ครม.ทุ่มงบปี 66 กว่า 2 แสนล้านบาท ยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รักษาได้ทุกที่

Home » ครม.ทุ่มงบปี 66 กว่า 2 แสนล้านบาท ยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รักษาได้ทุกที่


ครม.ทุ่มงบปี 66 กว่า 2 แสนล้านบาท ยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รักษาได้ทุกที่

ครม.ทุ่มงบปี 66 กว่า 2 แสนล้านบาท ยกระดับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับรักษาที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณ สำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินรวม 209,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 10,152 ล้านบาท

ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 207,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 8,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เพิ่มขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อด้านต้นทุนบริการ ปริมาณบริการที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มปกติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่ และเพื่อตอบสนองนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉิน และงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 665 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.82

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างงบประมาณของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย รายการบริการหลัก 10 รายการ มีการปรับเปลี่ยน คือ ยุบรวมรายการค่าบริการสาธารณสุข สำหรับบริการกรณีโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ 2565 เข้ากับ 1.รายการค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 2.รายการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ ค่าบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และวิธีแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) และค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19

และ 3.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 เนื่องจากคาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้ปรับปรุงรายการย่อย ที่ใช้คำนวณอัตราค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยย้ายรายการย่อยที่ 7 บริการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการที่เพิ่มขึ้น ไปรวมในงบบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง(โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง) คงเหลือรายการย่อย 6 รายการ ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป, บริการผู้ป่วยในทั่วไป, บริการกรณีเฉพาะ,บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์, บริการแพทย์แผนไทย และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ข้อเสนองบกองทุนฯ ที่ขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ 2566 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับความชัดเจนของขอบเขตและการเข้าถึงบริการที่ยังเข้าถึงบริการได้น้อยรวม 26 รายการ เพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพและการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เช่น การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการขยายการให้บริการต่อเนื่องจากปี 2565 โดยให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการกับแพทย์ประจำครอบครัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โดยในปี 2566 จะมีการขยายการดำเนินงานไปทั่วประเทศ เช่น โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ