ชัชชาติย้ำกรุงเทพเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชี้รอสภากทม.อนุมัติก่อน หากไม่ผ่านก็ต้องทำสัญญาใหม่
วันที่ 21 พ.ย.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) เรียกร้องให้กทม.ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถกว่า 40,000 ล้านบาทว่า เนื่องจากเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีประเด็นทางกฎหมายอยู่เพียงประเด็นเดียว ซึ่งข้อบัญญัติงบประมาณกรุงเทพมหานครได้บัญญัติว่ากรณีกทม.ไปสร้างภาระหนี้ผูกพันจะต้องผ่านสภากรุงเทพมหานครก่อน
การทำสัญญาทั้งในส่วนการจ้างเดินรถและติดตั้งงานระบบในส่วนต่อขยายที่ 2 ที่เป็นภาระหนี้ผูกพันปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าส่วนนี้ผ่านสภากทม.แล้วหรือไม่ จึงทำหนังสือถึงเลขาสภา กทม.เพื่อสอบถามว่าส่วนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภากทม.แล้วหรือไม่ เข้าใจว่าได้มีการส่งหนังสือไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หากยังไม่ส่งจะมีการส่งหนังสือในสัปดาห์นี้
สำหรับมูลหนี้ส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 นั้น มีการผ่านสภากทม.อย่างถูกต้อง หากการดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 จบกระบวนการก็สามารถจ่ายได้ทันที ตนยืนยันว่าเมื่อกทม.เป็นหนี้ต้องจ่ายแต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้การรับโอนทรัพย์สินในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันเช่นเดียวกัน เนื่องจากกทม.จะต้องมีการชำระค่าตอบแทนในอนาคตซึ่งต้องใช้งบประมาณของกทม.มาจ่าย
ถ้าหากไม่ผ่านสภากทม.จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย อาจจะต้องทำสัญญาใหม่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในขณะมอบหมายงานนั้นมีความเห็น 2 ส่วนด้วยกันคือความเห็นแรกจะต้องผ่านสภากทม.ก่อน กับอีกความเห็นให้เกิดภาระผูกพันแล้วค่อยมาขออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม.ภายหลัง แต่แนวคิดของผู้บริหารชุดปัจจุบันถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพัน จะต้องผ่านสภา กทม.ก่อน
สำหรับประเด็นการร่วมหารือกับรมว.คมนาคมนั้น มีการนัดหมายเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นกำหนดจะหารือหลังการประชุมเอเปค มีหลายประเด็นอาทิ การขอใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) บริเวณนานาเพื่อทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร)สำหรับหาบเร่แผงลอย ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ของกรมทางหลวงชนบท(ทช.)ทำเป็นศูนย์คนไร้บ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้จะหารือการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัรชพล-ทองหล่อ และสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ จริงๆกทม.อยากจะเดินหน้าต่อ เนื่องด้วยงบประมาณกทม.จำกัด เพราะจากผลการศึกษาและการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน รถไฟฟ้าสายสีเทา กทม.จะต้องลงทุนงานด้านโยธาให้เอกชนกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่งบกทม. มีประมาณ80,000 ล้านบาท เท่านั้น
หากให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อจะดีกว่าหรือไม่ เพราะรัฐบาลมีงบมากกว่า สะดวกในการต่อเชื่อมกับเส้นทางอื่น รวมถึงการทำระบบตั๋วจะสะดวกมากกว่าด้วย