หากจะต้องเข้ารับการผ่าตัด หลายคนอาจไม่เคยคำนึงถึงเรื่องที่ว่า ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้เราจะเป็นชายหรือหญิง
หากจะต้องเข้ารับการผ่าตัด หลายคนอาจไม่เคยคำนึงถึงเรื่องที่ว่า ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้เราจะเป็นชายหรือหญิง
แต่หากคุณเป็นผู้หญิงก็อาจจะต้องคิดทบทวนถึงปัจจัยนี้เพราะมันอาจจะช่วยรักษาชีวิตของคุณได้ เนื่องจากงานวิจัยล่าสุดจากแคนาดาพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32% หากเข้ารับการผ่าตัดจากหมอผู้ชายเมื่อเทียบกับหมอผู้หญิง
นพ. คริสโคเฟอร์ วอลลิส ผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ไม่สามารถอธิบายได้ถึงสาเหตุของเรื่องนี้ และกำลังทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
ดังนั้นบีบีซีจึงสอบถามความเห็นของบรรดาศัลยแพทย์หญิงว่าทำไมคนไข้หญิงจึงอาจปลอดภัยกว่าเมื่อเข้ารับการผ่าตัดโดยพวกเธอ
- หญิงอังกฤษ 2 คนอาจเสียชีวิตเพราะหมอแพร่เชื้อโรคเริมให้ระหว่างผ่าคลอดบุตร
- แพทย์แคนาดาถูกถอนใบอนุญาตหลังใช้อสุจิตัวเองผสมเทียมให้คนไข้
- โรงพยาบาลใหญ่ระดับชาติของเคนยาผ่าตัดสมองคนไข้ผิดตัว
เข้าใจความเจ็บปวด
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Surgery ชิ้นนี้ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้กว่า 1.3 ล้านคน ที่เข้ารับการรักษาจากศัลยแพทย์ 2,937 คน ในรัฐออนแทรีโอ ของแคนาดา ระหว่างปี 2007 – 2019
ผู้จัดทำอ้างว่า นี่คืองานวิจัยชิ้นแรกที่ตั้งสมมุติฐานว่าด้วยความสอดคล้องระหว่างเพศของคนไข้กับศัลยแพทย์ และผลลัพธ์ของการผ่าตัด
งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ฟันธงแน่ชัดว่า เหตุใดคนไข้หญิงจึงมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเมื่อเข้ารับการผ่าตัดจากหมอผู้ชาย แต่ได้อ้างอิงถึงคำอธิบายที่อาจเป็นไปได้จากตำราที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่อาจช่วยอธิบายผลการวิจัยนี้คือ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเจ็บปวดที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิง โดยพบว่าหมอผู้ชายมัก “ประเมินความรุนแรงของอาการป่วยของคนไข้หญิงต่ำเกินไป”
พญ. โอนีกา วิลเลียมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทัฟต์ส ในนครบอสตัน ของสหรัฐฯ เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนี้
เธออธิบายให้บีบีซีฟังว่า หมอผู้ชายมักมีอคติและมองข้ามคำโอดครวญของผู้หญิง “พวกเขามักคิดว่าผู้หญิงมีความกังวลและตีโพยตีพายเรื่องอาการเจ็บป่วยมากกว่าผู้ชาย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ เวลาที่คนไข้หญิงบ่นถึงอาการเจ็บป่วยภายหลังการผ่าตัด” ส่งผลให้ความรุนแรงของโรคถูกเพิกเฉยและลดทอนความสำคัญลง
พญ. เจนนิเฟอร์ สวอห์น ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหลอดเลือดที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวลล์ เฮลต์ ในนิวยอร์ก มีความคิดเห็นตรงกัน
เธอคิดว่า อัตราการเสียชีวิตของคนไข้หญิงที่สูงขึ้นเมื่อรับการผ่าตัดจากหมอผู้ชายนั้น เป็นเพราะ “ศัลยแพทย์ชายมักไม่เชื่อ หรือไม่ให้ความสำคัญกับความกังวลและอาการของคนไข้หญิง”
ทัศนคติ
พญ.แนนซี แบ็กซ์เตอร์ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่ที่โรงพยาบาลเซนต์ไมเคิลส์ แห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโต ก็เชื่อว่า “ผู้คนมักละเลยความเจ็บปวดของผู้หญิงมากกว่าของผู้ชาย” แต่ก็ชี้ว่า อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย
เธอกล่าวกับบีบีซีว่า อาจมีความแตกต่างระหว่างศัลยแพทย์ผู้ชายและผู้หญิงในแง่ของการตัดสินใจ และวิธีการปฏิบัติต่อคนไข้หญิงและคนไข้ชาย
พญ. แบ็กซ์เตอร์ อ้างอิงถึงงานเขียนเรื่องการประเมินคนไข้ที่ร้องเรียนถึงความผิดปกติทางหัวใจ ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ศัลยแพทย์หัวใจหญิงมักจัดการกับคนไข้หญิงได้ดีกว่าศัลยแพทย์หัวใจที่เป็นผู้ชาย ส่งผลให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ชี้ถึงการที่สังคมมีทัศนคติแตกต่างกันระหว่างแพทย์ผู้หญิงและแพทย์ผู้ชาย โดยยกตัวอย่างว่า ศัลยแพทย์หญิงมักถูกลงโทษหากผลลัพธ์ในการรักษาออกมาไม่ดี โดยผู้คนมักโทษว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากทักษะในการทำงานของพวกเธอ แต่หากศัลยแพทย์ชายมีผลการทำงานออกมาไม่ดี ผู้คนกลับมองว่าเป็นเรื่องโชคร้ายที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
การสื่อสาร
พญ. วิลเลียมส์ ชี้ว่า อีกปัจจัยที่จะช่วยอธิบายงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ การที่แพทย์หญิงมีความฉลาดทางอารมณ์ ความเอาใจใส่ และทักษะการสื่อสารที่ดีกว่า
พญ. คิม เทมเพิลตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแคนซัส เชื่อว่า วิธีการที่ศัลยแพทย์หญิงเข้าหาคนไข้อาจช่วยอธิบายถึงความแตกต่างนี้
เธอระบุว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้คนไข้รู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผยข้อมูลที่อาจมีความสำคัญต่อการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม
งานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้อาจไม่ดีเท่าที่ควร หากคนไข้เป็นผู้หญิงและหมอผู้ให้การรักษาเป็นผู้ชาย
ในงานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ เผยให้เห็นว่า คนไข้หญิงมักไม่ค่อยแจ้งถึงอาการเจ็บปวดหรือภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดให้หมอผู้ชายทราบ
พญ. สวอห์น เห็นด้วยกับเรื่องนี้ “คนไข้หญิงอาจกลัวศัลยแพทย์ผู้หญิงน้อยกว่า ดังนั้นจึงมักสื่อสารพูดคุยด้วยอย่างเปิดเผย และเชื่อฟังคำแนะนำมากกว่า”
ความไม่สมดุลระหว่างศัลยแพทย์ชายและหญิง
นพ. วอลลิส หัวหน้าผู้จัดทำวิจัยชิ้นนี้เน้นย้ำว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นแนวโน้มของระดับประชากร และไม่ได้หมายความว่าคนไข้หญิงจะต้องมีอาการแย่เมื่อรักษากับศัลยแพทย์ผู้ชายเสมอไป
นอกจากนี้ งานวิจัยยังเผยให้เห็นสัดส่วนที่แตกต่างกันมากระหว่างศัลยแพทย์ชายและหญิง โดยในการผ่าตัดคนไข้กว่า 1.3 ล้านราย ในรัฐออนแทรีโอ พบว่า 57% ของคนไข้เป็นผู้หญิง แต่ศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดกลับมีผู้หญิงอยู่ไม่ถึง 11%
สัดส่วนของศัลยแพทย์หญิงที่น้อยนิดเช่นนี้ สร้างความเศร้าใจให้แก่ พญ. สวอห์น
เธอกล่าวว่า หากเป็นเรื่องจริงที่ว่า คนไข้หญิงมักจะมีผลการรักษาดีกว่าเมื่อเข้ารับการผ่าตัดจากหมอผู้หญิง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม “เราก็จำเป็นที่จะต้องผลิตศัลยแพทย์หญิงเพิ่มขึ้นในสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับคนไข้หญิง”
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแคนาดา แต่ยังมีในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือสหราชอาณาจักร ที่มีผู้ชายเลือกเรียนเป็นศัลยแพทย์มากกว่าผู้หญิง
พญ. วิลเลียมส์ ระบุว่า ผู้หญิงที่เลือกทำอาชีพนี้ยังมักเผชิญปัญหาการเหยียดเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้ประสบพบเจออยู่แทบทุกวัน
ดังนั้น การขจัดปัญหาการเหยียดเพศ และอคติทางเพศ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยดึงดูดให้ผู้หญิงเข้าสู่วิชาชีพนี้มากขึ้น
แต่สำหรับตอนนี้ ดูเหมือน พญ. แบ็กซ์เตอร์ จะพูดถูกว่า “เวลาที่ผู้คนนึกถึงศัลยแพทย์ พวกเขามักคิดถึงผู้ชาย”
…………………………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว