"จดหมายปรีดี" คืออะไร ทำไมหลายคนรอเปิดซองอ่าน “ประวัติศาสตร์” ของไทยขนาดนี้?

Home » "จดหมายปรีดี" คืออะไร ทำไมหลายคนรอเปิดซองอ่าน “ประวัติศาสตร์” ของไทยขนาดนี้?
"จดหมายปรีดี" คืออะไร ทำไมหลายคนรอเปิดซองอ่าน “ประวัติศาสตร์” ของไทยขนาดนี้?

เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของปี 2024 ที่หลายคนตั้งตารอคอย นั่นคือการเปิด “จดหมายปรีดี” เอกสารชิ้นสำคัญของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ที่ฝากไว้ ณ หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส โดยมีเวลาปิดผนึกยาวนานถึง 60 ปี กระทั่งล่าสุด (2 มกราคม 2024) ก็ได้เวลาเปิดจดหมายปรีดีกันแล้ว

  • “ปรีดี พนมยงค์” กับ 5 หมุดหมายของชีวิตที่ส่งผลต่อประเทศไทย
  • เพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” กับกลยุทธ์ “โหนกระแส” เพื่อเล่าประวัติศาสตร์

แล้ว “จดหมายปรีดี” ที่ทุกคนรอคอยคืออะไร ทำไมหลายคนรออ่านข้อความข้างในอย่างใจจดจ่อ Sanook พาไปรู้จัก “จดหมายปรีดี” และเรื่องราวด้านในจดหมายที่อาจเกี่ยวข้องหรือเปลี่ยนแปลง “ประวัติศาสตร์ไทย” ไปเลย

“จดหมายปรีดี” คืออะไร

จดหมายปรีดี หรือ Dossier de Pridi Panomyong คือจดหมายของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ที่เขาได้มอบไว้ให้กับรัฐบางฝรั่งเศส และถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศ (Centre des Archives diplomatiques du ministère des Affaires étrangères) โดยมีเวลาปิดผนึกยาวนานถึง 60 ปี และมีกำหนดการเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ในปี 2024  

Pridi Banomyong

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ในช่วงต้นปี พ.ศ.2561 ระบุถึงจดหมายปรีดี พร้อมตั้งสมมติฐานถึง 2 ความเป็นไปได้ของเอกสารดังกล่าว คือ 

  • เป็นเอกสารส่วนตัว “ของ” ปรีดี พนมยงค์ ที่บริจาคให้หอจดหมายเหตุ โดยระบุไว้ว่าห้ามเปิดให้คนดูจนกว่าจะถึงปี 2024 
  • เป็นเอกสาร “เกี่ยวกับ” ปรีดี พนมยงค์ อาจเป็นเอกสารข้อมูลที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสมีเกี่ยวกับปรีดีในช่วงปี 1968 – 1972 

ทำไมเปิดอ่านได้ตอนปี 2024 

จดหมายปรีดี ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเอกสารนักการทูตหรือจดหมายเหตุส่วนตัว แต่เป็นเอกสารที่เขียนและรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย และส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในปารีส เมื่อปี 1977 ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับจดหมายเหตุในขณะนั้น ระบุว่าหากเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว และ/หรือความมั่นคงของรัซ จะถูกกำหนดให้เข้าถึงได้ในอีก 60 ปีข้างหน้า จดหมายปรีดีจึงถูกกำหนดให้เข้าถึงได้ในปี 2024 นั่นเอง

Pridi's letter

ก่อนเปิดจดหมายปรีดีก็มีการคาดการณ์มากมายว่าข้อความด้านในจะพูดถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวอะไรบ้าง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475, เรื่องราวความขัดแย้งในคณะราษฎร, การก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, กรณีสวรรคตของรัชการที่ 8 และความพยายามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการคืนดีกับปรีดี เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างมีมและมุกตลกจากจดหมายปรีดีขึ้นอีกมากมาย อย่างเมื่อเปิดออกมาจะกลายเป็นสูตรข้าวมันไก่ หรือเป็นจดหมายลูกโซ่ที่ต้องส่งต่อ 

วันที่เปิดจดหมายปรีดี

วันที่ 2 มกราคม 2024 ที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยของไทย ประกอบด้วย จอมไฟเย็น, จรัล ดิษฐาอภิชัย, จรรยา ยิ้มประเสริฐ และ ยัน มาร์ฉัล ได้เดินทางไปยังหอคลังจดหมายเหตุในกรุงปารีส เพื่อเปิดจดหมายปรีดี โดยมีการไลฟ์ลดและแปลเอกสารซึ่งพิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาให้กับชาวเน็ตในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก

Pridi's letter

ทว่า จดหมายที่เปิดออกมานั้นไม่ใช่จดหมายที่ทุกคนคาดหมายเอาไว้ แต่เป็นเอกสารผิดแฟ้ม ซึ่งจรรยา ยิ้มประเสริฐ ก็ได้ระบุว่า “เอกสารผิดแฟ้ม #จดหมายปรีดี” พร้อมอธิบายว่าเธอไม่ได้เป็นคนรับเอกสาร จึงไม่ได้ตรวจสอบว่าเอกสารที่เจ้าหน้าที่หยิบมาเป็นเอกสารชุดที่เปิดเผยแล้ว ไม่ใช่ชุดที่ทุกคนกำลังรอคอย อย่างไรก็ตาม จะเผยแพร่เอกสารชุดที่ทุกคนรอคอยในวันที่ 5 มกราคม 2024

รออีกไม่กี่วันก็จะได้รับรู้เรื่องราวที่ทุกคนรอคอยกันแล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ