คดีสะเทือนขวัญในอังกฤษ และการทวงคืน “ความปลอดภัยในชีวิต” ของผู้หญิง

Home » คดีสะเทือนขวัญในอังกฤษ และการทวงคืน “ความปลอดภัยในชีวิต” ของผู้หญิง



คดีสะเทือนขวัญในอังกฤษ และการทวงคืน “ความปลอดภัยในชีวิต” ของผู้หญิง

วันที่ 3 มีนาคม 2021 ซาราห์ เอเวอร์ราร์ด หญิงสาวชาวอังกฤษวัย 33 ปีหายตัวไป ขณะที่เธอกำลัง “เดินกลับบ้าน” หลังจากไปพบปะเพื่อนของเธอในเซาท์ลอนดอน 9 วันหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงการณ์ยืนยันว่า เอเวอร์ราร์ด “ถูกฆาตกรรม” ด้วยน้ำมือของตำรวจนายหนึ่ง เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแค้นและความโศกเศร้าให้กับคนทั้งประเทศ เกิดการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนท้องถนนและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างจริงจัง และนำไปสู่การ “ประท้วง” เพื่อเรียกร้องความปลอดภัยในชีวิตของผู้หญิง

  • WHO เผย “ผู้หญิง 1 ใน 3” เคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามทางเพศ

เกิดอะไรขึ้นกับซาราห์ เอเวอร์ราร์ด

เอเวอร์ราร์ดหายตัวไปขณะเดินกลับบ้านของเธอในบริกซ์ตัน หลังจากไปพบเพื่อนของเธอในแคลปแฮม โดยเธอออกจากบ้านของเพื่อนประมาณ 21:00 น. ก่อนจะเดินผ่านแคลปแฮม คอมมอน ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และในระหว่างเดินกลับบ้านนั้น เอเวอร์ราร์ดได้โทรศัพท์คุยกับแฟนหนุ่มของเธอเป็นเวลาประมาณ 14 นาที และปรากฏตัวในกล้องวงจรปิดครั้งสุดท้าย ช่วงเวลาประมาณ 21:28 น. ขณะที่เธอสวมเสื้อแจ็กเก็ตกันฝนสีเขียว กางเกงขายาวสีน้ำเงิน หน้ากากอนามัย หมวกบีนนี และรองเท้าผ้าใบ 

1 วันหลังจากนั้น แฟนหนุ่มของเอเวอร์ราร์ดติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแจ้งความการหายตัวไปของเธอ ก่อนที่ทีมสอบสวนจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลและตามหาตัวหญิงสาวคนนี้  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสอบถามประชาชนในพื้นที่มากกว่า 750 หลังคาเรือน ตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว และรับโทรศัพท์มากกว่า 120 สาย จากประชาชนในพื้นที่ที่อาจมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์  

5 วันหลังจากเธอหายตัวไป เจ้าหน้าที่ตำรวจลอนดอนได้จับกุมนายเวย์น คูเซนส์ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล วัย 48 ปี ในข้อหาลักพาตัวและฆาตกรรม หลังจากพบศพของเอเวอร์ราร์ดในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของเขา ทั้งนี้ 3 วันก่อนเอเวอร์ราร์ดจะหายตัวไป นายคูเซนส์ก็ถูกจับดำเนินคดีในข้อหากระทำอนาจารในที่สาธารณะอีกด้วย

AFP

จากเหตุการณ์ของเอเวอร์ราร์ด ทำให้ผู้หญิงในอังกฤษมากมายออกมาเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามบนท้องถนน พร้อมติดแฮชแท็ก #shewaswalkinghome (เธอกำลังเดินกลับบ้าน) และวิธีการป้องกันตัวเอง เช่น การวางแผนเส้นทางกลับบ้านที่มีไฟสว่าง สวมรองเท้าที่สามารถวิ่งได้อย่างรวดเร็ว และคุยโทรศัพท์เสียงดัง ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา “การใช้ความรุนแรง” อย่างจริงจัง 

ขณะที่องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงได้วางแผนจัดกิจกรรมไว้อาลัยภายใต้ชื่อ “Reclaim These Streets (ทวงคืนท้องถนน)” ตามเมืองต่าง ๆ ในอังกฤษ เพื่อไว้อาลัยให้กับเอเวอร์ราร์ด และรณรงค์หยุดใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง โดยได้ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่า “ท้องถนนควรปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ไม่ว่าพวกเราจะสวมใส่อะไร อยู่ที่ไหน หรือช่วงกลางวันหรือกลางคืน” 

พิธีไว้อาลัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 

เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามระงับกิจกรรม Reclaim These Street โดยระบุว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ของอังกฤษก็ประกาศห้ามการรวมตัวกันมากกว่า 2 คน แต่ในวันศุกร์ (12 มี.ค.) ที่ผ่านมา กลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้ยื่นขอศาลสูงเพื่อยกเลิกข้อห้ามในช่วงการระบาด และขออนุมัติให้มีการจัดงาน ซึ่งคำตัดสินของผู้พิพากษาชี้ว่า ไม่ห้ามการชุมนุม แต่การชุมนุมนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

AFP

ขณะที่ในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกแถลงการณ์ ขอร้องให้ประชาชน “อยู่บ้านหรือหาวิธีการที่ปลอดภัยมากกว่านี้ในการแสดงจุดยืนของตัวเอง” ต่อมาผู้จัดกิจกรรมก็ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดยระบุว่า พวกเธอได้ทำการติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ “วันแรก” ของการวางแผนจัดกิจกรรม และพยายามหาวิธีจัดกิจกรรมที่ปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่เต็มใจที่จะให้สัญญาใด ๆ กับพวกเธอ ด้วยเหตุนี้ พวกเธอจึงตัดสินใจที่จะจัดกิจกรรม “ไว้อาลัยที่บ้าน” โดยผู้ที่ต้องการร่วมกิจกรรมสามารถจุดเทียนอยู่ที่บ้านเพื่อไว้อาลัยให้เอเวอร์ราร์ด แทนการเดินทางมาที่แคลปแฮม คอมมอน 

อย่างไรก็ตาม ในวันเสาร์ (13 มี.ค.) ผู้คนหลายร้อยคนก็ได้เดินทางมาวางดอกไม้แสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของเอเวอร์ราร์ดที่สวนสาธารณะ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงแคทเธอริน ดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ ที่เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อร่วมไว้อาลัยด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดเวทีปราศรัยเล็ก ๆ ซึ่งทำให้ผู้คนมาอัดแน่นรวมกัน และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงประกาศให้เลิกกิจกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็สลายตัวออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนที่เริ่มตะโกน ผลัก และขว้างปาสิ่งของ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการจับกุม โดยมีรายงานผู้ถูกจับกุมในข้อหาสร้างความวุ่นวายและละเมิดข้อบังคับด้านการป้องกันสุขภาพ ทั้งหมด 4 คน 

AFP

รูปภาพและวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ แสดงภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ร่วมกิจกรรม ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดีย และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ก่อนที่วันอาทิตย์ (14 มี.ค.) ประชาชนจะมารวมตัวกันอีกครั้ง บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ตำรวจนครบาลในกรุงลอนดอน เพื่อไว้อาลัยให้กับการเสียชีวิตของเอเวอร์ราร์ด และประท้วงการใช้ความรุนแรงในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ยังเกิดขึ้น

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้หญิงต่างออกมาพูดถึงปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ทั้งความหวาดกลัวขณะเดินทางกลับบ้านโดยลำพัง หรือการถูกลักพาตัวดังเช่นเหตุการณ์ของเอเวอร์ราร์ด พร้อมวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนให้เห็นรากเหง้าของ “ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง” ที่ยังปรากฏอยู่ในสังคม

จากข้อมูลของ UN Women ของสหราชอาณาจักร เผยว่า ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 70% เคยผ่านประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะมาแล้ว ขณะที่ เจส ฟิลลิปส์สมาชิกรัฐสภาจากพรรคแรงงาน ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเงาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและการป้องกัน เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทุก 3 วันจะมีผู้หญิง 1 คนถูกฆ่าตายด้วยฝีมือของผู้ชาย

AFP

“นับตั้งแต่ซาราห์ เอเวอร์ราร์ดหายตัวไป ในสัปดาห์นั้นเอง มีผู้หญิง 6 คนและเด็กผู้หญิง 1 คนเสียชีวิตจากฝีมือของผู้ต้องสงสัยผู้ชาย” ฟิลลิปส์กล่าว 

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว ผู้ชายมากมายก็ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อสนับสนุน และแสดงจุดยืนที่จะเป็นแนวร่วมของการรณรงค์ต่อสู้ โดยใช้แฮชแท็ก #NotAllMen (ไม่ใช่ผู้ชายทุกคน) เพื่อชี้ให้เห็นว่า มีผู้ชายเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นพวกชอบใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกประเด็นเรื่อง “การโทษเหยื่อ” และการรับผิดชอบตัวเอง โดยผู้หญิงหลายคนได้รับคำแนะนำว่า “อย่าออกจากบ้านคนเดียว” ขณะที่มีการสอบสวนเหตุการณ์ของเอเวอร์ราร์ด 

AFP

ทางด้านนายบอริส จอห์นสัน ก็ได้ออกมาทวีตข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางทวิตเตอร์ส่วนตัว พร้อมสั่งประชุมเพื่อหาทางปกป้องผู้หญิงให้ดีกว่านี้ ทั้งนี้ เขายังให้สัญญาด้วยว่า “จะทำทุกอย่างที่ทำได้” เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงไม่ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามและการใช้ความรุนแรงอีกต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ