ซูเปอร์ไต้ฝุ่นการเมืองปี 2564

Home » ซูเปอร์ไต้ฝุ่นการเมืองปี 2564


ซูเปอร์ไต้ฝุ่นการเมืองปี 2564

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นการเมืองปี 2564 – ปี2564 ถือเป็นปีที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรงทุกด้าน โดยเฉพาะรัฐบาลถูกรุมเร้าทั้งปัญหาในสภาและนอกสภาอย่างสาหัส แม้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะอยู่จนครบวาระ แต่จะต้านทานความเร่าร้อนของสถานการณ์ที่ก่อตัวเป็น ‘ซูเปอร์ไต้ฝุ่นการเมือง’ มากขึ้นทุกวันได้หรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตามต่อไป

ม็อบรื้อระบอบประยุทธ์?

เข้าสู่ปี 64 สารพัดม็อบยังเดินหน้าไล่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นนายกฯ

พร้อมเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ หวังรื้อระบอบประยุทธ์ให้หมดสิ้น

แกนนำกลุ่มราษฎร ปลุกม็อบดาวกระจายทั่วเมือง ขณะที่ตู่- นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. และเต้น-นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. จัดคาร์ม็อบกระหึ่ม

แต่การชุมนุมที่เข้าข่ายพาดพิงสถาบัน ทำให้แกนนำถูกตำรวจดำเนินคดีมาตรา 112 อาทิ นายอานนท์ นำภา เพนกวิน-นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง-น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แอมมี่-นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ไมค์-นายภาณุพงศ์ จาดนอก ไบร์ท-นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง มายด์-น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล น.ส.เบนจา อะปัญ

กระทั่ง 10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของ นายอานนท์ นายภาณุพงศ์ น.ส.ปนัสยา ในการปราศรัยเมื่อ 10 ส.ค.63 ที่ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอ 10 ข้อเรียกร้อง เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

คำวินิจฉัยนี้ยังเป็นสารตั้งต้นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำมาประกอบคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ที่ยื่นแก้ไขมาตรา 112

สถานการณ์จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตาม

ซักฟอก 10 รัฐมนตรี

ฝ่ายค้านโหมโรงข้ามปี มาได้ฤกษ์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 16-19 ก.พ. ลงมติ 20 ก.พ.

10 รัฐมนตรีที่ถูกขึ้นเขียง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

ฝ่ายค้านพอใจผลงานซักฟอก แพ้โหวตแต่ชนะใจประชาชน

ศึกครั้งนี้ฮือฮามี 4 ส.ส.งูเห่าพรรคก้าวไกล โหวตไว้วางใจนายอนุทิน

ที่เป็นแรงกระเพื่อมในรัฐบาลคือ 5 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แหกมติพรรค และ 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ งดออกเสียงให้นายศักดิ์สยาม

แม้แกนนำพรรคพลังประชารัฐออกมาขอโทษพรรคภูมิใจไทยยกใหญ่

แต่ก็เป็นแผลในใจตามหลอนเรื่อยมา

จำคุก 8 กปปส.

24 ก.พ. ศาลอาญาตัดสินคดีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.กับพวกรวม 39 คน ชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปี 2556-57

จำคุก นายสุเทพ 5 ปี นายถาวร เสนเนียม 5 ปี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี นาย อิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน นายชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ 4 ปี 8 เดือน และ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 4 ปี 16 เดือน

นายณัฏฐพล นายอิสสระ นายชุมพล นายสุวิทย์ ร.ต.แซมดิน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ด้วย

8 กปปส.ถูกขัง 2 คืน ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ส่งผลให้ นายณัฏฐพล พ้นจากรมว.ศึกษาธิการ และเจ้าตัวได้ลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายถาวร พ้นจากรมช.คมนาคม นายพุทธิพงษ์ พ้นจากรมว.ดีอีเอส ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายชุมพล นายพุทธิพงษ์ นายอิสสระ นายถาวร และนายณัฏฐพล สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

8 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ทั้ง 5 คนพ้นจากส.ส.ตั้งแต่ 7 เม.ย.64 เป็นต้นไป

ส.ส.บัญชีรายชื่อว่างลง รายชื่อลำดับต่อไปขึ้นมาแทน และจัดเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพร เขต 1 แทนนายชุมพล และสงขลา เขต 6 แทนนายถาวร

พรรคประชาธิปัตย์จะรักษาเก้าอี้ทั้ง 2 เขตได้หรือไม่ ลุ้นผล 16 ม.ค.65

ก๊อกสอง-6รมต.ขึ้นเขียง

31 ส.ค.-3 ก.ย. ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่สอง ในรอบปี 64

มีโดนซ้ำ 4 คน พล.อ.ประยุทธ์ นายอนุทิน นายศักดิ์สยาม นายสุชาติ อีก 2 คนคือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สุดท้าย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส

ฝ่ายค้านตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรง เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ แก้โควิด-19 ล้มเหลว ส่อทุจริต

แต่แรงกระเพื่อมกลับมาจากการเดินเกมโค่น ‘บิ๊กตู่’ นำโดยร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่เพิ่งผงาดนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐได้ไม่ถึง 3 เดือน

‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องเคลียร์วุ่น และนำ ร.อ.ธรรมนัส เข้าขอโทษ นายกฯ

แถมร้อนฉ่าขึ้นอีกเมื่อนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ปูดกลางสภากล่าวหา ‘บิ๊กตู่’ จ่ายเงินส.ส.คนละ 5 ล้านบาทที่ห้องทำงานชั้น 3 ในสภา จนต้องแก้ต่างกันวุ่น ขนาด ‘บิ๊กตู่’ ให้คนติดตามเปิดกระเป๋าโชว์นักข่าวว่ามีแต่เอกสาร

ลงมติในสภา 4 ก.ย. รอดทุกคน แต่ ‘บิ๊กตู่’ เสียหน้าที่ได้รับคะแนนไว้วางใจรองบ๊วย และมีคะแนนไม่ไว้วางใจมากที่สุด

เมื่อ “มีคนหักหลัง” จึงต้อง “เอาคืน”

ปลด‘ธรรมนัส-นฤมล’

ปัญหาความขัดแย้งจากเกมโค่นนายกฯ จบแบบไม่จบ

8 ก.ย. ‘บิ๊กตู่’ จึงปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พ้นรมช.เกษตรฯ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นรมช.แรงงาน

ทำเอา ‘บิ๊กป้อม’ เครียด-น้อยใจ ที่น้องตู่ปลดก่อนมาบอกทีหลัง แต่เบรก ร.อ.ธรรมนัส ไม่ให้ทิ้งเก้าอี้เลขาธิการพรรค ไว้ได้

22 ก.ย. ‘บิ๊กตู่’ ไปตรวจน้ำท่วมจ.เพชรบุรี มีแค่ 11 ส.ส.พลังประชารัฐ ต้อนรับ ส่วน ‘บิ๊กป้อม’ ไปอยุธยา มี 55 ส.ส.แห่รับ ด้วยฝีมือของ ร.อ.ธรรมนัส

‘บิ๊กป้อม’ เลยต้องสั่งลูกพรรคจัดส.ส.รับให้เท่าเทียมกันในทุกทริป

แต่ไม่วายมีกระแสเป็นระยะว่า ‘3 ป.’ แตกคอกัน และ บิ๊กตู่- บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะแยกวงมาอยู่พรรคที่จะตั้งใหม่ โดยเฉพาะพรรคของกลุ่ม 4 กุมาร

‘3 ป.’ เลยโชว์ออกสื่อ กอดรัดฟัดเหวี่ยงรักกันจนวันตาย

ผ่านมาหลายเดือน นายกฯ ก็ยังปล่อยให้เก้าอี้ 2 รมต.ว่างยาว

แถมแรงกระเพื่อมในพปชร.ก็ยังพ่นพิษอยู่เรื่อย จนเกิดปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง

คอการเมืองเลยจับตาว่าเป็นสัญญาณต้อง ‘ยุบสภา’ ในปี 65 หรือไม่

แก้รธน.-บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

หลังร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เปิดทางตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำฉบับใหม่ เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และฝ่ายค้านโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ผ่านวาระ 1 และ 2 แบบถูลู่ถูกังมาตลอด

แต่ 17 มี.ค. สมาชิกรัฐสภาก็โหวตคว่ำวาระ 3 ด้วยการพลิกเกมของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

ต่อมาหลายพรรคการเมืองเสนอแก้ไขใหม่ 13 ฉบับ แต่ผ่านขั้นรับหลักการฉบับเดียวคือของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 91 แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

10 ก.ย. รัฐสภาผ่านลงมติวาระ 3

ขณะที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรี-โซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน เสนอ หรือที่เรียกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถูกรัฐสภาตีตกเมื่อ 17 พ.ย.

สรุปว่าการเลือกตั้งสมัยหน้าจะกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ใช้เบอร์เดียวพรรคเดียวทั่วประเทศ

เสียงวิจารณ์อื้ออึงว่า เอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย

จะเป็นจริงหรือไม่ โปรดติดตาม

คนดังพ้นส.ส.-พักงานอีก 9

ปีนี้นับเป็นปีที่ส.ส. ถูกสั่งพ้นสมาชิกภาพและถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่มากสุดเป็นประวัติการณ์

เริ่มจาก 27 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พ้นตำแหน่ง ปมทุจริตเลือกตั้งนายกฯ อบจ.

พักงาน พรรคพลังประชารัฐ 5 รายคือ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี หลังศาลฎีการับคำร้อง ป.ป.ช. ข้อหาฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายเเรงกรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจ.ราชบุรี เมื่อ 25 มี.ค.

11 ส.ค. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. เขต 7 ศาลฎีการับคำร้องคดีเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

2 พ.ย. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ 2 ส.ส.นครราชสีมา เมื่อศาลฎีกานักการเมืองสั่งประทับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอลโคราช

พรรคภูมิใจไทย นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และนายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง คดีเสียบบัตรแทนกัน ศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 3 ก.ย.

3 พ.ย. นายสำลี รักสุทธี อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ด้วยเงินจริงหรือไม่ จนกว่าศาลรัฐธรรมูญจะมีคำวินิจฉัย

15 ธ.ค. นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย หลังศาลฎีการับคำร้องคดีฝ่าฝืนจริยธรรม ปมเรียกเงิน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แลกการผ่านพ.ร.บ.งบปี 64

แกนนำ 5 กปปส. พ้นจากส.ส.นับจาก 7 เม.ย.64 ทั้งนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ จากการถูกขังระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ปิดท้ายด้วย 22 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งนายสิระ เจนจาคะ พ้นส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ นับจากวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 เหตุเคยต้องคำพิพากษา ติดคุกคดีฉ้อโกง

ทางสภาเรียกคืนเงินเดือน รายได้ทุกบาท

จับตากกต.ฟันคดีอาญาซ้ำกรณีให้ความเท็จเรื่องคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง

‘อุ๊งอิ๊ง’ร่วมงานเพื่อไทย

28 ต.ค. พรรคเพื่อไทยประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ที่จ.ขอนแก่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค สมาชิกเลือกนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นผู้นำพรรคคนใหม่

พร้อมมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ แม้ว-นายทักษิณ ชินวัตร และหลานสาวของ อาปู-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

อุ๊งอิ๊ง เปิดใจ ขอมุ่งมั่นทำงานด้วยความตั้งใจจริงในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ในฐานะลูกของคุณพ่อที่ไม่เคยลืมบุญคุณแผ่นดินไทย ไม่เคยลืมพี่น้องคนไทยที่ไม่เคยลืมท่าน และคุณพ่อหวังว่าจะได้กลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง และกราบผู้มีพระคุณ

ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดประตูการเมือง โดยเฉพาะกับการเป็น แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ‘อุ๊งอิ๊ง’บอกเป็นเรื่องของอนาคต ขอทำตรงนี้เพื่อดูตัวเองก่อนว่าเป็นอย่างไร และรอดูเสียงตอบรับของคนในพรรคด้วย

‘อุ๊งอิ๊ง’ จะเดินตามรอยพ่อแม้วและอาปูหรือไม่ เข้าสู่โหมด เลือกตั้งเมื่อไหร่รู้กัน

เลือกตั้งท้องถิ่นเดือด

การเลือกตั้งท้องถิ่นห่างหายไปกว่า 7 ปี หลังจากคสช.รัฐประหารเมื่อเดือนพ.ค.57

ประเดิมด้วยการเลือกตั้งอบจ.ไปแล้วเมื่อ 20 ธ.ค.63

ปีนี้ 28 มี.ค. เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และนายกเทศมนตรี 2,472 แห่ง

28 พ.ย.เลือกตั้งสมาชิกและนายกอบต. 5,300 แห่ง ซึ่งคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

ทุกสนามบรรดาพรรคการเมืองออกตัวไม่ส่งผู้สมัคร แต่เป็นที่รู้กันว่าใครอยู่ค่ายไหน

ส่วนคณะก้าวหน้า เปิดหน้าชัดเจน แต่ไม่ได้นายกอบจ.สักเก้าอี้ จากที่ส่ง 42 แห่ง ส่วนส.ท.ส่ง 106 แห่ง ชนะ 16 แห่ง อบต.ส่ง 196 แห่ง ชนะ 38 แห่ง

คิวต่อไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และนายกเมืองพัทยา ที่คาดว่าจะมีขึ้นกลางปี 65

นาทีนี้ชื่อของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครอิสระ ‘ดร.เอ้’ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ถือว่ามาแรง

แต่อีกหลายพรรค หลายกลุ่มรอเปิดตัวต้นปีหน้า

สนามนี้แข่งกันดุแน่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ