ชอบกินของดิบ ๆ ระวัง! ชายบราซิลมีอาการไอต่อเนื่อง หาหมอพบไข่พยาธิตัวตืดเต็มตัว จนกลายเป็นหินปูนเกาะร่างกาย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แพทย์ชาวบราซิลรายหนึ่งได้สร้างความตกใจให้กับผู้คนนับล้านบนโซเชียลมีเดียด้วยการโพสต์ภาพเอกซ์เรย์ของชายคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคซิสติเซอร์โคซิส ซึ่งร่างกายเต็มไปด้วยไข่พยาธิตัวตืด
เมื่อเดือนที่แล้ว นายแพทย์วิตอร์ โบริน เดอ ซูซ่า ประจำโรงพยาบาล Hospital das Clínicas ในเมืองโบตูคาตู เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ได้โพสต์ภาพเอกซ์เรย์ของผู้ป่วยบนทวิตเตอร์ เพื่อแสดงให้ผู้ติดตามของเขาเห็นว่าการติดเชื้อพยาธิตัวตืดนั้นเลวร้ายเพียงใด
แพทย์อธิบายว่าจุดสีขาวที่มองเห็นได้ทั่วลำตัวและแขนของผู้ป่วย คือ ไข่ของพยาธิตัวตืดที่กลายเป็นหินปูนหลังจากติดเชื้อปรสิตในลำไส้ทั่วไป โชคดีที่ผู้ป่วยมาตรวจร่างกายหลังจากมีอาการไอต่อเนื่อง จึงไม่เป็นอันตรายใด ๆ จากไข่ เนื่องจากไข่ทั้งหมดกลายเป็นหินปูน แม้ว่าไข่ตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด (cysticerci) จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชายคนนี้ แต่ก็สร้างกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ของบราซิลไม่น้อย
นพ.วิตอร์ โบริน เดอ ซูซ่าอธิบายว่า “รอยโรคเหล่านี้กลายเป็นหินปูน ดังนั้นจึงไม่ใช่ ตัวอ่อนที่มีชีวิต ถ้าไม่รู้สึกอึดอัดก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติได้”
โรคซิสติเซอร์โคสิสเป็นโรคที่เกิดจากการกินไข่พยาธิตัวตืด ซึ่งถือว่าหายากในบราซิล โดยมีผู้ป่วยน้อยกว่า 150,000 รายต่อปี มักเกิดกับพยาธิตัวตืดระดับกลางในสุกรและวัว แต่บางครั้งมนุษย์ก็
สามารถได้รับพยาธิ ไปฝังตัวตามอวัยวะต่าง ๆ ตามร่างกายได้ เช่น กล้ามเนื้อ สมอง ลูกตา หัวใจ ตับ ปอด และเยื่อบุช่องท้อง เป็นต้น
ตามรายงานของภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร ที่ยังนิยมกินอาหารปรุงไม่สุก กินเนื้อสัตว์กึ่งสุก กึ่งดิบ ทั้งจากเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา หอย เช่น ลาบ หลู้ น้ำตก แหนม รวมถึงผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด
นอกจากจะได้รับเชื้อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ คนยังได้รับไข่พยาธิจากตัวเต็มวัยที่อยู่ในลำไส้ โดยคนที่มีอาการอาเจียนซึ่งจะขย้อนตัวเต็มวัยเข้าในกระเพาะ ทำให้มีไข่ออกจากปล้องสุกของตัวเต็มวัย จากนั้นเปลือกไข่จะถูกย่อยในทางเดินอาหารทำให้ตัวอ่อน (Oncospheres) ออกจากไข่ และไปเกาะที่ผนังลำไส้
จากนั้นตัวอ่อนจะไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังกล้ามเนื้อ สมอง ตับ และเนื้อเยื่ออื่น ๆ เจริญเป็นตัวอ่อนในถุงน้ำเรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) ทำให้มีรูปร่างเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 0.5 – 1.5 ซม. ซึ่งอาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่รุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ เรียกว่า ซีสติเซอร์โคซีส
อาการต่าง ๆ จะขึ้นกับตำแหน่งของซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด แต่ถ้าซิสต์นี้เกิดขึ้นในเนื้อสมอง ซึ่งอาจจะไม่มีอาการหรืออาจมีอาการ เช่น ทำให้เกิดอาการชัก มือและเท้าชา เป็นลม วิงเวียน หรือปวดศีรษะเนื่องจากซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลังทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้
ขอบคุณที่มาจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี Odditycentral