ชัยวุฒิ ยืนยันระบบธนาคารไม่ถูกแฮก! ปมลูกค้าบัตรถูกดูดเงินไม่ใช่ความผิดพลาดของแบงก์

Home » ชัยวุฒิ ยืนยันระบบธนาคารไม่ถูกแฮก! ปมลูกค้าบัตรถูกดูดเงินไม่ใช่ความผิดพลาดของแบงก์
ชัยวุฒิ ยืนยันระบบธนาคารไม่ถูกแฮก! ปมลูกค้าบัตรถูกดูดเงินไม่ใช่ความผิดพลาดของแบงก์

“ชัยวุฒิ” ยันระบบธุรกรรมการเงินไม่ได้ถูกแฮก – เตรียมคลอด พ.ร.ฎ.ควบคุมแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์

วันนี้ (18 ต.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่ประชาชนผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำนวนมากถูกทำรายการชำระเงิน โดยที่ตนเองไม่ได้มีทำธุรกรรมแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า ระบบธุรกิจทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ และทุกๆ ธนาคารมีความปลอดภัยในการกำกับดูแลอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของธนาคาร และระบบไม่ได้ถูกแฮก

รวมทั้งยังคงมีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะประชาชนมีการให้ข้อมูลกับผู้ขายแพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ขายฯ นำข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนไปใช้ในการตัดบัญชีต่อ ซึ่งถือเป็นการฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ หากแบงก์ชาติพบข้อมูลแล้ว และส่งข้อมูลต่อมายังกระทรวงฯ ก็พร้อมประสานงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด

เมื่อถามว่าหากพบผู้กระทำผิดดำเนินการจากนอกประเทศ จะสามารถเอาผิดได้หรือไม่นั้น นายชัยวุฒิ ยืนยันว่า ตามกระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินคดีได้ ทั้งข้อหายักยอกทรัพย์และฉ้อโกงประชาชน แต่ขั้นตอนอาจยุ่งยาก เพราะมีขั้นตอนระหว่างประเทศ แต่ยืนยันว่ากระทรวงฯ จะพยายามอย่างถึงที่สุด และแม้จะมีขบวนการอยู่นอกประเทศ แต่หากพบบัญชีคนไทยเกี่ยวข้องเป็นตัวกลางในการพักเงิน กระทรวงฯ จะประสานกับแบงก์ชาติเพื่อเอาผิดต่อไป

  • โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สั่งเร่งตรวจสอบ-แก้ไขปัญหาประชาชนถูกดูดเงินจากแบงก์ผิดปกติ
  • แบงก์ชาติ-สมาคมธนาคารฯ แถลงด่วนปมลูกค้าถูกตัดเงินผิดปกติ พบธุรกรรมกับร้านต่างชาติ
  • เช็กด่วน! บัตรเครดิต-เดบิต เงินถูกสูบไม่รู้ตัว วันเดียวผู้เสียหายเป็นหมื่น หลากหลายธนาคาร

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ในเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีเตรียมประกาศพระราชกฤษฎีกาควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลออนไลน์ สำหรับแพลตฟอร์มซื้อขายที่ต้องมีการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนต่อกระทรวงฯ และป้องกันการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย และกำหนดขั้นตอนการยืนยันตัวตนเพื่อชำระเงิน ซึ่งตามหลักการควรจะต้องมีการยืนยันตัวตนอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการชำระเงินโดยที่ผู้ถือบัตรเครดิตหรือเจ้าของบัญชีไม่รู้ เช่น การยืนยันผ่าน OTP, การเข้ารหัสบัตรเครดิต หรือการยืนยันข้อมูลทางกายภาพ โดยยอมรับว่าอาจมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่เพื่อป้องกันและรักษาประโยชน์ของประชาชน

ส่วนกรณีที่มีข้อความ sms จากแหล่งเงินกู้ผิดกฎหมายส่งถึงประชาชนนั้น กระทรวงฯ ได้เชิญ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายมาชี้แจงแล้ว ซึ่งหากพบการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถระงับการใช้งานได้ หรือหากประชาชนยังพบข้อความลักษณะดังกล่าว ก็สามารถแจ้งที่ กสทช. หรือกระทรวงฯ ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ รมว.ดิจิทัลฯ ย้ำเตือนประชาชนถึงการใช้ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน บัตรเดบิตและบัตรเครดิต ว่า จะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้า และผู้ที่ประชาชนจะให้ข้อมูลด้วย หรือเลือกใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จัก หรือหากประชาชนถูกแอบอ้างการใช้ข้อมูลบัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็สามารถประสานธนาคารผู้ให้บริการ เพื่ออายัดหรือยกเลิกการชำระเงินได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ