“ความมั่นคงในชีวิตคู่ของความสัมพันธ์นี้มีจริงหรอ?” เป็นอีกหนึ่งคำถามจากสังคมที่คู่รักเพศเดียวกันมักเจอ เนื่องด้วยสังคมถูกครอบด้วยความเชื่อที่ว่า ความสัมพันธ์ของคู่ LGBTQIAN+ เป็นความสัมพันธ์แบบฉาบฉวย ไม่มั่นคงเท่ากับความรักของคู่รักชายหญิง เนื่องจากไม่สามารถมีลูกของตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งมุมมองของสังคมต่อชุมชน LGBTQIAN+ ว่าเป็นสิ่งผิดศีลธรรม โดยมีความเชื่อว่าคบกันไปเดี๋ยวก็เลิก และกลับไปชอบเพศตรงข้ามอยู่ดี ซึ่งความเชื่อนี้เคยถูกนำไปยกเป็นเหตุผลในการคัดค้านพรบ.สมรสเท่าเทียม
อย่างไรก็ตามหากลองมองให้ลึกดูอีกที จะเห็นได้ว่าความมั่นคงในชีวิตคู่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความรักของคนสองคนมากกว่า ว่าจะสามารถจับมือผ่านทุกอุปสรรคไปด้วยกันได้หรือไม่
เรื่องราวของคู่ของปู่กัญจน์ (กัญจน์ เกิดมีมูล) และย่าตุ๊ก (ปกชกร วงศ์สุภาร์) คู่รัก LGBTQIAN+ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันถึง 30 ปี เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า “ความรักของคู่รักเพศเดียวกันก็มั่นคงและยืนยาวได้เช่นเดียวกับคู่รักชายหญิง“
วันนี้ Sanook จึงชวนคุณปู่กัญจน์ และย่าตุ๊ก มาเปิดใจคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ความรักที่ผ่านมา พร้อมทั้งเล่ามุมมองการแต่งงานและความรู้สึกหลังสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว
เคยแต่งงานกับผู้ชาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ปู่กัญจน์และย่าตุ๊กเล่าว่าก่อนที่จะมาเจอทั้งคู่เคยแต่งงานกับผู้ชายมาก่อน แต่ไม่ประสบความเร็จ มีปัญหาและเลิกรากันในที่สุด
สาเหตุการเลิกราปู่กัญจน์เล่าว่า “เขาเป็นคนเที่ยวเก่ง เจ้าชู้ อยู่ ๆ กันนานไป ก็เริ่มรู้จักกันมากขึ้น ทำให้ตัดสินใจแยกทาง แต่เลิกกันด้วยดี ไม่ได้ทะเลาะอะไร”
ต่างจากการเลิกราครั้งก่อนของย่าตุ๊กที่ทำให้ย่าตุ๊กเองถึงกับ ‘กลัวที่จะมีครอบครัวไปเลย’ โดยย่าตุ๊กเล่าว่า “ถูกทำร้ายร่างกายค่อนข้างรุนแรง เลยตัดสินใจไม่ไปต่อ เกิดความกลัว กลัวการมีครอบครัวไปเลย จนได้มาเจอคุณปู่”
หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป ทั้งคู่ได้มาทำความรู้จักกันผ่านเพื่อน ได้ไปกินข้าวและทำความรู้จักกัน และค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์จนเป็นคู่รักถึงทุกวันนี้
ใช้เวลานานกว่า 30 ปี กว่าสังคมจะยอมรับ
เมื่อย้อนถามถึงการเป็น LGBTQIAN+ ในสมัยก่อน ปู่กัญจน์และย่าตุ๊ก เล่าว่า ถึงแม้ว่าครอบครัวจะไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการเป็น LGBTQIAN+ แต่สังคมในสมัยก่อนก็ยังไม่ยอมรับ จึงได้รับคำถามและคำดูถูกมากมาย
“ในยุคก่อน ๆ ความสัมพันธ์แบบนี้มันไม่ได้รับการยอมรับ จะรู้กันเฉพาะในกลุ่มเพื่อน ๆ ของเรา สังคมภายนอกที่ไม่เข้าใจเนี่ยมันยังคงมีการบูลลี่กัน มีคำถามซึ่งเราก็ไม่ค่อยแฮปปี้ที่จะตอบ คุณปู่เขาจะเคยได้ยินว่าตกลงเป็นแฟนกันหรอ ผู้หญิงกับผู้หญิงจะเป็นแฟนกันได้ยังไง จะอยู่กันยังไง เป็นผู้หญิงดี ๆ ไม่ชอบ ชอบเป็นกะเทยอะไรแบบนี้ แล้วบางครั้งที่รุนแรงที่สุดก็คือสักวันไปเจอผู้ชายเดี๋ยวก็หายเป็น” คุณย่าตุ๊กกล่าว
คุณย่าตุ๊กยังเล่าต่อว่าปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ กระแสสังคมก็เปลี่ยนไป ปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้น จากกระแสการเรียกร้องสมรสเท่าเทียม
ไม่คิดที่จะแต่งงาน แต่ความคิดเปลี่ยนไปหลังปู่กัญจน์เข้าโรงพยาบาล
ด้วยสังคมในอดีตไม่ได้เปิดรับเรื่อง LGBTQIAN+ มากนัก ในสมัยก่อนย่าตุ๊กและปู่กัญจน์จึงไม่ได้เห็นความสำคัญของการแต่งงานเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทั้งสองอยากแต่งงานนั้นคือตอนที่ปูกัญจน์ป่วยหนัก
“ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่า(การแต่งงาน) มีความสำคัญอย่างไรในชีวิต จะมีจุดเปลี่ยนก็ตรงเมื่อคุณปู่ป่วย เวลาป่วยเนี่ยไปหาหมอปกติก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่จะต้อง ต้องการเซ็นเอกสาร เซ็นการยินยอมในการรักษา ตัดสินใจในอะไร มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก มันต้องเป็นทายาทสายตรง คู่สมรสที่ระบุว่าเป็นผู้ชาย หรือว่าเป็นพ่อแม่ หรือพี่น้อง ซึ่งด้วยวัยมามองก็ต่างคนต่างใช้ชีวิต บางท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว ก็เริ่มมาฉุกคิดว่าอันนี้ที่ไม่สามารถทำได้”
ด้วยเหตุนี้ทั้งคู่จึงเล่าว่าหลังทราบว่าพรบ.สมรสเท่าเทียมผ่านไปอีกหนึ่งวาระ ก็รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ แถมบอกอีกด้วยว่าถ้าได้จดจริง ๆ เมื่อไรจะไปจดเป็นคู่แรกเลย
ประเด็นไหนที่อยากผลักดันเพื่อชุมชน LGBTQIAN+
สำหรับประเด็นที่คุณปู่คุณย่าอยากผลักดันให้สำเร็จ ต่อจากสมรสเท่าเทียม คือ เรื่อง “คำนำหน้าชื่อ” ให้เรียกได้ตามสมัครใจ และเรื่องใช้คำว่า ‘บุพการี’ แทน ‘บิดา มารดา’
ความรักไม่ได้มีแค่เพศหญิงเพศชาย
ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ คุณย่าตุ๊กได้ฝากถึงคนที่ยังไม่เข้าใจ และยังมอง LGBTQIAN+ ว่าเป็นเรื่องผิดอยู่ว่า ความรักไม่สามารถนิยามว่าต้องเป็นเพศหญิงเพศชายเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับความพอใจและความรู้สึกของแต่ละคน สังคมจึงไม่ควรกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะไปกันไม่รอด เพียงเพราะเป็นเพศเดียวกัน ปัญหาของการใช้ชีวิตคู่ไม่เกี่ยวกับเพศ เพราะเพศที่สังคมยอมรับก็มีให้เห็นว่าตบตีกัน ทำร้ายร่างกาย ฆ่ากันทุกวัน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดความรักแค่เพศชาย เพศหญิง
หลังจากที่ได้คุยกับคุณปู่กัญจน์ ย่าตุ๊ก เราก็ได้เห็นมุมมองของสังคมต่อ LGBTQIAN+ ในสมัยก่อน รวมถึงพิสูจน์ได้อีกว่า “ความมั่นคงในความสัมพันธ์ไม่ได้มีแค่ในความรักเพศชายหญิง” แต่คู่รักเพศเดียวกันเองก็มีความรักที่ยืนยาวได้ มันอยู่ที่ความรักและความเข้าใจกันมากกว่า
- LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม