ศึกซักฟอกรัฐมนตรีรอบล่าสุดกำลังจะบรรเลงขึ้นแล้ว โดยมีกำหนดจะเริ่มขึ้นในวันอังคารที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย. 64 ก่อนที่จะมีการลงมติกันในวันเสาร์ที่ 4 ก.ย. ดังนั้น Sanook News เลยขอพามาดูข้อกล่าวหาที่พรรคร่วมฝ่ายค้านบรรยายไว้ในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า รัฐบาลมีความบกพร่องผิดพลาดตรงจุดใดบ้าง แล้วมีประเด็นไหนบ้างที่ควรจะติดตามในช่วง 4 วันนับจากนี้
ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 2564
“ข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายนามท้ายญัตตินี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามรายนามดังต่อไปนี้
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
- นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
- นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยมีพฤติการณ์และเรื่องที่จะอภิปราย ดังนี้
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรมและไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบันกว่า 19 เดือนเศษ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รวมศูนย์อำนาจ รวบอำนาจและมีอำนาจตามกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประธานกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผอ.ศบค. ประธานศูนย์บริหารสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ (ศบศ.) และ ผอ.ศบค.กทม.
อีกทั้งยังได้รวบอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ถึง 40 ฉบับ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมาไว้กับตนเอง ต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผยข้อมูลความจริง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วนในการเตรียมมาตรการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด และบริการประชาชนโดยทั่วถึง แต่กลับปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของตนในลักษณะ “กลืนน้ำลายตัวเอง” ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการป้องกันควบคุม การระบาดของโรคในหลายเรื่องจนมีการแพร่ระบาดของโรคจากกลุ่มก้อนเล็กๆ กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วจนยากที่จะควบคุม จากการกลายพันธุ์ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสายพันธุ์ขึ้นจากเดิม กระทั่งปัจจุบันการแพร่ระบาดดังกล่าวเข้าไปสู่ชุมชนและครัวเรือน ส่งผลให้เพียงระยะเวลา 4 เดือนเศษ มีผู้ติดเชื้อเกือบเก้าแสนคน และเสียชีวิตกว่าเจ็ดพันคน
ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดที่สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอที่จะรับรักษาผู้ป่วย “ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลว” เกินขีดความสามารถในการบริการประชาชน ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้าน บางรายทนไม่ไหวต้องตายกลางถนน ตายในรถ หรือตายคาบ้านตนเอง ตายยกครอบครัว สร้างความหดหู่ใจแก่ผู้พบเห็นและพี่น้องประชาชนอย่างยิ่ง ถึงกับมีคำกล่าวว่า “ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” คนไทยตกอยู่ในสภาพสุขภาพกายเสื่อม สุขภาพจิตทรุด ขณะที่มาตรการในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ดีว่าการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่”
ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหน้าที่และอำนาจในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักจริยธรรมและหลักวิชาการเพื่อฉีดให้กับประชาชนโดยทั่วถึงและรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ “ประชาชนทุกคนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนต้องได้ฉีด” รวมถึงวัคซีนทางเลือกอีกหลายประเภทที่ประชาชนต้องการ แต่ที่ปรากฏคือความล่าช้า เลื่อนลอย ไม่แน่นอนว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนทางเลือกหรือไม่ การตรวจหาเชื้อก็ทำได้ในปริมาณน้อย มีมาตรการไม่แน่นอน เครื่องมือในการตรวจหาเชื้อไม่เพียงพอ ไม่ทันกับการแพร่ระบาดของโรคที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากทุกวัน การจัดหาเครื่องมือเป็นไปโดยทุจริต
ส่วนมาตรการควบคุมโรคก็ไร้ทิศทาง ผิดเป้าหมายและแผนงาน และไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและความเสียหายจากมาตรการของรัฐ อาทิ การล็อกดาวน์ การสั่งปิดสถานประกอบการ โดยขาดการศึกษาวิเคราะห์ที่ดีพอ อันนำมาสู่ความเสียหายจนทำให้ภาคธุรกิจต้องเลิกกิจการจำนวนมาก การดำรงชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก เกิดภาวะตกงาน ต้องกลับไปต่อสู้ดิ้นรนยังภูมิลำเนาบ้านเกิด มาตรการที่กำหนดขึ้นทั้งจากการปิดเมือง ปิดโรงงาน กำหนดข้อห้ามต่างๆ ออกข้อกำหนดครั้งแล้วครั้งเล่า กลับไม่สามารถหยุดยั้งหรือลดการแพร่ระบาดของโรคได้จนส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ขณะที่การกู้เงินของรัฐบาลจำนวนมากแต่กลับนำมาใช้จ่ายอย่างไร้ทิศทาง ไม่ลำดับความสำคัญของการใช้เงินงบประมาณที่หมดไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ดีว่า “ประเทศตกอยู่ในสงครามของโรคระบาด ไม่ใช่สงครามของการสู้รบ” ใช้จ่ายงบประมาณและเงินกู้ โดยไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง สร้างภาระหนี้สาธารณะจนชนเพดานหนี้สาธารณะตามกฎหมาย และหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ ธุรกิจ SME ต้องล้มเลิกกิจการจำนวนมาก ร้านค้าหลายประเภทต้องปิดกิจการ คนตกงาน และมาตรการที่ออกมาไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ดังกล่าวกลับพบว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริตต่อหน้าที่ในหลายเรื่อง ทั้งการจัดหาวัคซีนที่มีพฤติการณ์ปิดบังอำพราง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ทั่วถึง เลือกปฏิบัติ และไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งแอบอ้างว่ามีวัคซีนของบริษัทในพระปรมาภิไธยเพื่อมาฉีดให้กับประชาชน เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันฯ มีผลทำให้ยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ของบรรดานักการเมือง พวกพ้อง และข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างกว้างขวางในหลายเรื่อง
ทั้งการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาและจองวัคซีนล่วงหน้า การซื้อวัคซีนก็หลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเปิดประตูให้มีการทุจริต และยังมีการทุจริตในการกระจายวัคซีนโดยเลือกปฏิบัติ รวมถึงการทุจริตในเรื่องอื่นๆ ไม่สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมทั้งที่เอกชน และโรงพยาบาลเอกชนประสงค์จะช่วยจัดหาและจัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน แต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับดำเนินการโดยล่าช้า ขาดความจริงใจ พฤติการณ์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีลักษณะ “ค้าความตาย” โดยเห็นวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ เหิมเกริม คิดการใหญ่โตในการสร้างกำไรจากวัคซีนร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยหวังการกอบโกยผลประโยชน์บนซากศพและคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน เพิกเฉยละเลยทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้รับวัคซีนที่หลากหลายและทั่วถึง ภายใต้โครงการ Covax จนกระทั่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องออกมาขอโทษประชาชน
เมื่อประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มขู่เอาผิดกับประชาชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังลุแก่อำนาจสั่งการให้มีการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างรุนแรงเกินสมควรกว่าเหตุตลอดมา ตามนิสัยความถนัดของตนเอง จนกล่าวได้ว่าประเทศกำลังขับเคลื่อนไปด้วยความคับแค้นเกลียดชัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ยังปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีหลายคนกระทำการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ละเว้นไม่ติดตามผลข้อสั่งการว่าได้รับการปฏิบัติหรือไม่ นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังเห็นชอบและปล่อยปละละเลยให้มีการเสนอและใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีสถานการณ์การสู้รบใดๆ
การบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงทำให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว ทำให้ประเทศไทยถึงจุดที่เรียกว่าตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์และกลายเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยในสายตาชาวโลก การพลิกฟื้นและการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่สามารถกระทำได้ การที่ประชาชนต้องติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก และต้องทนทุกข์ทรมานจากพิษภัยของโรคโควิด-19 เช่นนี้ เป็นผลโดยตรงจากความไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ความไม่รอบคอบระมัดระวัง ไม่สนใจต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนและประโยชน์ของประเทศชาติ การแสวงหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน
โดยที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้อง ไม่ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง “ใจดำ” ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน และจากความโอหังและการเสพติดในอำนาจของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสภาพของคนเป็นโรค “โอหังคลั่งอำนาจ” (Hubris Syndrome) ไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป
ดังนั้น หากปล่อยให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะทำให้ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตมากยิ่งขึ้นจนไม่สามารถที่จะหาสถานที่ฌาปนกิจได้ทันและเพียงพอ และไม่มีหนทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ประชาชนจะต้องทนทุกข์ทรมาน ทั้งจากโรคและการดำรงชีวิต บ้านเมืองจะไร้ซึ่งความสงบสุขร่มเย็น อันจะนำมาซึ่งความหายนะของประเทศชาติอย่างแท้จริงตามที่มีการกล่าวกันว่า “ผู้นำโง่ เราจะตายกันหมด” เพราะคนโง่ คือ ภัยอันตรายร้ายแรงเมื่อได้กลายเป็นผู้มีอำนาจ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ขาดซึ่งองค์ความรู้ ไร้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถในการกำกับดูแลงานด้านสาธารณสุขของประเทศ มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวด ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฉ้อฉล หลอกลวงประชาชน ส่งผลให้การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ดังเช่นโรคโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตของชาติอยู่ในปัจจุบัน
โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล ขาดสติปัญญา ประเมินความรุนแรงและผลกระทบของโรคนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรง โดยเห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา เป็นและหายได้เอง ประเมินว่าเป็นโรคกระจอก จึงปล่อยปละละเลยในการเตรียมความพร้อม ด้านสาธารณสุขและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโดยเฉพาะวัคซีน จนทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และรุนแรง ประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานในปริมาณที่เพียงพอ โดยการจัดหาวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า และได้วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันโรค มุ่งเน้นแต่จะจัดหาวัคซีนลึกลับแต่ด้อยคุณภาพ วัคซีนสายสัมพันธ์
ขณะที่การตรวจหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันต่อการระบาดของโรค และยังมีพฤติการณ์ในการแสวงหาประโยชน์ในการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีนและการจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจโรค พูดเท็จโอ้อวดต่อประชาชนว่าเราจะมีวัคซีนเต็มสองแขนเหลือเฟือ การจัดหาวัคซีนโดยรวมมีความผิดพลาดบกพร่องในทางยุทธศาสตร์อย่างร้ายแรง จากพฤติการณ์ในการบริหารจัดการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ทำให้เพียงระยะเวลา 4 เดือนเศษ มีผู้ติดเชื้อเกือบเก้าแสนคน และเสียชีวิตกว่าเจ็ดพันคน และมีแนวโน้มที่จะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น จนขณะนี้ไม่มีสถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอในการรักษาผู้ป่วย ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองที่บ้านและทยอยเสียชีวิตลงไป จนสถานพยาบาลบางแห่งต้องออกหลักเกณฑ์ว่าจะเลือกให้ผู้ป่วยคนใดอยู่หรือตาย ผู้ป่วยบางรายทนไม่ไหวก็นอนเสียชีวิตอยู่กลางถนนหรือในบ้านตนเอง
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของประเทศล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลยหากได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถ มองปัญหารู้และแก้ปัญหาเป็น แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลทั้งกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กลับไร้ความรู้ความสามารถที่จะทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยุติลงได้
อีกทั้งยังมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์จากการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนโดยมิได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและโอกาสของประชาชนในการได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งเป็นการกอบโกยผลประโยชน์บนคราบน้ำตาและความเป็นความตายของประชาชน
ดังนั้น หากปล่อยให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด ชีวิตของพี่น้องประชาชนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ขณะที่ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะมีเพิ่มมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีสถานที่เพียงพอที่จะทำพิธีฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตได้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญาและไร้ความรู้ความสามารถที่จะบริหารราชการของกระทรวงแรงงาน ทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบทั้งระบบ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่อว่าจงใจและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ปล่อยปละละเลยให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายปะปนอยู่ในระบบแรงงาน และเกิดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานผิดกฎหมายดังกล่าว จนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบของผู้ใช้แรงงานและโรงงานจากมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
จนผู้ใช้แรงงานต้องตกงานจำนวนมากและใช้ชีวิตตามยถากรรม นักศึกษาจบใหม่ก็ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภาคการผลิตได้รับผลกระทบอย่างหนักจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างรุนแรง และยังบกพร่องผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อใหม่ในโรงงานรายวันโดยไม่มีมาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ความล้มเหลวจากการบริหารงานของนายสุชาติ ชมกลิ่น ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมาก หากให้ดำรงตำแหน่งต่อไปยิ่งจะสร้างความเสียหายอีกเป็นทวีคูณ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มุ่งแต่แสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแล รู้เห็นและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในการประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อนำมาเป็นของตนและเครือญาติโดยการฉ้อฉล ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง
ประพฤติตัวเสเพลไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรค เข้าไปในแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบ มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตน
พฤติการณ์ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดังกล่าว นำมาซึ่งความเสียหายแก่ทางราชการ และภาพลักษณ์ของการเป็นรัฐมนตรีของประเทศไทย หากปล่อยให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป จะยิ่งสร้างความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินและผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวมจนยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญาและไร้ความสามารถในการบริหารงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้การบริหารงานด้านการเกษตรล้มเหลวทั้งระบบ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าไปมีส่วนได้เสียในการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการของหน่วยงานที่ตนกำกับดูแล
สร้างความเสียหายแก่รัฐจำนวนมาก ไม่ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ปกป้องรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จงใจเบียดบังเอาทรัพยากรของชาติไปให้พวกพ้องตนเอง ปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ ทั้งวัวและสุกร จนส่งผลเสียหายแก่เกษตรกรจำนวนมาก ขณะที่มาตรการชดเชยเยียวยาแก่เกษตรกรไม่ทั่วถึงและเพียงพอ
หากปล่อยให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะเกิดความเสียหายแก่รัฐและเกษตรกรไม่หยุดยั้ง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
มีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้ตำแหน่งหน้าที่และสื่อของรัฐเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและสร้างความแตกแยกในสังคม ทำลายบรรทัดฐานอันดีของสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
หากปล่อยให้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป ยิ่งจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกมากขึ้น”
แย้มข้อมูลเด็ด หวังน็อกรัฐมนตรีกลางสภา
ขณะที่ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มือแฉรายสัปดาห์ ระบุชัดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ มีหลักฐานทุจริตชัดเจน เชื่อว่าถ้าเปิดเผยออกมาประชาชนจะรับไม่ได้ โดยเป็นข้อมูลที่เกี่ยวโยงเรื่องความมั่นคง มีหลักฐานมีลายเซ็นชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นกรณีงบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำที่รัฐบาลยอมถอย โดยข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยงกัน
เรื่องที่ พรรคเพื่อไทย เตรียมนำไปชำแหละรัฐบาลในสภา แน่นอนว่าอันดับแรกต้องเป็น “งบกองทัพ” ที่เปิดเผยมาตั้งแต่ไก่โห่ เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำ
“ยุทธพงศ์” อุ่นเครื่องเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า ในการพิจารณาในชั้นอนุ กมธ.ฯ พบความผิดปกติต่อการเล่นแร่แปรธาตุงบประมาณ เพราะการเสนองบประมาณเพื่อจ่ายค่างวดเรือดำน้ำ ลำที่ 1 พบจำนวนเสนอขอจำนวน 1,145 ล้านบาท ทั้งที่ในปี 2564 พบรายการที่เสนอขอต่อสภาฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อชำระค่างวด ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอของบประมาณที่ไม่ครบจำนวนดังกล่าว เพื่อต้องการใช้เงินเกือบ 900 ล้านบาท เพื่อตั้งหัวเชื้อจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ ลำที่ 3
สำหรับงบประมาณกองทัพบก ก็พบความผิดปกติด้วยจากโครงการที่เสนอของบประมาณ 921 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 เพื่อทำโครงการจัดหายานยนต์สายสรรพาวุธ แต่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากการจัดซื้อ ไปเป็นซ่อมรถเก่าที่มีอายุการใช้งานกว่า 40 ปี ราคาคันละ 2.5 ล้านบาทแทน แต่กรณีดังกล่าวผู้อำนวยการสำนักงบประมาณยังไม่ลงนาม และต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทักท้วงการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพราะมองว่าหากจัดซื้อรถใหม่ จะมีราคาคันละไม่เกิน 4.2 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้อนุ กมธ.ฯ สอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังตามเก็บข้อมูลไว้ซักฟอก เช่น โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ ประจำฐานบินชายฝั่งจำนวน 4,100 ล้านบาท เป็นงบผูกพันจนถึงปีงบประมาณ 2568 โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ
มีการเสาะหาข้อมูล ทั้งลับ ทั้งแจ้ง เช่น การเจรจาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคทั้งหมด ที่ไม่มีการลบเลือนตัวอักษรสีดำ และเอกสารสัญญาการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของประเทศไทย
ด้าน “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลั่นวาจาว่า พรรคก้าวไกลพร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างลึกแน่นอน
หากจำได้ในปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ลึกมาก และหลายเรื่องรัฐบาลก็ตอบไม่ได้ ซึ่งรอบนี้ก็ไม่ต่างกัน ย้ำว่าการทำหน้าที่ของพรรคก้าวไกลยังเต็มที่อย่างแน่นอน
เพราะเราเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจมานาน ตั้งแต่จบการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา เราได้เตรียมข้อมูลมาโดยตลอด ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นต้องขอเก็บไว้ก่อน เชื่อว่าบางเรื่องประชาชนสามารถคาดการณ์ได้ว่าเป็นเรื่องไหน แต่หลายเรื่องที่จะมีการอภิปรายครั้งนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ทราบมาก่อน
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยก 33 ชั่วโมงรัวถล่ม “ประยุทธ์-อนุทิน”
ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ประธานวิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรายบุคคลที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.) จนถึงวันที่ 3 ก.ย. จะมีการอภิปรายจนถึงเที่ยงคืนครึ่งของทุกวัน จากนั้นจะลงมติไม่ไว้วางใจในวันเสาร์ที่ 4 ก.ย. 2564
โดยฝ่ายค้านมีผู้อภิปรายรวม 34 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคก้าวไกล 6 คน พรรคเสรีรวมไทย 3 คน พรรคประชาชาติ 2 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน รวมถึง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เวลารวมทั้งหมด 40 ชั่วโมง เน้นหนักไปที่การอภิปรายเปิดโปงความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข รวม 33 ชั่วโมง
“ยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมที่สุด เรามีการร้อยเรียงเนื้อหาอย่างเป็นลำดับ อภิปรายแบบเนื้อๆ หนักๆ ในเวลาที่จัดสรรกันได้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนติดตามอย่างต่อเนื่อง” นายสุทิน ระบุ
สำหรับการอภิปรายของฝ่ายค้าน จะเริ่มต้นที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเป็นผู้อ่านแถลงญัตติ จากนั้นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้ขยายความญัตติ ต่อด้วยหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแต่ละพรรค และประธานวิปฝ่ายค้านจะอภิปรายสรุป
โดยคนแรกที่จะถูกอภิปรายคือ นายกรัฐมนตรี พ่วงด้วย นายอนุทิน ที่จะเน้นประเด็นการแก้ปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจ และความผิดอื่นๆ จากนั้นจะอภิปราย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมั่นใจว่าการอภิปรายจะจบได้ในวันที่ 3 ก.ย. ก่อนลงมติในวันที่ 4 ก.ย.
ส่วนการลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น นายสุทิน เชื่อว่าแต่ละพรรคจะมีมติภายในที่คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องไปพูดคุยให้เป็นมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
“สมพงษ์” ร่อนหนังสือกำชับ ส.ส.ห้ามโหวตแตกแถว ขู่โหวตสวน ขับพ้นพรรค
ขณะเดียวกัน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลงนามในหนังสือของพรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ ส.ส.ของพรรคทุกท่านปฏิบัติตามมติของพรรคในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พร้อมอ้างถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ลงวันที่ 16 ส.ค. 2564 โดยระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมีรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายรวม 6 คน รายละเอียดตามญัตติที่อ้างถึงนั้น เพื่อให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจข้างต้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามญัตติที่พรรคได้เสนอไป จึงขอให้ ส.ส.ของพรรคได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการลงมติให้เป็นไปตามแนวทางและนโยบายของพรรคด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปราย
นายสมพงษ์ ระบุว่า ทั้งนี้ หาก ส.ส. ของพรรคท่านใดฝ่าฝืนไม่มาประชุมเพื่อลงมติหรือลงมติที่ผิดไปจากนโยบายของพรรคข้างต้น พรรคถือว่าสมาชิกผู้นั้นกระทำการอันเป็นการผิดวินัยและจริยธรรมของการเป็นสมาชิกพรรคอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษถึงขั้นให้พ้นจากสมาชิก โดยพรรคจะดำเนินการตามข้อบังคับพรรคอย่างเด็ดขาดต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด