ดาวหางลีโอนาร์ด ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส-ผ่านฟ้าส่งท้ายปี 2564
ดาวหางลีโอนาร์ด – วันที่ 23 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ดาวหางลีโอนาร์ดซึ่งเคยพุ่งผ่านโลกไปเมื่อราว 8 หมื่นปีก่อน กลับมาปรากฎเหนือท้องฟ้าของโลกอีกครั้งในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส โดยเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก่อนที่ดาวหางดวงนี้จะหายไปจากท้องฟ้าตลอดกาล
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า ร่วมกันกับองค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ เผยแพร่ภาพถ่ายต่อเนื่องจากกล้องของยานสำรวจ โซลาร์ ออบิเตอร์ เป็นดาวหาง C/2021 A1 หรือลีโอนาร์ด พุ่งผ่านไปโดยมีกาแล็กซีทางช้างเผือกอยู่ด้านหลังภาพ รวมถึงดาวศุกร์ (ดวงที่สว่างมาก) และดาวพุธ (ดวงที่สว่างน้อย) ที่มุมขวาบนของภาพ
ดาวหางลีโอนาร์ดประกอบไปด้วยหินและน้ำแข็งเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 1 กิโลเมตร เดินทางเข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อ 12 ธ.ค. โดยมีระยะห่างจากโลกไปเพียง 34 ล้านก.ม. ทำให้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.นี้
นาซ่า ระบุว่า ดาวหางดวงนี้จะเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 3 ม.ค. (ห่างกันราว 90 ล้านก.ม.) หากไม่สลายตัวไปก็จะถูกแรงโน้มถ่วงเหวี่ยงพุ่งออกไปจากระบบสุริยะจักรวาล และจะไม่มีวันกลับมาให้ชาวโลกได้พบเห็นอีก
สำหรับดาวหางดังกล่าวเพิ่งถูกค้นพบเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยนายเกรก ลีโอนาร์ด นักดาราศาสตร์ และนักวิจัยอาวุโสห้องปฏิบัติการดวงจันทร์และวงโคจร มหาวิทยาลัยแอริโซนา เริ่มต้นมาจากที่นายลีโอนาร์ด พบแสงปริศนาแล้วเฝ้าติดตามมันมาตั้งแต่ 3 ม.ค.
Went comet hunting tonight. Success. Thanks for dropping by to our neighbourhood comet Leonard. pic.twitter.com/BzqL0p3lRC
— Petr Lebedev 🚀 (@SciencePetr) December 21, 2021
นายลีโอนาร์ด กล่าวว่า หางของดาวหางดวงนี้ยาวสวยงามมาก แม้มันจะเคลื่อนที่อยู่ห่างไปจากโลกตอนนี้เกือบ 750 ล้านก.ม. อยู่ไกลในระยะเดียวกันกับดาวพฤหัสบดี
เอิร์ธสกายรายงานว่า ดาวหางลีโอนาร์ดมีความเร็วสูงมากถึง 71 ก.ม.ต่อวินาที แต่ด้วยระยะห่างจากโลกหากมองแล้วก็จะเห็นเหมือนกับว่าดาวหางเคลื่อนที่อย่างช้าๆ โดยวิธีการหาดาวหางดวงนี้ง่ายดายเพียงหาดาวศุกร์ที่สว่างไสวหลังดวงอาทิตย์ตกบนท้องฟ้าก็จะพบดาวหางอยู่ไม่ไกล
I caught a comet!!! 🤯
This is the Christmas Comet Leonard captured in the Blue Mountains using my Google Pixel 6 on astrophotography mode. I am SO impressed with how well it worked!
Great night with great people! @CosmicRami @deeptwilight @SciencePetr @riding_red pic.twitter.com/ln54WqKez7
— Kirsten Banks (@AstroKirsten) December 22, 2021
นายลีโอนาร์ด ระบุว่า ดาวหางดวงนี้จะปรากฎขึ้นบนท้องฟ้า โดยอยู่เหนือเส้นขอบฟ้าขึ้นไปไม่สูงมากนักหลังพระอาทิตย์ตกดินตั้งแต่ 13 ธ.ค. เป็นต้นไป และหายไปในช่วงหลังคริสต์มาส
ด้านสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หรือ NARIT ระบุผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 18 ธ.ค. ว่าวันที่ 20 ธ.ค.เป็นต้นไป ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงข้างแรมและยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงหัวค่ำ ทำให้ปราศจากแสงจันทร์รบกวน
บวกกับช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้ เป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย หลายพื้นที่มีสภาพอากาศที่ปลอดโปร่ง ไร้ความชื้นในอากาศ จึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ได้ พร้อมกับการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
สดร. แนะนำว่า ให้ชมผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา และควรรอให้ฟ้าเริ่มมืดเสียก่อน เนื่องจากดาวหางนั้นอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ แสงจากดวงอาทิตย์ในยามเย็นอาจจะรบกวนการสังเกตดาวหาง
ขณะเดียวกันยิ่งดึกดาวหางก็จะยิ่งลดต่ำลงใกล้ขอบฟ้า ก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไปด้วย เวลาที่เหมาะที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังดวงอาทิตย์ตก ประมาณหนึ่งทุ่ม