ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พิธีเปิดโอลิมปิก Paris 2024 ล่องเรือในแม่น้ำแซน

Home » ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พิธีเปิดโอลิมปิก Paris 2024 ล่องเรือในแม่น้ำแซน
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พิธีเปิดโอลิมปิก Paris 2024 ล่องเรือในแม่น้ำแซน

ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือ Paris 2024 ฉีกกรอบการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกแบบเดิมที่นิยมจัดในสเตเดียมมาเป็นแบบกลางแจ้งและกลาง แม่น้ำแซน (La Seine) ด้วยขบวนเรือกว่า 90 ลำ สำหรับนำทัพนักกีฬาจากทั่วโลกกว่า 10,000 คนล่องไปตามแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางกรุงปารีสเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร โดยพิธีเปิดโอลิมปิก Paris 2024 จะเริ่มอย่างเป็นทางการเวลา 19:30 น. และจะไปสิ้นสุดเวลา 23:00 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งจะตรงกับเวลา 00:30-04:00 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ตามเวลาของประเทศไทย และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที
1จนถึงวันนี้ทางเจ้าภาพยังไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดของพิธีการและการแสดงประกอบพิธีต่างๆ ออกมาสู่สาธารณชนมากนัก เรียกได้ว่าเก็บเป็นท็อปซีเคร็ตสุดๆ แต่กำหนดการคร่าวๆ คือขบวนเรือจะเริ่มตั้งต้นจาก สะพานออสแตร์ลิตซ์ (Pont d’Austerlitz) บริเวณสวนสาธารณะ ฌาคแด็ง เดส์ ปลองต์ (Jardin des Plantes) และล่องไปตามแม่น้ำแซนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร โดยจะล่องผ่านเกาะทั้งสองเกาะกลางแม่น้ำแซน คือ อิล แซงต์ หลุยส์ ( Île Saint Louis) และ อิล เดอ ลา ซิเต้ (Île de la Cité) และลอดผ่านสะพานทั้งเล็กและใหญ่เกือบ 10 แห่ง ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ สะพานเดนา (Pont d’Iéna) ตรง จตุรัสทรอกาเดโร (Place du Trocadéro) ซึ่งจะเป็นบริเวณที่จัดพิธีตามธรรมเนียมปฏิบัติเป็นลำดับสุดท้ายอันถือเป็นการสิ้นสุดพิธีเปิดการแข่งขัน
2แลนด์มาร์กของปารีส ฉากประกอบงดงามของพิธีเปิด

แลนด์มาร์กและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของปารีสที่เรียงรายกันอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำแซน เช่น มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) สะพานปงเนิฟ (Pont Neuf) สะพานปงเดส์ซาร์ (Pont des Arts) พิพิธภัณฑ์ออคเซย์ (Musée d’Orsay) คอมเพล็กซ์อาคารของกองทัพฝรั่งเศส แองวาลิดส์ (Invalides) เลอ กร็อง ปาเล (Le Grand Palais) และขาดไม่ได้คือ หอไอเฟล (La Tour d’Eiffel) หรือสตรีเหล็กของปารีส จะเป็นฉากประกอบงดงามของพิธีเปิดที่เรียกได้ว่าเป็นพิธีที่ออร์คนอร์ม (hors-norme) หรือแหวกธรรมเนียมปฏิบัติของพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา
3พิธีเปิดคาดว่าจะมีผู้เข้าชมกว่า 300,000 คน ผู้นำจาก 120 ประเทศและคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ อีก 205 คณะ ดังที่ โตนี เอสตองเกต์ (Tony Estanguet) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Paris 2024 กล่าวว่า “สายตาของผู้คนนับล้านๆคู่จะจับจ้องมาที่ปารีสเพื่อเฝ้ารอชมพิธีเปิดการแข่งขันที่น่าจดจำครั้งนี้ ทั่วทั้งเมืองจะเปลี่ยนเป็นสนามแข่งขัน แม่น้ำแซนจะกลายเป็นลู่วิ่ง และริมสองฝั่งแม่น้ำคืออัฒจันทร์สำหรับผู้ชม”
4คณะผู้จัดการแข่งขันได้เผยรายละเอียดว่าจะมีเรือเข้าร่วมในพิธีกว่า 90 ลำ ที่จะพานักกีฬาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงการแสดงชุดต่างๆ ในพิธีเปิดล่องไปตามแม่น้ำแซน พร้อมกับประกาศว่าพิธีเปิดครั้งนี้คือการโคจรมาพบกันระหว่างเกมกีฬาและวิถีเมืองในแบบที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด ด้วยแสงธรรมชาติของพระอาทิตย์ตกดินจะช่วยรังสรรค์ความงดงามของพิธีเปิดครั้งนี้ให้ตราตรึงมากยิ่งขึ้นราวกับบทกวี
พิธีเปิดโอลิมปิก Paris 2024 ภาพจำลองพิธีเปิดการแข่งขัน
5บริเวณด้านบนของสองฝั่งแม่น้ำแซนซึ่งเป็นระดับพื้นถนนที่เรียกว่า เลส์ เก้ โอต์ (Les quais hauts) จะเปิดให้เข้าชมฟรี ส่วนด้านล่างของสองฝั่งที่ติดกับแม่น้ำที่เรียกว่าบริเวณ เลส์ เก้ บาส์ (Les quais bas) ซึ่งอยู่ระหว่างสะพานออสแตร์ลิส (Pont d’Austerlitz) จนถึง สะพานเดนา (Pont d’Iéna) จะต้องมีบัตรเข้าชมถึงจะสามารถเข้าไปนั่งชมในอัฒจันทร์ได้
6ทางเจ้าภาพคาดว่าจะมีจำนวนผู้ชมจากทั้งสองบริเวณนี้รวมกันกว่า 300,000 คนซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เข้าชมพิธีเปิดที่จัดในสนามกีฬาใหญ่ๆ ตามมาตรฐานสนามโอลิมปิกถึง 5 เท่า นอกจากนี้ตามจุดต่างๆทั่วเมืองปารีสยังมีจอยักษ์จำนวนถึง 80 จอ และอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ครบครันเพื่อถ่ายทอดบรรยากาศทั้งแสงสีเสียงของพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้ให้กับผู้ชมในส่วนต่างๆของเมือง และมีการถ่ายทอดไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก
7นอกจากนี้ปารีสยังต้องการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะจัดการเกมการแข่งขันโดยนักกีฬาและเพื่อนักกีฬาอย่างแท้จริงตั้งแต่พิธีเปิดการแข่งขันโดยเน้นให้นักกีฬาจากประเทศต่างๆ เป็นคีย์แมนหรือเซนเตอร์สำคัญ ตั้งแต่การแนะนำตัวด้วยการล่องเรือเข้าสู่บริเวณพิธีและการแสดงชุดต่างๆที่ทางเจ้าภาพจัดเตรียมไว้
8ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พิธีเปิดโอลิมปิกกลางแม่น้ำ

เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศสในระหว่างที่เขาได้เดินทางไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าในการสร้างปรับปรุงสนามแข่งขัน เลอ กร็อง ปาเล (Le Grand Palais) เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ว่า ในกรณีที่อาจมีการก่อการร้ายเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผน B หรือแม้แต่แผน C สำหรับพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก เช่น อาจจะลดขั้นตอนและพิธีการและจำกัดสถานที่อยู่แค่จตุรัสทรอกาเดโร (Place du Trocadéro) หรืออาจจะย้ายไปจัดที่สนามกีฬา สตาด เดอ ฟร็องซ์ (Stade de France) ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส
9อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันครั้งนี้ เช่น Anne Hidalgo นายกเทศมนตรีกรุงปารีส หนึ่งในคีย์แมนของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้บอกกับผู้สื่อข่าวในขณะที่ร่วมพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิกที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ ในวันที่ 16 เมษายน 2567 ว่า “ฉันทำงานตามแผน A ฉันรู้จักแค่แผน A เราต้องมั่นใจในการทำงานที่เราได้ทำมา เรามีทีมงานระดับมืออาชีพที่ยอดเยี่ยม เช่นทีมของ Laurent Nunñez (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งกรุงปารีส) และทีมงานที่ทำงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้”
10ขณะเดียวกัน โตนี เอสตองเกต์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวย้ำว่าแผนสำรอง C ที่จะจัดพิธีเปิดที่สนามกีฬาสตาด เดอ ฟร็องซ์ นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะในวันที่มีพิธีเปิดนั้นจะมีการแข่งขันรักบี้อยู่ จนถึงขณะนี้คณะกรรมการจัดการแข่งขัน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนเตรียมการและซักซ้อมพิธีเปิดตามแผนเดิมคือบริเวณแม่น้ำแซนเท่านั้น

โอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่แลกกับข้อจำกัดและค่าครองชีพสูง

ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่า “ยิ่งเราอยู่ห่างจากพื้นที่การแข่งขันมากเท่าไร เราก็จะมีข้อจำกัดที่ลดน้อยลง” คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งปารีส 2024 (Comité d’organisation des Jeux olympiques et paralympiques d’été de 2024 หรือ COJOP) ได้แบ่งโซนพื้นที่ในกรุงปารีสและบริเวณที่จะมีการจัดการแข่งขันต่างๆออกเป็น 4 โซน คือ พื้นที่จัดการแข่งขันหรือโซนสีเทา, พื้นที่ป้องกันหรือโซน Silt หรือโซนสีดำ (Sécurité intérieure et lutte contre le terrorisme : ความปลอดภัยภายในและการต่อต้านการก่อการร้าย), พื้นที่ห้ามเข้าสำหรับยานพาหนะหรือโซนสีแดง และพื้นที่จัดระเบียบยานพาหนะหรือโซนสีน้ำเงิน มาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 (8 วันก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน)
11นอกจากนี้ อัตราค่าบริการรถโดยสารสาธารณะทั้งเมโทร รถประจำทาง รถไฟที่วิ่งระหว่างปารีสกับชานเมือง (RER) และรถรางไฟฟ้า จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราขั้นต่ำคือราคาเที่ยวละ 4 ยูโร นอกจากนี้ ตลอดช่วงเวลาที่มีการแข่งขันการเดินทางโดยรถเมโทรและรถไฟ RER จะหยุดให้บริการบางสถานี ผู้ใช้บริการจะต้องคอยสังเกตป้ายโดยสารพื้นสีชมพูที่จะระบุสายเดินรถและชื่อสถานีใกล้เคียง และสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://anticiperlesjeux.gouv.fr/en/

นอกจากค่าบริการรถโดยสารรถสาธารณะประเภทต่างๆ จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาของห้องพักไม่ว่าจะเป็นโรงแรม อะพาร์ตเมนต์ โฮสเทล หรือที่พักแบบ Airbnb ก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังที่สื่อต่างๆของฝรั่งเศสได้รายงานว่า ราคาที่พักในปารีสในช่วงที่มีการแข่งขันโอลิมปิกนั้นมีการปรับราคาสูงขึ้นเฉลี่ยถึงประมาณห้าเท่า จากที่ช่วงหน้าร้อนของปีที่แล้วราคาของห้องพักในเขตปารีสราคาเฉลี่ยคืนละ 205 ยูโร แต่ปีนี้ราคาเฉลี่ยประมาณคืนละ 1,055 ยูโร
12แผงขายหนังสือเก่าริมฝั่งแม่น้ำแซนยังเปิดขายในช่วงโอลิมปิก

ส่วนแผงขายหนังสือเก่าริมฝั่งแม่น้ำแซน มรดกทางวัฒนธรรมปารีสที่ตั้งเรียงรายริมสองฝั่งของแม่น้ำแซน ที่ก่อนหน้านี้ทางเทศบาลกรุงปารีสมีแผนจะรื้อถอนออกไปชั่วคราวด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ล่าสุดได้รับอนุญาตให้เปิดทำการได้ในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก แต่จะหยุดให้บริการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 18-27 กรกฎาคม 2567 เพื่อติดตั้งอุปกรณ์และเตรียมสถานที่สำหรับพิธีเปิดการแข่งขัน
13แผงขายหนังสือเก่าริมแม่น้ำแซนถือเป็นร้านหนังสือกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในปารีสที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 กิโลเมตร นอกจากนี้บริเวณฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำแซนยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโกในค.ศ. 1991 ซึ่งผนวกสถานที่สำคัญๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และมหาวิหารนอเทรอดาม รวมถึงคนขายหนังสือแห่งปารีส (Les bouquinistes de Paris) โดยคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่ค้าขายหนังสือมือสองบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำแซนของกรุงปารีสเท่านั้น โดยไม่หมายรวมถึงผู้ที่มีแผงค้าขายบริเวณอื่น

สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนขายหนังสือแห่งปารีส คือ แผงหนังสือที่ออกแบบในลักษณะเหมือนกล่องหรือหีบเหล็กสีเขียวเข้มที่เรียกกันว่าสีแวต์ วากง (Vert wagon) ซึ่งเป็นเฉดสีเดียวกับสีของเมโทร (Métro) หรือรถไฟใต้ดิน และสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น น้ำพุวาลาซ (Fontaine Wallace) และเสามอร์คริส (Colonne Morris) ซึ่งเป็นเสาทรงกลมที่ใช้ติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์และประกาศต่างๆ ที่พบเห็นในทุกมุมถนนของปารีส

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ