"คู่รัก" ที่อยู่ด้วยกัน ช่วยลดเสี่ยงโรค "หัวใจ" ได้ เพียงปรับไลฟ์สไตล์

Home » "คู่รัก" ที่อยู่ด้วยกัน ช่วยลดเสี่ยงโรค "หัวใจ" ได้ เพียงปรับไลฟ์สไตล์
"คู่รัก" ที่อยู่ด้วยกัน ช่วยลดเสี่ยงโรค "หัวใจ" ได้ เพียงปรับไลฟ์สไตล์

งานวิจัยชี้ คู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนานๆ สามารถช่วยกันปรับไลฟ์สไตล์เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจอย่างได้ผล

งานวิจัยที่รวบรวมผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจกว่า 800 คน ถูกจัดกลุ่มแบบสุ่มโดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลพร้อมกับคนรักโดยนางพยาบาล ส่วนอีกกลุ่มเป็นการดูแลตามปกติในลักษณะเดียวกันแต่ทำคนเดียว โปรแกรมดูแลสุขภาพเน้นไปที่การลดน้ำหนัก เพิ่มการออกกำลังกาย และเลิกบุหรี่ หลังจากทำการทดลองไป 12 เดือน ผลปรากฏว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการดูแลสุขภาพพร้อมกับคนรัก มีสุขภาพดีขึ้นในทางใดทางหนึ่งราว 37% สูงกว่ากลุ่มที่ดูแลสุขภาพคนเดียวที่อยู่ที่ 26% ปัจจัยที่เห็นผลมากที่สุดคือ การลดน้ำหนัก ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ดูแลสุขภาพพร้อมคนรักสามารถลดน้ำหนักได้เป็นผลสำเร็จมากกว่า 

น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานทำให้ร่างกายมีปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีสูง ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อเบาหวานประเภทที่ 2 อีกด้วย ดังนั้นเมื่อสามารถลดน้ำหนักได้สำเร็จ ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจก็จะลดลงตามไปด้วย

คนรักช่วยให้เราสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร?

การอยู่ร่วมกับคนรัก สามารถเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ อาหารการกิน ปริมาณอาหารที่กิน และอื่นๆ ได้อย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง

อาหารที่กิน: ทุกอย่างที่เราวางบนโต๊ะอาหารคือทุกสิ่งที่เรากิน เมื่อเราอยู่กับคนรัก อาหารจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความชอบของทั้งเราและเขา รายการอาหารทุกอย่างที่ซื้อเข้าบ้านก็จะเปลี่ยนไป หากทั้งคู่ตั้งใจปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นั่งกินด้วยกัน แม้กระทั่งการเลือกร้านอาหารที่กินด้วยกัน เมนูอาหารที่เรากินก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความชอบของอีกฝ่ายได้ ดังนั้นถ้าทั้งคู่ตั้งใจรักษาสุขภาพด้วยกันทั้งคู่ จะมีโอกาสมากกว่าที่ทั้งคู่จะได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมกัน

อาหารที่อยากแนะนำ ได้แก่ ผัก และผลไม้เยอะๆ โปรตีนไขมันต่ำ ไขมันดี คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน เป็นต้น

ปริมาณอาหารที่กิน: การเตรียมอาหารสำหรับกินด้วยกันสองคำ ช่วยลดปริมาณอาหารที่กินให้น้อยลงได้ด้วยการแบ่งปันอาหารกินด้วยกัน โดยที่เหลืออาหารทิ้งน้อยที่สุด ลองจัดอาหารให้สมดุล และดีต่อสุขภาพ โดยให้ครึ่งจานเป็นผักที่ให้พลังงานต่ำ ¼ ของจานเป็นโปรตีนไขมันต่ำ และอีก ¼ ของจานเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน

สถานที่ที่กิน: ในช่วงโรคระบาด ทำให้เรากินข้าวที่บ้านมากขึ้น แม้จะกินอาหารจากร้านอาหาร ก็มักเป็นการสั่งมาส่งที่บ้าน หรือซื้อกลับบ้าน แต่ก็ยังมีหลายคนที่หันมาทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้นด้วย การทำอาหารกินเองช่วยให้เราควบคุมคุณภาพของส่วนประกอบของอาหาร การปรุงอาหารไม่ให้เค็มหรือมันจนเกินไป รวมถึงร้านอาหารที่จะสั่งมากินที่บ้าน คนรักของเราก็ช่วยเลือกร้านที่มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน

เคล็ดลับกินอาหารนอกบ้านอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

  • อย่ากินตอนหิวจัด

อย่าข้ามมื้ออาหารแล้วมากินอีกทีตอนกำลังหิวจัด เพราะจะทำให้คุณกินอาหารมากเกินกว่าปกติ

  • ไม่จำเป็นต้องกินให้หมดทุกอย่างบนจาน

เมื่อร้านอาหารทำอาหารมาเสิร์ฟ หากมีปริมาณมากเกินกว่าที่คุณต้องการ กินแล้วรู้สึกอิ่มแต่อาหารยังเหลือ ไม่จำเป็นต้องฝืนกินจนหมด ถ้าเสียดายอาจห่อกลับบ้านแทน

  • อย่ากินอาหารเร็วเกินไป

การกินอาหารไม่จำเป็นต้องทำเวลามากขนาดนั้น ให้เวลาร่างกายได้ค่อยๆ ให้อาหารได้ลงไปถึงท้องเพื่อให้รู้สึกอิ่ม ซึ่งใช้เวลาราว 20 นาที การกินอาหารเร็วเกินไปอาจทำให้เรากินแล้วไม่รู้สึกอิ่มเสียที จนทำให้เรากินอาหารมากเกินความจำเป็น

  • หลีกเลี่ยงบุฟเฟ่ต์

การกินอาหารบุฟเฟ่ต์ทำให้เรากินอาหารมากกว่าเดิม และอาจฝืนกินต่อทั้งที่อิ่มแล้วเพราะอยากกินให้คุ้ม ลองหันมากินอาหารจานเดี่ยวหรืออาหารแบบปกติให้มากขึ้นจะดีกว่า

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารอาจเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนได้ในทันที อยากแนะนำให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อยในทุกๆ วันร่วมกับคนรักของคุณ เมื่อคนข้างกายพร้อมจะปรับไปกับคุณ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ