สืบเนื่องจากกรณี กราดยิงพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผู้ก่อเหตุนั้นมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเมียนมาร์ นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 ราย โดยเมื่อวานนี้ (4 ตุลาคม 2566) มีรายงานว่า พนักงานสอบสวน ผู้ร้อง นำเยาวชนชายอายุ 14 ปี แสดงตัวต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมยื่นคำร้องตรวจสอบการจับกุมตัวหลังถูกจับภายใน 24 ชั่วโมง ตามขั้นตอน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
ซึ่งเมื่อคืนนี้ก็คือเป็นแรกที่เด็กชายวัย 14 ปี นั้นต้องอาศัยกินหลับนอนภายในสถานพินิจ ซึ่งจากรายงาน ครอบครัวของผู้ก่อเหตุกลับไม่มีการมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด ล่าสุด 5 ตุลาคม 2566 น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กรณีกระบวนการรับตัว เด็กชายวัย 14 ปี ไปยังสถานพินิจนั้นทราบว่าพ่อของเด็กชายได้เดินทางมาส่งด้วย เพราะมีความห่วงใยเป็นห่วงลูกชาย
ขั้นตอนการแรกรับ ทางสถานพินิจฯ โดยจะมี นักจิตวิทยา นักจิตแพทย์ พ่อบ้านแรกรับ หรือ พ่อบ้านแห่งบ้านเมตตา จะร่วมกันพูดคุยและสอบถามเด็กในเบื้องต้น รวมถึงประเมินสุขภาพจิตร่วมด้วย และจะต้องรับการกักโรคโควิด-19 ก่อน เป็นเวลา 5 วัน
- 10 นาทีระทึก ผู้รอดชีวิต เล่าเหตุการณ์อยู่ประชิดคนร้าย ยิงกราด
- ‘อนุทิน’ จ่อถก! ห้ามออกใบอนุญาตพกปืน ให้บุคคลทั่วไปทุกกรณี
- ตร.ออกหมายจับเพิ่ม 3 คนที่ขายให้เด็ก 14 ปี ก่อเหตุยิงกราด ที่พารากอน
ซึ่งระหว่างนี้ ก็จะมีการประเมินเรื่องสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง และจะประสานปรึกษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หากแพทย์มีความเห็นว่าเด็กชายมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในขั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาหรือแอดมิต (Admit) ก็จะมีการทำรายงานพร้อมแนบความเห็นแพทย์เสนอต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลรับทราบว่าจะมีการส่งต่อเด็กชายไปนอนพักเข้ารับการรักษาตัวที่สถาบันกัลยาณ์ฯแทน
ซึ่งเป็นหลักปกติทั่วไปที่เด็กๆ รายใดซึ่งมีอาการจิตเวชร่วมด้วยนั้น จะได้รับการส่งต่อดูแลโดยเเพทย์เฉพาะทาง อาจจะด้วยการที่แพทย์มีความเห็นให้แอดมิต หรือมีความเห็นจ่ายยารักษา เป็นต้น ส่วนระยะการรักษาตัว หากมีการแอดมิต จะอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หากเด็กชายได้รับการประเมินสุขภาพจิตและพบว่าอยู่ในขั้นที่ไม่วิกฤติหรือน่าเป็นกังวล จิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็จะมีการร่วมกันกำหนดถึงกระบวนการรักษาหรือโปรแกรมต่างๆหลังจากนี้ที่เด็กชายจะต้องเข้าร่วมระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเด็กชายก็จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆคนอื่นๆในบ้านเมตตา ได้ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมและได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย
อาการเบื้องต้น
น.ส.ศิริประกาย กล่าวอีกว่า จากการได้รับรายงานพบว่าวานนี้ หลังการรับตัวและประเมินสุขภาพเบื้องต้น เด็กชายไม่ค่อยพูดจา อาจเพราะเพิ่งได้เข้ามายังภายในสถานพินิจฯ ยังมีความไม่คุ้นชิน และตนยังไม่ได้รับแจ้งว่าเด็กชายได้แสดงความประสงค์ไม่อยากอยู่ที่นี่หรือเรียกร้องกลับบ้านแต่อย่างใด และไม่ค่อยอยากรับประทานอาหาร แต่แน่นอนว่าจะมีอาการวิตกกังวลบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนรู้ว่าจะต้องถูกแยก อาจกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่ยังไม่มีอาการร้องไห้ฟูมฟายหรือซึมเศร้าผิดปกติ อยู่ระหว่างการค่อยๆปรับตัว
เมื่อถามว่าทางผู้ปกครองจะขอนำตัวเด็กชายไปรักษาตัวภายนอกกับแพทย์เองได้หรือไม่นั้น น.ส.ศิริประกาย กล่าวว่า ทางผู้ปกครองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งแจ้งกลับว่าอนุญาตหรือไม่
ที่มา : โหนกระแส
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY