งานวิจัยอเมริกันชี้ รับประทานไขมันจากพืช ลดเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง

Home » งานวิจัยอเมริกันชี้ รับประทานไขมันจากพืช ลดเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง


งานวิจัยอเมริกันชี้ รับประทานไขมันจากพืช ลดเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง

งานวิจัยอเมริกันชี้ – วันที่ 9 พ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานจากการประชุมวิทยาศาสตร์โดยสมาคมหัวใจอเมริกันประจำปี 2564 มีการนำเสนอการศึกษาทางการแพทย์ว่า การรับประทานไขมันจากพืชสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง.

การศึกษาดังกล่าว ซึ่งยังไม่ผ่านพิชญพิจารณ์ (peer review) พบว่า ผู้รับประทานไขมันจากพืชมากที่สุดมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยลงร้อยละ 12% เมื่อเทียบกับผู้รับประทานน้อยที่สุด. ในทางกลับกัน ผู้รับประทานไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ในปริมาณสูงสุดมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้รับประทานไขมันน้อยที่สุดในประเภทเดียวกันนั้น 16%.

ดร.หวัง เฟิงเหล่ย์ นักศึกษาหลังปริญญาเอก ภาควิชาโภชนาการที่ T.H. Chan School of Public Health มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า “ผลการวิจัยของเราบ่งชี้ว่า ชนิดของไขมันและแหล่งอาหารต่างๆ ของไขมันมีความสำคัญมากกว่าปริมาณไขมันในอาหารทั้งหมดในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคหลอดเลือดสมอง.”

ประเภทของไขมันในอาหาร

มนุษย์ต้องการไขมันเพื่อความอยู่รอด. ไขมันช่วยร่างกายมนุษย์ดูดซับวิตามินจากอาหาร ทำให้ฮอร์โมนทำงาน ผลิตเซลล์ ให้พลังงานและรักษาความอบอุ่น. แต่ต้องไขมันไม่อิ่มตัวจากผัก ถั่ว และปลาไขมัน ที่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ และช่วยให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดี.

อลิซ ลิคเทนชไทน์ ผู้อำนวยการและนักวิทยาศาสตร์อาวุโส ห้องปฏิบัติการโภชนาการหัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัยทัฟส์ในเมืองบอสตัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาดังกล่าว ตั้งคำถามว่าแหล่งที่มาหลักของไขมันพืชหรือผักคืออะไร?

“เป็นน้ำมันพืชเหลว เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง และน้ำมันอีกกลุ่ม เช่น น้ำมันคาโนลาและน้ำมันมะกอก ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง. น้ำมันเหล่านี้เป็นน้ำมันประเภทหนึ่งที่ควรใช้เตรียมอาหาร” ลิคเทนชไทน์อธิบาย.

ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์มักไม่ดีต่อสุขภาพ ไขมันอิ่มตัวมักมาจากเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป และมีแนวโน้มเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง. ในการศึกษาครั้งนี้ เนื้อสัตว์ที่ใช้ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เบคอน ไส้กรอก โบโลน่า ฮอทดอก ซาลามี่ และเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ.

 

ดร.แฟรงก์ หู หัวหน้าแผนกโภชนาการที่ T.H. Chan School of Public Health มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้เขียนการศึกษาโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวในการให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นก่อนหน้านี้ว่า

“การลดการบริโภคเนื้อแปรรูปและเนื้อแดงปานกลางภายในรูปแบบการกินอย่างมีสุขภาพดี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวม 13%, อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 14%, อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 11%, และความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ 24%.”

ที่น่าสนใจคือว่า ไขมันจากนม รวมถึงชีส เนย นม ไอศกรีม และครีม ไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคหลอดเลือดสมอง. มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องในหมู่นักวิจัยโภชนาการเกี่ยวกับบทบาทของผลิตภัณฑ์นมในอาหาร แหล่งแคลเซียมที่สำคัญ.

แนวทางปฏิบัติอาหารสำหรับชาวอเมริกันในปี 2563-2568 ของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา เรียกร้องการบริโภคผลิตภัณฑ์นม 3 มื้อต่อวัน โดยควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันต่ำและไม่มีไขมัน.

 

การศึกษาระยะยาว

การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล 27 ปี จากพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพเกือบ 120,000 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโภชนาการที่ดำเนินมายาวนานที่สุด 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ การศึกษาสุขภาพของพยาบาล และการศึกษาติดตามผลผู้เชี่ยวชาญสุขภาพ”

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสังเกต ดังนั้น ผลลัพธ์ไม่สามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคไขมันกับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้. เป็นเพียงการเชื่อมโยงกันเท่านั้น. ข้อจำกัดอื่นๆ ของการศึกษานี้รวมถึงประชากรผิวขาวส่วนใหญ่ (97%) และความจริงจากการที่คนรายงานพฤติกรรมการบริโภคอาหารของตนเองทุก 4 ปี.

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ยังสอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงประโยชน์ของอาหารจากพืชเทียบกับอาหารจากสัตว์.

“คุณลักษณะหลักของรูปแบบการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจคือการสร้างสมดุลระหว่างการบริโภคแคลอรี่กับความต้องการแคลอรี่ เพื่อได้และรักษาน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ เลือกธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนจากพืชและไม่ติดมัน และผักและผลไม้หลากหลายชนิด จำกัดเกลือ น้ำตาล ไขมันสัตว์ อาหารแปรรูป และแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ไม่ว่าอาหารจะปรุงหรือบริโภคที่ใด” อลิซ ลิคเทนชไทน์กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ