ดร.อนันต์ เผยผลวิเคราะห์ไวรัส 'ฝีดาษลิง' เปลี่ยนแปลงเร็ว 10 เท่า อาจแพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น

Home » ดร.อนันต์ เผยผลวิเคราะห์ไวรัส 'ฝีดาษลิง' เปลี่ยนแปลงเร็ว 10 เท่า อาจแพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น


ดร.อนันต์ เผยผลวิเคราะห์ไวรัส 'ฝีดาษลิง' เปลี่ยนแปลงเร็ว 10 เท่า อาจแพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น

ดร.อนันต์ เผยผลวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัส ‘ฝีดาษลิง’ พบเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า ซ้ำอาจแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น

วันที่ 30 พ.ค.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงกรณีไวรัสฝีดาษลิง ความว่าไวรัสฝีดาษลิง มีสารพันธุกรรมเป็น DNA ซึ่งแตกต่างจาก ไวรัสโรคโควิด หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็น RNA การเปลี่ยนแปลงของ DNA เปลี่ยนยากกว่า RNA มาก ทำให้ไวรัสในกลุ่มนี้มักมีลำดับพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้า ปกติจะพบการเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 ตำแหน่งต่อปีเท่านั้น

แต่ผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง ที่ระบาดในหลายประเทศตอนนี้พบว่า มีความแตกต่างจากไวรัสที่เคยแยกได้ตอนที่กระโดดจากสัตว์มาหาคนเมื่อ 4 ปีก่อน ใน UK สิงคโปร์ และ อิสราเอล ถึง 40 ตำแหน่ง จากเดิมที่เชื่อว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติ เราคาดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันเพียง 4 – 5 ตำแหน่งเท่านั้นในระยะเวลาที่ต่างกันดังกล่าว แสดงว่าไวรัสที่ระบาดในหลายพื้นที่ตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าไวรัสปกติถึง 10 เท่า

ตอนนี้ยังไม่มีใครมีคำตอบที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสฝีดาษลิง ปี2022 (ขอเรียกว่า MPXV-2022) นี้ แต่มีสมมติฐานที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนตัวผมเห็นด้วย และ คิดว่ามีประเด็นน่าคิด ผลการถอดรหัสไวรัส MPXV-2022การเปลี่ยนแปลง 40 ตำแหน่งพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบเดียวกันคือ จากเดิม GA เปลี่ยนเป็น AA และ จากเดิม TC เปลี่ยนเป็น TT เป็นแบบจำเพาะเจาะจงมากไม่ใช่การเปลี่ยนแบบสุ่ม หรือ เปลี่ยนไปเรื่อย

การเปลี่ยนลักษณะแบบนี้มีสาเหตุหลักมาจาก การเปลี่ยนตัวเองของไวรัสหนีกลไกของโฮสต์ ซึ่งปกติโฮสต์จะมีเอนไซม์อยู่ชนิดนึงที่ทำหน้าที่ไปจับลำดับเบสของไวรัสแล้วคอยเปลี่ยนเบสดังกล่าว ทำให้เกิดมิวเตชั่นในสารพันธุกรรมของไวรัส เปลี่ยนไปเยอะๆจนในที่สุดไวรัสไปต่อไม่ได้จึงสูญเสียความสามารถในการเพิ่มจำนวนของตัวเองในที่สุด เ

อนไซม์ดังกล่าว (ชื่อว่า APOBEC) ในแต่ละสปีชีร์ของโฮสต์จะจับลำดับเบสที่ต่างกันไป ของหนูจับอย่างนึง ของคนก็จับอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน ตัวไวรัสเองก็จะต้องมีวิธีในการอยู่ร่วมกับโฮสต์ได้ วิธีนึงคือ เปลี่ยนตำแหน่งที่ APOBEC ของโฮสต์จะจับไปเป็นตัวอื่นเพื่อหนีการตรวจจับของเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งเป็นกลไกการเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้เกิดวิวัฒนาการของไวรัสนั้นๆให้ดำรงอยู่กับโฮสต์ได้ ปกติการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลานานพอสมควร

ประเด็นที่น่าสนใจคือ GA และ TC ที่ MPXV-2022 มีการเปลี่ยนแปลงถึง 40 ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ APOBEC ของคนใช้ในการตรวจจับ เพื่อทำการจัดการไวรัสตัวนั้น การที่ MPXV-2022 เปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวแบบจำเพาะเจาะจงแบบนี้ อาจเป็นกลไกที่ไวรัสพยายามหนีการจับของเอนไซม์ของคนเพื่อความอยู่รอดในโฮสต์ใหม่ ทำให้นักวิจัยหลายท่านตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นไปได้ว่า MPXV-2022 วนเวียนอยู่ในประชากรมนุษย์มาเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว ไวรัสอาจมีปรับเปลี่ยนโฮสต์จากสัตว์ตัวกลางเป็นคน ซึ่งทำให้การแพร่กระจายเกิดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ต้องย้ำอีกทีว่า เป็นสมมติฐานที่มีการวิเคราะห์มาจากข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัสนะครับ ยังไม่มีข้อมูลการแยกไวรัสออกมาเปรียบเทียบคุณสมบัติการเพิ่มจำนวนในเซลล์คนเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เก่า ว่าต่างกันมากน้อยอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าคงมีให้วิเคราะห์กันต่อในไม่ช้าครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ