“ดุสิตโพล”เผยขัดแย้งเลือกนายกฯทำบ้านเมืองแย่ กระทบเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ชี้สาเหตุมาจากมุ่งอำนาจแย่งชิงผลประโยชน์ พร้อมฉะ ส.ว.วอนเคารพเสียงเลือกตั้ง
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,809 คน เรื่อง “ความขัดแย้งกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรี” โดยสำรวจทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรกับกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 17.73 ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคมร้อยละ 67.90 ทำให้เบื่อการเมือง การเมืองล้าหลังไม่พัฒนา และร้อยละ 62.23 กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน
ส่วนประชาชนคิดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันหลังนี้คืออะไร พบว่า ร้อยละ 74.21 การมุ่งแต่อำนาจจนเกินขอบเขตแย่งชิงผลประโยชน์ ร้อยละ 63.76 การปฎิบัติหน้าที่ของ สว. และร้อยละ 62.42 การไม่ยอมรับเสียงของประชาชน ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้
เมื่อถามถึงแนวทางการยุติความขัดแย้งกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชน ร้อยละ 77.39 ให้เคารพเสียงจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 57.97 แสวงหาแนวทางร่วมกันอย่างสันติร่วมมือและไว้วางใจกัน และร้อยละ 47.10 ให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน
ขณะที่บทเรียนจากความขัดแย้งกรณีการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้คืออะไรบ้างพบว่าประชาชนร้อยละ 64.13 ระบุ ทุกคนมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันได้ แต่ควรเคารพซึ่งกันและกัน ร้อยละ 59.17 ระบุ ความแตกต่างระหว่างวัยส่งผลต่อความคิดทัศนคติทางการเมือง และร้อยละ 55.16 ระบุ ประชาธิปไตยยังคงมีปัญหา แก้ไขได้ยาก
สุดท้ายเมื่อถามความเห็นประชาชนคิดว่ากรณีการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำให้การเมืองเป็นอย่างไร นั้น พบว่า ประชาชน ร้อยละ 40.63 ระบุ แย่ลง ร้อยละ 33.72 ระบุ หมือนเดิม และร้อยละ 25.65 ระบุ ดีขึ้น