เหตุรุนแรงในเลบานอน เสียชีวิต 9 ศพ บาดเจ็บเกือบ 3,000 ราย จุดคำถาม “ใครยังใช้เพจเจอร์อยู่?”
เหตุเพจเจอร์สังหารในเลบานอนเมื่อวันอังคาร (17 ก.ย.) ได้จุดประเด็นถึงความสำคัญของเพจเจอร์ ในยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการสื่อสารกระแสหลักของโลกในตอนนี้ (ระทึก! เหตุเพจเจอร์ระเบิดในเลบานอน ดับ 9 เจ็บเกือบ 3,000 ราย)
ระหว่างที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารหลักของโลก เพจเจอร์ กลายเป็นอุปกรณ์เก่าล้าหลัง เมื่อเทียบกับยุครุ่งเรืองของเพจเจอร์ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ที่ยังคงมีความสำคัญในบางภาคส่วน เช่น สาธารณสุขและหน่วยงานฉุกเฉิน จากความทนทานและอายุแบตเตอรี่ที่ยาวนาน
ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS ของอังกฤษ เผยว่ายังมีการใช้เพจเจอร์ของเจ้าหน้าที่การแพทย์ราว 130,000 เครื่องในปี 2019 คิดเป็นกว่า 10% ของการใช้เพจเจอร์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ประหยัดที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดในการติดต่อกับคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ต้องการการตอบกลับ เพจเจอร์บางรุ่นสามารถส่งเสียงไซเรนและประกาศข้อความเสียงต่อกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่โทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำได้
จากประโยชน์ที่เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ที่ยากต่อการติดตามเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีติดตามตัวอย่าง จีพีเอส เหมือนอุปกรณ์สื่อสารในยุคนี้ ทำให้เพจเจอร์เป็นที่นิยมในหมู่อาชญากร เช่น ขบวนการค้ายาเสพติดในอเมริกาในอดีต แต่อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เคน เกรย์ เผยกับรอยเตอร์ว่า ขบวนการเหล่านี้หันมาใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ โทรศัพท์ใช้แล้วทิ้ง หรือ burner phones กันแล้ว
เมื่อส่องตลาดเพจเจอร์ทั่วโลก พบว่า เพจเจอร์เคยเป็นแหล่งรายได้สำหรับของบริษัทอย่างโมโตโรลา ข้อมูล ณ ปี 2023 อุปกรณ์นี้ทำรายได้ 1,600 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากรายงานของ Cognitive Market Research ซึ่งถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก ที่มีมูลค่าราว 5 แสนล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เพจเจอร์ ยังคงจำเป็นในหมู่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และคาดว่าจะยังเป็นตลาดที่เติบโตได้ราว 5.9% ต่อปี ในช่วงปี 2023-2030 และตลาดใหญ่ยังคงเป็นอเมริกาเหนือและยุโรป