ตาลีบัน : ไอซ์และเฮโรอีนผลักให้การค้ายาเสพติดในอัฟกานิสถานเฟื่องฟูอย่างไร

Home » ตาลีบัน : ไอซ์และเฮโรอีนผลักให้การค้ายาเสพติดในอัฟกานิสถานเฟื่องฟูอย่างไร


ตาลีบัน : ไอซ์และเฮโรอีนผลักให้การค้ายาเสพติดในอัฟกานิสถานเฟื่องฟูอย่างไร

เซคันเดอร์ เคอร์มานี

ผู้สื่อข่าวบีบีซี

ในห้องเล็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน มีเมทแอมเฟตามีน (สารกระตุ้นประสาทที่พบในยาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์) คุณภาพดีพร้อมให้ลักลอบไปขายไกลถึงออสเตรเลีย เมื่อถึงเวลาขาย ยาเสพติดหนักแค่ 100 กรัมที่เก็บอยู่ในห้องนี้จะมีมูลค่าถึง 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 90 ล้านบาท

ภายนอก มีควันโขมงลอยมาจากถังสำหรับปรุงและผลิตเมทแอมเฟตามีนชุดใหม่

ยาเสพติดเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลในอัฟกานิสถานมานานแล้ว แต่ก็ยิ่งเฟื่องฟูเข้าไปใหญ่หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดประเทศ จากที่เคยผลิตเฮโรอีนมานานแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอัฟกานิสถานได้กลายเป็นแหล่งผลิตเมทแอมเฟตามีนแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งด้วย

Poppy cultivation

Getty Images
ฝิ่นเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเฮโรอีน

แหล่งข่าวแหล่งหนึ่งที่มีความข้องเกี่ยวกับธุรกิจค้ายาบอกกับบีบีซีว่ามีการผลิต “crystal meth” หรือ “ยาไอซ์” วันละ 3,000 กิโลกรัมทุกวันจาก “โรงงานชั่วคราว” กว่า 500 แห่งในเขตสำหรับผลิตยาเสพติดเขตหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

มีการผลิตเมทแอมเฟตามีนในประเทศมากขึ้นหลังจากค้นพบว่าสมุนไพรชื่อ อีเฟดรา (ephedra) หรือที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า “โอมาน” (oman) ซึ่งพบเจอได้ทั่วไป สามารถนำไปผลิตอีเฟดรีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนได้

Meth lab

BBC
ถังผลิตเมทแอมเฟตามีน

ตลาดกลางทะเลทรายของอัฟกานิสถานเป็นเหมือนศูนย์กลางธุรกิจค้าขายเมทแอมเฟตามีนในประเทศโดยตอนนี้มีจำนวนมากอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ก่อนหน้านี้ เข้าใจกันว่ากลุ่มตาลีบันเก็บภาษีจากอีเฟดรา แต่เมื่อไม่นานมานี้พวกเขาประกาศห้ามเพาะปลูกสมุนไพรชนิดนี้

อย่างไรก็ดี ตาลีบันยังอนุญาตให้คนผลิตเมทแอมเฟตามีนต่อไปได้ ชาวอัฟกันคนหนึ่งที่มีส่วนในการผลิตยาเสพติดเล่าให้เราฟังพร้อมรอยยิ้มว่า การสั่งห้ามปลูกอีเฟดรายิ่งทำให้ราคาขายส่งของเมทแอมเฟตามีนสูงขึ้นเท่าตัวในชั่วข้ามคืน

ดร.เดวิด แมนส์ฟีลด์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ายาเสพติดในอัฟกานิสถาน เขาเฝ้าติดตามการผลิตเมทแอมเฟตามีนในประเทศด้วยการสังเกตจากภาพถ่ายดาวเทียม เขาบอกว่าการสั่งห้ามปลูกอีเฟดราจะมีผลก็ในช่วง ก.ค. ปีหน้าเพราะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีนี้ไปแล้ว

ดร.แมนส์ฟีลด์ เชื่อว่า ปริมาณการผลิตเมทแอมเฟตามีนในประเทศอาจเยอะกว่าเฮโรอีนแล้ว

  • 100 วันหลังตาลีบันเข้ายึดประเทศ
  • ฤดูหนาวและความหิวโหยกับ “วิกฤตทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก”
  • ชีวิตภายใต้การปกครองของตาลีบัน : “ความฝันทั้งหมดของฉันถูกทำลาย”
Scales and bags of opium can be seen at a market in Kandahar, Afghanistan

BBC
ชาวอัฟกันตั้งแผงขายฝิ่นในเมืองกันดาฮาร์

อย่างไรก็ดี ธุรกิจค้าฝิ่นก็กำลังเฟื่องฟูเช่นกันโดยประเมินกันว่าอัฟกานิสถานเป็นแหล่งเพาะปลูกต้นฝิ่นถึง 80% ของทั้งโลก

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ชาวไร่อัฟกันทั่วประเทศพากันตระเตรียมดินและเริ่มปลูกเมล็ดฝิ่นกัน โมฮัมหมัด กานี จากเมืองกันดาฮาร์ บอกเราว่า เขารู้ว่ามันเป็นสิ่งอันตราย “แต่ไม่มีอะไรอย่างอื่นที่เราปลูกแล้วจะทำเงินได้”

เศรษฐกิจอัฟกานิสถานกำลังพังครืนลงหลังจากตาลีบันเข้ายึดประเทศและองค์กรช่วยเหลือนานาชาติต่าง ๆ ถอนตัวกันออกไปหมด สำหรับชาวไร่หลายคน การปลูกฝิ่นดูเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดขณะที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งไปด้วย

จากก่อนหน้านี้ที่ต้องคอยติดสินบนเจ้าหน้าที่ทางการ ตอนนี้พ่อค้าฝิ่นสามารถตั้งแผงขายฝิ่นในตลาดได้อย่างเสรี

“ตั้งแต่กลุ่มตาลีบันปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระ เราก็กลายเป็นอิสระโดยสิ้นเชิง” ผู้ค้าส่งรายหนึ่งบอกพร้อมกับรอยยิ้ม

อย่างไรก็ดี กลุ่มตาลีบันยังรู้สึกอ่อนไหวเวลาถูกถามถึงเรื่องนี้ ที่จังหวัดเฮลมานด์ พวกเขาห้ามไม่ให้บีบีซีถ่ายทำตลาดขายฝิ่นขนาดใหญ่ที่เป็นที่โจษจันไปทั่วโดยบอกว่าเป็น “พื้นที่ต้องห้าม”

เมื่อบีบีซีถามว่าที่ห้ามถ่ายเพราะมีคำกล่าวอ้างว่าสมาชิกตาลีบันทำเงินได้จากการค้ายาหรือเปล่า ฮาฟิซ ราชิด หัวหน้าหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของจังหวัด หยุดการให้สัมภาษณ์กะทันหันและขู่จะทำลายกล้องหากเราไม่ยอมลบเทปบันทึกซะ

ที่เมืองกันดาฮาร์ซึ่งอยู่ติดกัน ตอนแรกเราได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำตลาดขายฝิ่นแต่เมื่อไปถึงกลับได้รับแจ้งว่าไม่สามารถทำได้

ไบลัล คารีมี โฆษกตาลีบันที่กรุงคาบูล บอกว่า พวกเขากำลังหาทางเลือกใหม่ให้กับเหล่าชาวไร่ เพราะ “เราไม่สามารถพรากสิ่งนี้ไปจากพวกเขาโดยไม่เสนออย่างอื่นให้แทน”

ตอนที่พวกเขาเคยปกครองประเทศ ตาลีบันสั่งห้ามไม่มีให้มีการค้าขายฝิ่น แต่พอพ้นอำนาจในเวลาต่อมา พวกเขาเก็บภาษีจากธุรกิจนี้เป็นแหล่งรายได้แม้จะไม่เคยยอมรับเรื่องนี้

บางคนเชื่อว่าตาลีบันจะสามารถสั่งห้ามค้าฝิ่นอีกครั้งได้ถ้าพวกเขาอยากจะทำ แต่ชาวไร่บางคนไม่คิดเช่นนั้น

“พวกเขาบรรลุสิ่งต่าง ๆ ก็เพราะฝิ่น” ชาวไร่คนหนึ่งกล่าวด้วยความโกรธ “เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาห้ามปลูกฝิ่นนอกเสียจากว่านานาชาติจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวอัฟกัน ไม่เช่นนั้นพวกเราก็จะหิวโหยและไม่สามารถดูแลครอบครัวเราได้”

Men gathered on the side of the road in the capital, Kabul to use drugs

BBC
ผู้เสพยาริมถนนในกรุงคาบูล

ในบางส่วนของประเทศ เศรษฐกิจท้องถิ่นต้องพึ่งพาการค้ายาเสพติดเป็นอย่างมาก อย่างในหมู่บ้านหลายแห่งในจังหวัดเฮลมานด์ นอกจากจะมีการตั้งแผงขายฝิ่นแล้ว ยังมีโรงงานผลิตเฮโรอีนจากฝิ่นหลายแห่งตั้งอยู่

แหล่งข่าวในพื้นที่บอกเราว่า เฮโรอีน 1 กิโลกรัมถูกนำไปขายเพื่อส่งออกได้ราคาราว 1,190 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4 หมื่นบาท

อดีตผู้ลักลอบค้ายาในสหราชอาณาจักรบอกกับบีบีซีว่า กว่าเฮโรอีนจำนวนนั้นจะมาถึงที่สหราชอาณาจักรและนำไปผสมส่วนผสมอื่น ๆ ราคาจะสูงขึ้นถึงกว่า 2.2 ล้านบาทแล้ว

ผลกำไรจำนวนมากได้มาจากกระบวนการลักลอบขนส่งยาไปประเทศต่าง ๆ แต่กลุ่มตาลีบันก็เก็บภาษีจากผู้ผลิตในพื้นที่ด้วย

ดร.แมนส์ฟีลด์ เล่าว่า ประเมินกันว่าในปี 2020 กลุ่มตาลีบันได้เงินราว 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการผลิตยาเสพติด

ดร.แมนส์ฟีลด์ บอกว่า ย้อนไปครั้งแรกที่พวกเขาครองประเทศ พวกเขาใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะสั่งห้ามค้ายาเสพติด และในตอนนั้นมีแค่การผลิตฝิ่นเท่านั้น เขาบอกว่า หากครั้งนี้กลุ่มตาลีบันทำเช่นนั้นอีกก็จะเป็นการลงโทษประชาชนที่ก่อนหน้านี้เคยให้การสนับสนุนพวกเขามา

ไบลัล คารีมี โฆษกตาลีบัน บอกว่า การจัดการไม่ให้มีการผลิตยาเสพติดจะช่วยทั้งชาวอัฟกานิสถานและนานาชาติ “ดังนั้นโลกก็ควรจะลงมือช่วยด้วย”

อย่างไรก็ดี การค้ายาในอัฟกานิสถานไม่ได้พึ่งการส่งออกอย่างเดียว เพราะประชากรในประเทศก็เสพยาด้วยเหมือนกัน

บนถนนพลุกพล่านสายหนึ่งในกรุงคาบูล มีผู้ชายหลายร้อยคนนั่งจับกลุ่มเล็ก ๆ เสพเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนกัน

ชายคนหนึ่งเล่าว่า จากที่เคยเมทแอมเฟตามีนนำเข้าจากอิหร่านมีราคาถึง 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อกรัม ตอนนี้ราคาเพียง 0.31-0.41 ดอลลาสหรัฐเท่านั้น

สภาพการอยู่อาศัยของคนติดยาเหล่านี้ย่ำแย่มาก บางคนอาศัยอยู่ในคูน้ำเสีย “แม้แต่หมาก็จะไม่ใช้ชีวิตแบบเรา” ชายอีกคนหนึ่งเล่า

บ่อยครั้งที่กลุ่มตาลีบันพาคนเหล่านี้ไปสถานบำบัดยาเสพติดที่ก็ไม่ได้มีงบประมาณดำเนินการเพียงพอ และคนส่วนใหญ่ก็ลงเอยด้วยการกลับมาที่นี่อีกครั้ง

หากดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ดูเหมือนจะมียาเสพติดอีกจำนวนมากถูกส่งไปตามท้องถนนในอัฟกานิสถานและในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

…………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ