พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นำคณะร่วมงานประเพณี 2 ศาสนา ไทยพุทธ มุสลิม สืบสานวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเวลา 9.00 น.วันที่ 5 พ.ย.2565 ที่วัดมะเดื่อทอง (วัดกะโผ๊ะ) ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมนายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา ว่าที่ผู้สมัครพรรคประชาชาติ และคณะเดินทางลงพื้นที่พบปะพี่น้องชาวไทยพุทธ ที่เดินทางมาร่วมงานทอดกฐินสามัคคี โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า และประชาชน เดินทางมาร่วมงานจำนวนมากพร้อมร่วมกันเป็นเจ้าภาพงานนี้
บรรยากาศภายในงานมีการจัดเตรียมอาหารไว้แจกจ่ายให้รับประทานหลากหลายชนิด โดยมีประชาชนต่างร่วมใจกันนำมาเพื่อร่วมกันทำบุญและส่งเสริม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในพื้นที่ตราบนานเท่านาน ขณะที่พ.ต.อ.ทวี ได้ให้กำลังใจและพบปะผู้มาเข้าร่วมงานอย่างเป็นกันเอง ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น
สำหรับวัดมะเดื่อทอง ถือเป็นวัดที่เก่าแก่ สร้างมาเมื่อปี พ.ศ. 2390 มีพระศักดิ์สิทธิ์คือ พระศิลาขาวเนื้อหินขาว อายุประมาณ 200 ปี และวัดมะเดื่อทองยังเป็นต้นกำเนิดของงานเทศกาลลากเรือพระในพื้นที่ชายแดนใต้ มีพ่อทวดสีพุฒ (พระครูมานัตต์สมณคุณ) เป็นอดีตเจ้าอาวาส ที่ประชาชนทั่วไปต่างรู้จักและให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก สำหรับการจัดงานทอดกฐินสามัคคี ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อเติมซ่อมแซมเสนาสนะต่าง ทำชำรุดทรุดโทรม เพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาต่อไป
จากนั้นเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามหลังเก่า อ.เมือง จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี พร้อมคณะเข้าร่วมงานเมาลิดินนะบี ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมตาดีกาจังหวัดปัตตานี โดยมีตัวแทนของชมรมตาดีกาจังหวัดปัตตานี ทั้ง 12 อำเภอ รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นและประชาชนเข้าร่วมงาน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ตรงกับวันประสูติ หรือ เดือนประสูติของศาสดานบีมูฮัมหมัด คือเดือนรอบีอุลเอาวัล ซึ่งเป็นเดือนที่ 3 ในปี ฮิจเราะฮ์ศักราช ถือว่าเป็นเดือนที่มีความสำคัญยิ่งของคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในหมู่คณะ หลังจากเสร็จพิธี
พ.ต.อ.ทวี ได้ขึ้นกล่าวพบปะพร้อมทั้งกล่าวถึงคูณประโยชน์ของการมีตาดีกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกล่าวว่า ตาดีกา เป็นการศึกษาที่ทรงคุณค่า กล่าวคือ เป็นการสอนแบบกล่อมเกลา ไม่ได้สอนให้ท่องจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังกล่อมเกลาชีวิตของผู้เรียน โดยใช้คัมภีร์อัลกุรอ่าน เป็นพื้นฐานของการเรียน เพื่อนำหลักคิดมามาใช้ในชีวิตปะจำวัน และที่สำคัญผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
สิ่งที่มีคุณค่าอีก 1 อย่างก็คือ การบันทึก ตำราเรียน ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้มีการบันทึกตำราเรียนที่มีความหลากหลาย โดยเพาะตำราที่เป็นภาษายาวี ซึ่งถือว่าเป็นการกนุรักษ์ และเป็นการปกป้อง ส่งเสริม เป็นการพัฒนา และฟื้นฟูด้านภาษา เพราะภาษาคือชาติพันธ์ คือความเป็นตัวตน วันนี้ถ้าการสูญสิ้นภาษา มันเหมือนการสูญสิ้นชาติพันธ์ และภาษาของพี่น้องชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีภาษาของตัวเอง และมีตัวอักษรของเราเอง คนที่ปกป้อง คนที่รักษา ส่วนใหญ่ก็คือผู้นำศาสนา โดยเฉพาะ สถาบันปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาซึ่งไว้ภาษา