กรมศิลปากร เปิดผลตรวจ โครงกระดูกมนุษย์ กลางทุ่งนาที่บ้านแวงน้อย จ.ขอนแก่น พบมีอายุหลายพันปี ขอความร่วมมือหยุดปรับไถ ด้าน แม่เฒ่าวัย 80 ปี เล่าอดีต
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 21 มี ค. 2566 นายดุสิต ทุมมากร ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 จ.ขอนแก่น นำนักโบราณคดี จากกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์ที่ชาวบ้านพบในที่นาของ น.ส.ณัฐฐกาณฑ์ คำชมภู อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 332 ม.1 บ.แวงน้อย ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ซึ่งมีที่นา อยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน
ซึ่งทันทีที่เจ้าหน้าที่ศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ลงพื้นที่ก็ได้ทำการสำรวจความสมบูรณ์ของโครงกระดูกมนุษย์ โดยได้ทำการวัดโครงร่างของกระดูกพบว่ายาว 2 เมตร ยังมีฟันล่างและฟันบนที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังทำการแยกวัตถุโบราณที่แตกเป็นชิ้นส่วน ที่มีทั้งหม้อ กระเบื้อง และเครื่องมือ รวมถึงเศษกระดูกสัตว์ เพื่อนำไปเก็บรักษาที่สำนักงานศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น
นายดุสิต กล่าวว่า จากการสอบถามเจ้าของพื้นที่นาทราบว่า มีทั้งหมด 12 ไร่ 2 งาน แต่ในพื้นที่ที่พบโครงกระดูกนั้นมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ส่วนโครงกระดูกที่พบเป็นโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก อายุ 1,500-2,500 ปี และพบเศษเครื่องปั้นดินเป็นหม้อดินมีลายเชือกทาบ และหินดุที่ใช้สำหรับทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่ได้หนาแน่นมาก แสดงว่าการปรับไถดินครั้งนี้อาจจะยังไม่ถึงระดับที่เจอวัตถุโบราณมาก แต่ถ้าขุดลงไปอาจจะเจออีก
“ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของที่นาว่าให้พอแล้วสำหรับการปรับไถเพื่อจะรักษามรดกทางศิลปะวัฒนะธรรมของชาติที่สำคัญอันนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป เพราะตรงนี้เป็นเนินดินขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร แต่บางส่วนบริเวณชายเนินถูกปรับเป็นที่นาไปแล้วเหลือแต่ยอดเนิน ซึ่งทางเจ้าของที่ดินก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งทางราชการกำลังงับการปรับไถให้พอเท่านี้ก่อน” นายดุสิต กล่าว
นายดุสิต กล่าวอีกว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นชุมชนโบราณเป็นบ้านเมืองโบราณของบรรพชนคนไทยที่อาศัยอยู่ตรงนี้เมื่อประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว ในสมัยที่เราเรียกว่ายุคกรีกในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ทั้งนี้ การดูแลรักษาส่วนนี้ ศิลปากรขอนแก่น ได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากร 800,000 บาท เพื่อทำการสำรวจเมืองโบราณชุมชนโบราณในเขตจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มงานมาตั้งแต่เดือน ม.ค.เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
นายดุสิต กล่าวด้วยว่า ซึ่งจุดนี้เมื่อพบก็จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดระดับความสำคัญก่อนหน้าหลังว่าชุมชนไหนที่มีความสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นและจะทำการศึกษาพัฒนาต่อ ซึ่งก็หมายความว่าทางกรมศิลปากรให้ความสำคัญกับชุมชนเหล่านี้มาก โดยเฉพาะชุมชนแห่งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นเพราะเนินแบบนี้เลยและต้องยอมรับว่าภาคอีสานมีเยอะมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เกือบทุกเนินมักจะเป็นของเหล่านี้
นายดุสิต กล่าวว่า แต่ก็มักจะมีผู้ไม่หวังดีกลุ่มค้นหาของเก่ามักจะเข้ามาหาลักขุด โดยนำเอาเครื่องตรวจโลหะเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดไปหาซึ่งตามหมู่บ้าน แต่ถ้าชาวบ้านเจอคนมาลักขุดก็ให้แจ้งสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น จะดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นถือว่าเป็นบุคคลที่ได้ทำลายมรดกศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นจึงถือว่าบ้านแวงน้อยแห่งนี้ ถือว่าเป็นตัวอย่างซึ่งเราจะเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล และจะหาแนวทางศึกษาวิจัยต่อไป
นายดุสิต กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ชาวบ้านมาขอโชคลาภหรือมาเหยียบย่ำ คงต้องให้ความรู้กับชาวบ้านและต้องบอกประชาชนว่านี่คือหลักฐานที่แสดงถึงบรรพชนของคนไทย ในเมื่อท่านเป็นบรรพชนของเราเราก็ควรจะเคารพ ตอนนี้ดอกไม้หรือเครื่องบูชาถือว่าเป็นประเพณี วัฒนธรรมของคนไทย ซึ่ง ถือว่า เป็นวัฒนธรรมที่ดี หมายถึงว่า ยังระลึกถึงบรรพชนของเราอยู่
เพียงแต่ว่า ต้องจัดสรรให้เหมาะสม ให้คนเดินเป็นระเบียบ ให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม อย่าไปเหยียบย่ำ ใกล้วัตถุโบราณ ต้องการขอบเขตพื้นที่ให้เหมาะสมชัดเจน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ก็น่าจะสามารถ กระทำ ได้ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนโครงกระดูกที่พบนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าเพศหญิงหรือเพศชาย เพราะโครงกระดูกค่อนข้างชำรุดมาก อาจเพราะกาลเวลาหรือมีการชำรุดมาจากอดีตไม่ใช่การชำรุดจากการค้นพบ อาจถูกแรงกดของแผ่นดินทำให้แบนมากโครงกระดูกผุมากต้องขอเวลาวิเคราะห์
ด้าน น.ส.ณัฐฐกาณฑ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร ลงพื้นที่มาตรวจสอบจนทราบว่า โครงกระดูกที่พบในที่นานั้น เป็นกระดูกของบรรพบุรุษของเรา ก็จะดูแลรักษา และไม่ให้ใครเข้ามาขุดหรือทำลายให้เสียหาย และถ้ามีใครจะเข้ามาชมก็จะต้องแจ้งให้ทราบก่อน ส่วนการทำนานั้นก็ยังจะทำต่อไป แต่การขุดเนินดินในบริเวณนานั้นจะหยุดไว้เพียงเท่านี้ และจะรักษาทรัพย์สินบริเวณดังกล่าวให้ดีที่สุด
ด้าน นางทองคูน ถึกนอก อายุ 81 ปี ชาวบ้านแวงน้อย กล่าวว่า ตนเป็นลูกหลานที่บ้านนี้ตั้งแต่เกิด ได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับโนนสาวเอ้หรือเนินดิน จุดที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งคำว่า “นูน” ก็จะเป็นลักษณะเหมือนกับบริเวณนั้นเป็นหมู่บ้านเป็นที่สูงที่คนสมัยก่อนจะเลือกเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัย เปรียบเหมือนหมู่บ้านในปัจจุบัน
นางทองคูน กล่าวต่อว่า ซึ่งเรื่องเหล่านี้ตนได้ยินจากปากของพ่อตา ซึ่งพ่อตาก็เล่าสืบต่อกันมาจากพ่อของพ่อตาอีกที บอกว่าที่คนเรียกว่า “โนนสาวเอ้” นั้น เหตุผลเพราะจะมีผู้หญิงทั้งในหมู่บ้านและจากต่างหมู่บ้านจากโนนต่าง ๆ มาแต่งตัวกันอยู่ที่บริเวณนี้ รวมทั้งมาพักผ่อนหลับนอนซึ่งการแต่งตัวก็จะแต่งตัวให้ดูดีสามารถไปอวดเอ้ตามงานบุญ งานมหรสพรื่นเริงต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอีกหลายโนน
“แต่โนนสาวเอ้นี้จะไม่มีงานบุญ จะเป็นที่สำหรับแต่งตัวของสาว ๆ โดยเฉพาะ ต่างจากโนนอื่นที่มีงาน จนเป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลานจนถึงปัจจุบัน” นางทองคูน กล่าว
นางทองคูน กล่าวด้วยว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มาตรวจสอบยืนยันว่าเป็นโครงกระดูกของมนุษย์บรรพบุรุษอายุหลายพันปีนั้น รู้สึกดีใจที่เป็นไปตามประสงค์ของบรรพบุรุษที่อยากจะขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้ทำบุญไปสู่สุคติและสิ่งที่อัศจรรย์คือเหมือนกับผีบรรพบุรุษนั้นรอคอยลูกหลานมาจึงจะยอมขึ้นมาให้เห็น
นางทองคูน กล่าวต่อว่า ที่ดินในบริเวณนี้ไม่มีใครสามารถซื้อได้จนน.ส.ณัฐฐกาณฑ์มาติดต่อขอซื้อและสามารถซื้อสำเร็จไปได้ด้วยดีโดยไม่มีอุปสรรค ซึ่งหลังจากซื้อก็ไม่ได้กลับมาอยู่ที่ที่นาผืนนี้ แต่ไปอยู่ที่ต่างประเทศใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศหลายปีก่อนจะกลับมาร่วมงานบวชลูกชาย และมาพบโครงกระดูกโบราณ ในบริเวณนี้มีร่างทรงเข้ามาทักน.ส.ณัฐฐกาณฑ์ว่าบรรพบุรุษของน.ส.ณัฐฐกาณฑ์เห็นลูกสาวกลับมา เมื่อผีบรรพบุรุษเห็น ก็อยากจะให้ลูกสาวนำขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้และมาชี้จุดที่ขุด ก็พบโครงกระดูกทันที
นางทองคูน กล่าวอีกว่า ทำให้น.ส.ณัฐฐกาณฑ์และชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าน.ส.ณัฐฐกาณฑ์นั้นเป็นลูกสาวของบรรพบุรุษจริง ๆ ที่รอคอยให้น.ส.ณัฐฐกาณฑ์มาพาขึ้น และในช่วงที่รถแบคโฮมาขุดนั้น ก็เกิดสิ่งอัศจรรย์คือมีอีกา 2 ตัวมาจับที่ขารถแบคโฮไม่ให้ทำงาน เพราะรถแบคโฮกำลังขุดบริเวณที่พบโครงกระดูก แต่พอเลื่อนไปขุดที่อื่น อีกาก็บินหายไป จึงยิ่งทำให้เชื่อว่าน.ส.ณัฐฐกาณฑ์คือลูกสาวจริง ๆ ของบรรพบุรุษที่จะพาโครงกระดูกขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้