ศาลทุจริตภาค 3 พิพากษาจำคุก 105 ปี อดีต ผอ.กองการศึกษาฯ อบจ. ใช้รถหลวงไปตีกอล์ฟ คนอนุมัติโดนด้วย
จากกรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด เรื่องกล่าวหา นายรุ่งรัก ลูกบัว ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร กับพวก กรณี นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ในการเดินทางไปกลับ ระหว่างบ้านและที่ทำงาน และนำรถยนต์ของทางราชการ ไปตีกอล์ฟ อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 3 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายรุ่งรัก ลูกบัว กับพวก เป็นจำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 กรณีดังกล่าว
พฤติการณ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 ได้จัดทำใบขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางเสนอต่อจำเลยที่ 2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และเดือนกรกฎาคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 ได้จัดทำใบขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางเสนอต่อจำเลยที่ 3 รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร เพื่อขออนุญาตนำรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน กค 7129 ยโสธร ไปจอดเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตน ในตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร และได้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทางไปกลับ ระหว่างบ้านพักและองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร โดยไม่เคยนำรถยนต์มาจอดเก็บรักษาไว้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าว ไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟกรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา
พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอารถยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดโสธรไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เป็นการกระทำที่ร้ายแรงสำหรับ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของทางราชการ ปใช้ แต่ไม่ได้รู้เห็นการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัวแต่อย่างใด จึงไม่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่การไม่ดูแลตามหน้าที่ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดผลเสียหาย แต่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเสี่ยงไม่ได้ และจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ได้มีคำพิพากษาว่า 1.จำเลยที่ 1 นายรุ่งรัก ลูกบัว มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 รวม 21 กระทง โดยให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 105 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 52 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้วจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
2.จำเลยที่ 2 นายสถิรพร นาคสุข และ จำเลยที่ 3 นายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำเลยที่ 2 รวม 12 กระทง จำคุก 12 ปี และปรับ 240,000 บาท และจำเลยที่ 3 รวม 16 กระทง จำคุก 16 ปี และปรับ 320,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดให้กึ่งหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และไม่เคยใช้รถยนต์คันดังกล่าว เห็นควรรอลงอาญา คนละ 2 ปี และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 4 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมประพฤติ และให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลาคนละ 36 ชั่วโมง พร้อมชำระค่าปรับ
นายอดุลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาบทเรียนสำคัญสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการประจำ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในพื้นที่จังหวัดยโสธร ที่จะต้องสอดส่องดูแลการใช้รถยนต์ราชการของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย และใช้ในราชการเท่านั้นนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ผลประโยชน์ทับซ้อนก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอย่างเช่นคดีนี้ ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
จึงขอแจ้งเตือนมาด้วยความห่วงใยมีให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน โดยไม่นำเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีกก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้