‘ชัชชาติ’ นำทีมลงพื้นที่ พร้อม “เส้น-ด้าย” ตรวจโควิดเชิงรุก พูดกับชาวชุมชน ถึงผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาที่ดินใต้ทางด่วน ปัญหาสัตว์เร่ร่อน
วันที่ 26 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อม ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมนโยบายเพื่อนชัชชาติ มาร่วมกับทีมงานกลุ่มเส้น-ด้าย นำโดย “เจตน์-ภูวกร ศรีเนียน” ลงพื้นที่ ชุมชนมะกอกกลางสวน พหลโยธินซอย 1 เพื่อตรวจ โควิด-19 เชิงรุก และเสวนากับคนในชุมชน ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีผู้สูญเสีย และได้ผลกระทบจาก โควิด-19 พร้อมพูดคุยประเด็นอื่นๆ เช่น สัตว์เร่ร่อน และ ปัญหาที่ดินใต้ทางด่วน พร้อมเดินลงพื้นที่ชุมชน
ชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวประทับใจการทำงานการตรวจโควิด-19 เชิงรุก ของภาคประชาสังคม อย่างทีมเส้น-ด้าย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังตระเวนตรวจตามชุมชนอยู่ทุกวัน การตรวจเชิงรุก และการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการตรวจ รวมถึงการให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจราคาถูก คือการแก้ปัญหา ตัดไฟแต่ต้นลม ลดการระบาดจากการเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐ และ กทม. ควรสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม เพราะเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน ในชุนมะกอกกลางสวน ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับ ที่ดินใต้ทางด่วน และ ปัญหาสัตว์เร่ร่อน ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ทาง กทม. ต้องทำหน้าที่เป็นพ่อบ้าน เป็นตัวกลางในการหารือระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ด้าน เจตน์ กล่าวต่อว่า การตอนนี้สังคมอยู่ระหว่างปรับตัวกับการที่โควิด กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนต้องตรวจเองให้ได้มากที่สุด ตลอดการทำงาน 8 เดือนของการทำงานของเส้น-ด้าย พบว่า ยังมีคนที่ไม่พร้อมตรวจโควิดด้วยตัวเองอยู่
ซึ่งตอนนี้ เมื่อเส้น-ด้าย ไปลงพื้นที่ไหน ก็พยายามสอนให้ได้มากที่สุด ตั้งเป้าว่า ประชาชนคนหนึ่ง ต้องตรวจโควิดเองให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง หากประชาชนเข้มแข็ง ต่อให้โอมิครอนระบาดก็ไม่น่ากลัว
การเชิญ ชัชชาติ มาร่วมลงพื้นที่ในวันนี้ เพราะ 8 เดือนที่ผ่านมา เส้น-ด้าย ได้ทำงานและมีชุดความรู้ที่อยากจะส่งต่อ ซึ่งหากใครได้เป็นผู้บริหารเมืองคนต่อไป เส้น-ด้ายอยากจะส่งต่อสิ่งนี้ให้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ด้าน ดร.เกษรา ทีมนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อนชัชชาติ ให้ความเห็นเสริมว่า ทีมที่จะเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ต่อจากนี้ ต้องมีหัวใจของการบริการประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ภาครัฐควรดูแลและใส่ใจความเป็นอยู่ของภาคประชาชนให้เข้มข้นกว่าเดิม ทั้งในเรื่องการตรวจโควิด และการอำนวยความสะดวกการบริการของรัฐ เนื่องจากตนเชื่อว่า หากสามารถทำเรื่องพวกนี้ได้เร่งด่วน จะเป็นรากฐานสำคัญ ในการฟื้นเศรษฐกิจกทม. ให้กลับมาได้อย่างรวดเร็วขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความรู้สึกหลังหลายพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ กทม. หวังสะท้อนคะแนนนิยมการเลือกตั้งในอนาคต โดยเฉพาะผู้ว่า กทม. ชัชชาติ ยืนยันว่า ตนไม่มีความกังวล เพราะการทำงานในนามอิสระสบายใจมากกว่า และมองว่าปัญหาของกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาเมือง ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เรื่องพรรคไม่สำคัญมากกว่าการดูแลประชาชน คะแนนนิยมวัดจากนโยบาย และความไว้ใจของประชาชนมากกว่าพรรคการเมือง หรือโลโก้พรรค
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าว สืบเนื่องจากจากสถานการณ์วิกฤติโควิด ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย กลุ่มเพื่อนชัชชาติได้ร่วมงานกับภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเส้นด้าย คลองเตยดีจัง หมอแล็บแพนด้า เราต้องรอด กระจกเงา ทำให้เรามีโอกาสทำงานและแชร์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนให้กลายเป็นทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง
การประสานงานเมืองร่วมกับกลุ่มเส้นด้ายครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการประสานงานร่วมกันระหว่างกลุ่มเพื่อนชัชชาติกับทุกเครือข่าย ที่เป็นคนทำงานตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต เพื่อให้ประชาชน คนกรุงเทพมหานครมีชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัย และเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน