จีน-รัสเซีย สัมพันธ์แนบแน่นไม่สนแรงกดดันชาติตะวันตก

Home » จีน-รัสเซีย สัมพันธ์แนบแน่นไม่สนแรงกดดันชาติตะวันตก


จีน-รัสเซีย สัมพันธ์แนบแน่นไม่สนแรงกดดันชาติตะวันตก

  • คาโรไลน์ เดวีส์
  • บีบีซี นิวส์ กรุงมอสโก

เมื่อ 3 นาทีที่ผ่านมา

ตู้ ซิน

ตู้ ซิน ใช้ชอล์กเขียนลงบนกระดานดำที่โรงเรียนสอนภาษาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ขณะที่นักเรียนที่เป็นผู้ใหญ่ 2 คน ของเธอกำลังมองและฟังอย่างตั้งใจ

เธอเติบโตมาในพื้นที่ใกล้กับพรมแดนของจีนที่ติดกับรัสเซีย แต่อาศัยอยู่ในกรุงมอสโกกว่า 4 ปีแล้ว

“การที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีมากก็เลยทำให้มีคนอยากจะเรียนภาษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” เธอกล่าว นักเรียนคนหนึ่งของเธอชื่อคเซเนีย โปโซโควา อธิบายว่า การเรียนภาษาจีนอาจจะเป็นประโยชน์ในการหางานทำ

ในสายตาของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน แล้วเห็นว่าความสัมพันธ์ของสองชาติไม่เคยแน้นแฟ้นขนาดนี้มาก่อน

นายสีเคยออกปากเรียกนายปูตินว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ขณะที่ผู้นำรัสเซียมองว่าจีนต้อนรับขับสู้เขาดีกว่าชาติที่สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ

ผู้นำทั้งสองหารือกันก่อนพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันศุกร์ (4 ก.พ.) ถือเป็นการพบหน้ากันครั้งแรกนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

นายปูตินเองก็เรียกนายสีว่าเพื่อนรัก และยกย่องความสัมพันธ์ของรัสเซียกับจีนซึ่งอยู่ในระดับ “ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ว่า เป็นแบบอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (ซ้าย) และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน หารือกัน 4 ก.พ. 2022

ที่มาของภาพ, Alexei DruzhininTASS via Getty Images

จีนและรัสเซียจะลงนามกันในข้อตกลงหลายฉบับ รวมถึงแผนการให้ Gazprom บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเพิ่มการส่งออกก๊าซไปจีน จาก 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็น 48,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

สื่อของทางการจีนรายงานข่าวการเยือนของนายปูตินด้วยวิดีโอฉลอง “อนาคตร่วมกัน” ของทั้งสองประเทศ และตีพิมพ์บทความที่ผู้นำรัสเซียเขียนเกือบ 1,500 คำ พูดถึงโครงการต่าง ๆ ที่จะทำร่วมกันในอนาคต ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และยังพูดถึง “ความไว้วางใจและมิตรภาพที่สืบต่อกันมานานหลายร้อยปี” ด้วย

บรรดานักประวัติศาสตร์อาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นายปูตินพูด แต่การพบกันของสองผู้นำเกิดขึ้นในห้วงเวลาสำคัญที่ความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียย่ำแย่ลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ยูเครนเคยมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีน

อเล็กซานเดอร์ กาบูอีฟ หัวหน้าโครงการรัสเซียในเอเชียแปซิฟิกที่ศูนย์คาร์เนกีในกรุงมอสโก (Carnegie Moscow Centre) กล่าวว่า การที่รัสเซียผนวกรวมไครเมีย เมื่อปี 2014 และการถูกคว่ำบาตรจากตะวันตกทำให้จีนและรัสเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น

เด็ก ๆ ในกรุงมอสโก ถือตุ๊กตามาสคอตโอลิมปิกที่จัตุรัสแดงในกรุงมอสโก

ที่มาของภาพ, China News Service

อาร์ตียม ลูคิน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟาร์อีสเทิร์น (Far Eastern Federal University—FEFU) ในเมืองวลาดิวอสต็อก เห็นด้วย สำหรับเขาแล้วนี่คือความสัมพันธ์ที่ใช้เวลาบ่มเพาะนานหลายปีและในทางจิตวิทยา รัฐบาลรัสเซียก็พร้อมอยู่แล้ว

“ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในรัฐบาลรัสเซีย เข้าใจว่าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน ไม่ได้รับการหนุนหลังจากจีน รัสเซียจะไม่อาจเผชิญหน้ากับชาติตะวันตกได้เลย”

“ทั้งสองชาติต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” แอนเน็ตต์ โบห์ร นักวิจัยของโครงการรัสเซียและยูเรเซีย ชาร์ทัม เฮาส์ (Chatham House) สถาบันว่าด้วยกิจการต่างประเทศ ในกรุงลอนดอน กล่าว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอเชื่อว่าทั้งจีนและรัสเซียสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน และจับมือกันต้านสหรัฐฯ และพันธมิตรได้

“ทั้งสองชาติไม่ต้องห่วงว่าจะถูกวิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และท้ายที่สุดแล้วต่างก็เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก”

ประธานาธิบดีปูติน ระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างสองชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 มาอยู่ที่ 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.81 ล้านล้านบาท) ในปี 2021

ที่เมืองบลาโกเวชเชนสก์ในแถบตะวันออกไกลของรัสเซีย จีนอยู่ห่างออกไปเพียงนิดเดียว ถึงขนาดที่สามารถมองเห็นตึกระฟ้าของจีนที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำได้ นั่นคือเมืองที่ตั้งของบริษัท ANK ซึ่งเริ่มส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองตั้งแต่ปี 2016 ปัจจุบันยอดขายราว 30% ส่งไปยังจีน

“ถ้าคุณต้องการเติบโตในตะวันออกไกล หุ้นส่วนหลักของคุณก็ควรจะเป็นธุรกิจและบริษัทของคนจีน” สเตพาน อินยูโตชคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ซอยา เอเอ็นเค (Soya ANK) กล่าว

“เราเพิ่งเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหุ้นส่วนชาวจีนของเราเท่านั้น และกำลังศึกษาว่า จะร่วมมือกันได้อย่างไร”

สำหรับชาติตะวันตกแล้ว ยิ่งรัสเซียใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น การคว่ำบาตรก็ยิ่งใช้ได้ผลน้อยลง

จูด บลันเชตต์ หัวหน้าโครงการจีนศึกษา ประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (Centre for Strategic and International Studies) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวว่า “ชาวอเมริกันคงรู้สึกอึดอัดใจที่จะยอมรับว่า นโยบายของเราเองที่กลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลจีน”

แม้จะพูดอย่างนั้น แต่เขาคิดว่าการคว่ำบาตรยังคงใช้ได้ผล เพราะจีนก็ยังอยูในระบบการเงินที่ครอบงำโดยสหรัฐฯ

ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก เสาสีแดงใหม่เอี่ยมเห็นได้โดดเด่นที่ด้านนอกสถานีรถไฟใต้ดินมิชูรินสกี โพรสเพียกต์ ที่เพิ่งเปิดใหม่ในกรุงมอสโก

สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโก

สถานีนี้เปิดใช้งานเมื่อเดือน ธ.ค. ทั้งตัวสถานีและเส้นทางรถไฟใต้ดินสายนี้บริษัทของจีนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ภายในสถานีมีลวดลายสัญลักษณ์แบบจีนปรากฏให้เห็น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเส้นทางมิตรภาพสายใหม่นี้จะไม่มีอุปสรรคใด ๆ

“เห็นชัดว่ารัสเซียเป็นหุ้นส่วนที่อ่อนแอกว่าและจำเป็นต้องได้ความช่วยเหลือมากกว่าเมื่อเวลาผ่านไป” อเล็กซานเดอร์ กาบูอีฟ บอก เขาเชื่อว่า ข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างจีนและรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์

“ไม่ใช่ว่าจีนพยายามจะยึดตะวันออกไกลกลับคืนไป” เขากล่าว “แต่สิ่งนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์กลายเป็นพิษก็ได้”

การคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณียูเครน อาจจะทำให้รัสเซียและจีนร่วมมือกัน แต่แอนเน็ตต์ โบห์ร ชี้ว่า จีนยังไม่ได้ยอมรับการผนวกรวมไครเมียของรัสเซียอย่างเป็นทางการ เธอเห็นว่า จีนวางตัวกลาง ๆ ด้วยการอยู่ข้างรัสเซีย แต่ก็ไม่พูดถึงความจำเป็นในการบุกยูเครน

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ