มติชน จัดเวทีดีเบต เลือกตั้ง 66 “สุวัจน์” หนุนปฏิรูปกองทัพ ผุดไอเดีย ทำให้ทหารได้รับการรับยอมรับ ด้าน “พริษฐ์” ชู 5 เป้าหมายปฏิรูปกองทัพ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรม พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) เครือมติชนจัดแคมเปญ “มติชน: เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” เปิด 5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์ ซึ่งวันนี้เป็นเวทีแรก ประชันนโยบาย “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
โดยในรอบแรก ตอบคำถามจับคู่ดีเบต นายสุวัจน์ ตอบคำถาม เรื่องการปฏิรูปกองทัพ พรรคของคุณมีจุดยืนอย่างไร และมีข้อเสนออย่างไร ว่า การปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องปกติที่จะพูด เพราะเป็นส่วนราชการทั่วไป จึงอาจมีข้อบกพร่อง และต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น วันนี้กระแสสังคมกดดันและแสดงความเป็นห่วง ในส่วนกองทัพมีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหาร ถ้าทำให้มีรายได้ที่ดี มีการเลื่อนตำแหน่งไปสู่จุดสูงสุดได้ ผู้ที่ประสงค์จะเป็นทหารอาจมากพอที่ไม่ต้องพูดเรื่องเกณฑ์ทหาร
เรื่องการลงทุนของกองทัพ วันนี้ต้องยอมรับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ตนคิดว่าการลงทุนเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ใช้เงินเยอะ ดังนั้น ต้องคิดให้รอบคอบว่าอาวุธส่วนไหนควรลงทุน มีความจำเป็นหรือไม่ งบเพียงพอหรือไม่ หากบริหารและชี้แจงให้สังคมได้ทราบว่ามีความจำเป็น ไม่มีเรื่องใดที่ไม่โปร่งใส เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุน และหากนำทรัพยากรที่มีของกองทัพ เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ โรงแรม สนามกอล์ฟ ที่ดินต่างๆ มาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“ผมคิดว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้ทหารได้รับการยอมรับ และบทบาทของกองทัพก็จะไม่ใช่เรื่องความมั่นคงอย่างเดียว แต่มาช่วยเหลือประชาชน ก็จะสร้างความรู้สึกที่ดีซึ่งกันและกัน” นายสุวัจน์ กล่าว
หลังจากนั้น นายสุวัจน์ เลือกนายพริษฐ์ ตอบคำถามเดียวกันต่อ โดยนายพริษฐ์ ตอบว่า พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพ 5 เป้าหมาย 1.ทำอย่างไรให้กองทัพไม่แทรกแซงการเมือง โดยหากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็กำหนดข้อบัญญัติเพื่อปิดช่องการรัฐประหาร และจำเป็นต้องยกเลิกกลไกพิเศษ ที่กระทรวงกลาโหมมีอยู่ เช่น สภากลาโหม บอร์ดแต่งตั้งนายพล
2.กองทัพต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยจัดตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ที่ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่มความโปร่งใสเรื่องธุรกิจกองทัพ โดยดึงมาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล 3.ทำให้กองทัพเท่าทันโลก โดยลดขนาดกองทัพ เพราะภัยคุกคามความมั่นคงเปลี่ยนรูปแบบ ไม่สามารถป้องกันผ่านกำลังพลได้อีกต่อไป และยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่ใช้วิธีการสมัครใจเข้าไป
4.ทำให้ทหารไม่ถืออภิสิทธิ์เหนือประชาชน เพราะสวัสดิการนายพลหลายส่วนมากกว่าข้าราชการพลเรือนทั่วไป และ 5.ทำให้พลทหารทุกระดับชั้น มีความมั่นคงปลอดภัย มีอนาคตในการก้าวหน้า ไม่ถูกธำรงวินัย มีสวัสดิการที่เพียงพอ สอดคล้องกับค่าครองชีพ