การเหยียดเชื้อชาติ ถือเป็นอาชญากรรมที่พบได้บ่อยครั้งในสนามฟุตบอล แม้จะมีการปราบปรามอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่การโจมตีคู่แข่งด้วยความแตกต่างทางสีผิวก็ยังไม่เคยหายไปจากโลกลูกหนัง
หนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการเหยียดผิวในสนามฟุตบอล คือ “ฮังการี” ซึ่งนอกจากจะสร้างชื่อจนฉาวไปทั่วโลกแล้ว การกวาดล้างพฤติกรรมที่เลวร้ายเหล่านี้ยังแทบไม่เคยเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลที่ปกครองประเทศ มีประวัติเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศสภาพยาวเป็นหางว่าว
Main Stand ชวนคุณมาทำความเข้าใจเหตุผลที่แฟนฮังการีเหยียดผิวคู่แข่งไม่เลิก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของแนวคิดอันเลวร้าย ที่ฝังรากลึกในประเทศแห่งนี้มานานเกือบร้อยปี
ความเกลียดชังที่ฝังรากลึก
สำหรับชาวฮังการี ลัทธินิยมความสูงสุดของคนผิวขาว (White supremacist) ถือเป็นอุดมการณ์ที่ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดและวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศนี้ พฤติกรรมเหยียดผิวที่คนทั่วโลกเห็นในสนามฟุตบอล จึงเป็นเพียงดอกผลของต้นไม้แห่งการเหยียดผิว ที่เติบโตและฝังรากลึกในฮังการีมานานหลายสิบปี
ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปยุโรปคือ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ถึงกาลล่มสลายในปี 1918 เนื่องจากพวกเขาพ่ายแพ้สงครามแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร นำมาสู่การล่มสลายของระบอบจักรวรรดิทั้งหมดในยุโรป โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ เกิดการสถาปนาประเทศใหม่มากมายในทวีปยุโรป
สำหรับชาวฮังการี ผลลัพธ์ของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือความบอบช้ำเกินกว่าจะยอมรับได้ จากที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเป็นมหาอำนาจที่ปกครองภูมิภาคยุโรปกลาง แต่หลังจากแพ้สงคราม ฮังการีเสียเขตแดนไปเกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ ให้กับประเทศหน้าใหม่ พวกเขากลายเป็นแค่ประเทศขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ไม่ต่างจาก เชโกสโลวาเกีย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจักรวรรดิ
เมื่อความภูมิใจของชาวฮังการีถูกย่ำยี กระแสชาตินิยมจึงโหมกระพือเหมือนไฟลามทุ่ง เมื่อนาซีเยอรมันเข้ามายึดครองประเทศแห่งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 1944 ทางการฮังการีร่วมกับนาซี ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี เพื่อกวาดล้างชาวยิวในประเทศจนสิ้นซาก มีรายงานออกมาภายหลังว่า ชาวยิวในฮังการีเสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปเกือบ 5 แสนคน ทั้งที่นาซีเยอรมันใช้เวลาในการปฏิบัติการกวาดล้างชาวยิวในฮังการีเพียง10 เดือน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กระแสชาตินิยมที่ปรากฏในใจชาวฮังการียังไม่จางหาย พวกเขามองหาพื้นที่ใหม่ที่จะแสดงความเกรียงไกรของประเทศอีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลานั้นเอง ขุนพล “เมจิก แมกยาร์” หรือฟุตบอลทีมชาติฮังการี ก็ประกาศตัวขึ้นมาเป็นทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก
ตลอดช่วงยุค 1930s-1960s ฟุตบอลทีมชาติฮังการี ประสบความสำเร็จมากมายในวงการฟุตบอลระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น รองแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัย (1938, 1954), อันดับสามฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (1964), เหรียญทองกีฬาฟุตบอลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก (1952, 1964, 1968) และแชมป์รายการเซ็นทรัลยุโรปอินเตอร์เนชันแนล คัพ ฤดูกาล 1948–53
สำหรับชาวไทยที่มีโอกาสอ่านความยิ่งใหญ่ของทัพเมจิก แมกยาร์ ผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ย่อมมีความรู้สึกชื่นชมความแข็งแกร่งของทีมฟุตบอลฮังการีเมื่อวันวาน แต่สำหรับชาวยุโรปที่สัมผัสความรุ่งเรืองของฟุตบอลฮังการีด้วยตัวเอง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่นับความสวยงามในสนามฟุตบอล ไม่มีประเทศไหนอยากต้อนรับแฟนบอลชาวฮังการี โดยเฉพาะตลอดช่วงปี 1950s ที่กลุ่มอัลตร้าเต็มไปด้วยแฟนบอลชาตินิยมขวาจัด บางสโมสรในประเทศฮังการี เช่น เฟเรนซ์วารอส (Ferencvaros) ถูกประณามโดยรัฐบาล ในฐานะ “บ้านของพวกฟาสซิสต์ปฏิกิริยานิยม”
เหตุผลที่สนามฟุตบอลในฮังการีเต็มไปด้วยอุดมการณ์ขวาจัด นั่นเป็นเพราะประเทศฮังการีถูกปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ นับตั้งแต่ปี 1945 แม้จะไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่ฮังการีถือเป็นหนึ่งในรัฐบริวารของมหาอำนาจสีแดง และรับวิธีการปกครองแบบลัทธิสตาลินเข้ามาเต็ม ๆ
เมื่อประเทศถูกปกครองด้วยอุดมการณ์ซ้ายจัด สนามฟุตบอลจึงเป็นเพียงเวทีแสดงออกเดียวที่เหลืออยู่ของประชาชนผู้นิยมแนวคิดขวาจัด แต่วันคืนอันรุ่งเรืองของฝ่ายขวาในสนามฟุตบอลคงอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะหลังจากการปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 จบลงด้วยชัยชนะของสหภาพโซเวียต และความพ่ายแพ้ของนักปฏิวัติชาตินิยม แนวคิดขวาจัดถูกกวาดล้างจากฮังการี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำในวงการฟุตบอลฮังการี เมื่อแฟนบอลส่วนใหญ่หันหลังให้กับสนามฟุตบอล หลังความคิดทางการเมืองของพวกเขา ถูกห้ามแสดงออกอีกต่อไป
ค่าเฉลี่ยแฟนบอลในฮังการีลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากวันนั้น จาก 17,000 คน เหลือ 7,000 คน ก่อนลดเหลือเพียง 3,000 คน ในช่วงทศวรรษ 1980s ฟุตบอลฮังการีจมอยู่กับความมืดมิดมานานกว่า 30 ปี แต่แนวคิดหนึ่งที่ยังคงลุกโชนและแพร่กระจายออกไปทั่วประเทศ คืออุดมการณ์ชาตินิยม
หลังจากประเทศแห่งนี้ถูกปลดปล่อยจากอำนาจของสหภาพโซเวียตในปี 1989 ฮังการีกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความขุ่นเคือง อิสรภาพที่ประชาชนได้รับจากเผด็จการคอมมิวนิสต์ กลายเป็นข้ออ้างในการปลดปล่อยความเกลียดชังและอคติทางเชื้อชาติ ที่ถูกแสดงออกอย่างเปิดเผยในสมัยสาธารณรัฐที่สาม
รัฐบาลไม่ช่วยอะไร
หากย้อนกลับไปมองวันวานที่ฟุตบอลฮังการีถูกปกครองโดยฮูลิแกนหัวรุนแรง จนแฟนบอลทั่วไปหนีหาย ทุกวันนี้ รัฐบาลได้เข้ามาควบคุมและจัดระเบียบฟุตบอลภายในประเทศอีกครั้ง สนามฟุตบอลกลับมาเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมครอบครัว และแฟนบอลเฉลี่ยของการแข่งขันภายในประเทศ มีตัวเลขสูงขึ้นจนน่าพอใจ
พรรคการเมืองที่บทบาทเบื้องหลังการปฏิรูปวงการฟุตบอลตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ “ฟิแดส” (Fidesz) พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ชนะการเลือกตั้งและบริหารประเทศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2010 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี วิกตอร์ ออร์บาน โดยแนวทางสำคัญที่รัฐบาลต้องการปรับปรุง คือลดพฤติกรรมเหยียดผิวที่เกิดขึ้นจากสโมสรฟุตบอลฮังการีต่อสายตาชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาลงแข่งขันในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก หรือ ยูฟ่า ยูโรปา ลีก
เฟเรนซ์วารอส สโมสรที่เคยเป็นบ้านของฟาสซิสต์ปฏิกิริยานิยม จึงถูกปฏิรูปโดยรัฐบาล เริ่มจากการส่ง กาบอร์ คูบาตอฟ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฟิแดส เข้าไปบริหารสโมสรเฟเรนซ์วารอส พร้อมกับออกนโยบายกวาดล้างแฟนบอลเหยียดสีผิวอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้แฟนบอลขวาจัดหัวรุนแรงหายไปจากสโมสรแห่งนี้พอสมควร
อย่างไรก็ตาม หากเรามองไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศฮังการี จะพบว่า การแก้ไขปัญหาทั้งหมดของรัฐบาลจากพรรคฟิแดส เป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอดให้ตัวเองดูดีในสายตาชาวโลก เพราะการเหยียดผิวยังคงปรากฏอยู่เป็นปกติจากแฟนบอลสโมสรอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันระดับยุโรป การล้อเลียนนักเตะผิวดำด้วยท่าทางของลิง คือสิ่งที่พบเห็นได้ทุกแมตช์เดย์
เมื่อบวกกับความจริงที่ ฟิแดส ถือเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมฮังกาเรียน, อนุรักษ์นิยมชาตินิยม และต่อต้านผู้อพยพ ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลฮังการีชุดปัจจุบันไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเหยียดสีผิวเลย ในเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคจ็อบบิค (Jobbik) มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคยออกความเห็นให้ลิสต์ชื่อชาวยิวในฮังการี, กล่าวข้อความสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม Hungarian Guard กลุ่มก่อการร้ายขวาจัดผิดกฎหมายที่นิยมแนวทางฟาสซิสต์
เมื่อนักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ ตัดสินใจแสดงออกด้วยการคุกเข่า เพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวก่อนเกมอุ่นเครื่องกับทีมชาติฮังการี ที่ ซัลซ่า เฟเรนซ์ สตาดิโอน เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 จะเริ่มต้น ก็มีเสียงโห่ดังมาจากแฟนบอลนับหมื่นคนทั่วสนาม ท่ามกลางความอื้อฉาวที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีฮังการีได้ออกมาให้ความเห็นที่อื้อฉาวยิ่งกว่า
“ทุกชาติจำเป็นต้องแบกรับภาระจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง พวกเขาจำเป็นต้องแยกแยะเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง” วิกตอร์ ออร์บาน แสดงความเห็นต่อการคุกเข่าของนักเตะทีมชาติไอร์แลนด์
เมื่อผู้นำประเทศสนับสนุนพฤติกรรมเหยียสีผิวทางอ้อม บรรดากองเชียร์ฮังการีก็ยิ่งได้ใจ โดยเฉพาะในเกมฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก เมื่อเดือนกันยายน 2021 ที่ทีมชาติอังกฤษบุกไปเอาชนะฮังการีถึงถิ่น 4-0 การเหยียดสีผิวของแฟนบอลเจ้าถิ่นก็ทวีความรุนแรงขึ้นมาก ราฮีม สเตอร์ลิง ถูกเขวี้ยงปาด้วยแก้วเบียร์และพลุแฟลร์หลังทำประตูได้ ส่วนการเหยียดผิวด้วยเสียงและท่วงท่าของลิง สามารถพบเห็นได้ตลอด 90 นาที
พฤติกรรมที่ปราศจากความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้ยูฟ่าลงดาบทีมชาติฮังการี ด้วยการต้องลงเล่นในอีกสองเกมข้างหน้าโดยปราศจากแฟนบอลเข้าชม แต่การลงโทษลักษณะนี้เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลฮังการีกลับเข้าสู่สนาม ภาพของกองเชียร์ที่เต็มไปด้วยรอยสักซึ่งมีข้อความเหยียดสีผิว และธง “อารยันอัลตร้า” ที่เชิดชูความสูงสุดของคนผิวขาวจะกลับมาอีกครั้ง
ปัญหาเหยียดสีผิวในสนามฟุตบอลฮังการีจึงไม่เคยหายไป เพราะการแก้ไขปัญหาที่ไม่จริงจังของรัฐบาล ซึ่งพูดกันตามตรงว่า ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะถ้าย้อนกลับไปช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประเทศฮังการีเพิ่งผ่านร่างกฎหมายต่อต้านเพศทางเลือก ด้วยคะแนนเสียง 157-1 โหวต นำมาสู่การเปิดไฟสีรุ้งใน อัลลิอันซ์ อารีน่า เพื่อแสดงข้อความต่อต้านกฎหมายดังกล่าว ในเกมที่ทีมชาติเยอรมันพบกับทีมชาติฮังการี ในศึกฟุตบอลยูโร 2020 ที่ผ่านมา
หากรัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหา การเหยียดสีผิวย่อมไม่มีวันจางหายไปจากสนามฟุตบอล เพราะถึงอย่างไร กีฬาและการเมืองย่อมมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่ง จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่อาชญากรรมซึ่งนานาประเทศไม่ยอมรับ ยังถูกปกป้องและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นโดยฝ่ายบริหารประเทศ ที่มองไม่เห็นว่าความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและเพศสภาพเป็นเรื่องสำคัญ