จะสอนนักศึกษาและให้ทำวิจัยไปทำไม เพราะการออกมาจะเป็นคำตอบให้สังคมเดินหน้าด้วยเหตุผลและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง

ธีรวัฒน์ ขวัญใจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่

กรณีชุมนุมคัดค้านเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบจะนะที่ยืดเยื้อ เกิดจากฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ตั้งใจจะแก้ปัญหาจริงๆ

โครงการนี้มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นคำถามคือ หากเป็นโครงการของ ศอ.บต. ต้องย้อนดูว่า ศอ.บต.ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ซึ่งพ.ร.บ.การบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ ให้อำนาจ ศอ.บต. แค่มาตราเดียวที่จะกำหนดโครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และให้อำนาจอย่างแปลกประหลาดมาก คือให้ ศอ.บต. กำหนดพื้นที่ใดก็ได้เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น แต่ไม่ได้บอกว่าเขตพัฒนาดังกล่าวจะใช้ทำอะไร

หากเอามาตรานี้เป็นฐานในการใช้อำนาจ ก็ช่วยไม่ได้ที่จะเกิดกรณีจะนะขึ้น ยิ่งเป็นกรณีมีเอกชนได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ยิ่งตั้งคำถามได้มากเลยว่า โครงการเหล่านี้เป็น การนำอำนาจรัฐไปใช้เพื่อประโยชน์ของเอกชนหรือไม่จากที่มีโอกาสไปสัมผัสกับพื้นที่อยู่บ้าง จะนะเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนตื่นตัว ตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งในชุมชนต่างๆและร่วมมือกันอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง

ดังนั้น ชุมชนประมงอาจมองคุณค่าอย่างอื่นมากกว่าตัวเงินที่จะได้จากโครงการพัฒนา เพราะเขาให้คุณค่ากับทรัพยากร วิถีชีวิต วิถีชุมชนมากกว่า หากถามว่าผลดีผลเสียเป็นอย่างไร คงต้องมองว่าผลดีของใคร ผลเสียของใคร แต่ที่แน่ๆ ชุมชนชาวประมงชายฝั่งที่ออกมาทวงถามคำตอบจากรัฐเรื่องนี้ เขาน่าจะเป็นผู้สูญเสียมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

กรณีสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบ เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.นั้น จะเห็นว่ามีความไม่ชอบธรรมบางอย่างเกิดขึ้น ชาวจะนะที่ไปชุมนุม เขาไปโดยสงบ ไปปรากฏตัวเพื่อทวงถามคำตอบจากผู้มีอำนาจ แต่กลายเป็นว่า แค่ไปปรากฏตัวตรงนั้นก็ไม่ได้แล้ว

เมื่อไปดูข้อหาหลักที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี คือการชุมนุมฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และชุมนุมมั่วสุมในพื้นที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นข้อหาที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับเป้าหมายที่อยากจัดการ ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค เราเพิ่งผ่านเทศกาลลอยกระทงที่คนแออัดยัดเยียด ไม่เห็นมีใครว่าอะไร

เรื่องนี้จะจบอย่างไรนั้น ในมุมมองที่ติดตามการใช้อำนาจของรัฐ จึงไม่แปลกใจท่าทีของนายกฯ และผู้มีอำนาจ เพราะไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น พี่น้องจะนะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่ถูกสลายการชุมนุมเมื่อครั้งมีการประชุมครม.สัญจรเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่ จ.สงขลา ตอนนั้นประเด็นหลักคือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ผู้มีอำนาจในยุคสมัยนี้มองว่า เสียงประชาชนไม่มี ความหมาย และพร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายออกมาจัดการ ซึ่งไม่ใช่ทางออก

ทางออกของเรื่องนี้ หากบอกนายกฯ หรือผู้มีอำนาจได้อยากให้ลองเปิดใจและลงไปนั่งคุยกับชาวบ้านสักเล็กน้อย ก็ยังดี และจะดียิ่งกว่านั้นหากนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงไปดูสภาพพื้นที่จริงว่าทรัพยากรเป็นอย่างไร ไปดูวิถีชีวิตของชุมชน ไปดูว่าเขารักษาทรัพยากรอย่างไรอาจไปคุยกับทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สุดท้ายต้องเอาทั้งหมดมาอยู่บนโต๊ะที่โปร่งใส และชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตตัวเอง โครงการนี้อาจเกิดขึ้นก็ได้หลังจากดำเนินการอย่างโปร่งใสแต่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย และความรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วมรวมอย่างแท้จริง แต่เพื่อประโยชน์ของใครบางคนหรือบางกลุ่มมากกว่า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ