วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คดีผู้กำกับเบิ้ม กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นก่อนที่ ผู้กำกับเบิ้มจะปลิดชีวิตตัวเอง ว่า “ร้อง DSI ก่อน ผกก.เบิ้ม จะยิงตัวเอง มีการกระทำใดที่เข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือไม่” จากกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง มีสื่อมวลชนหลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า ก่อนที่ พ.ต.อ.วชิรา จะถูกพบว่าเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่บ้านพักย่านคลองสอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พ.ต.อ.วชิรา ได้ถูกเรียกให้ไปพบกับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบ.ทล.) ที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง ในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 10 กันยายน 2566 และมีนัดหมายให้มาพบอีกครั้ง ในช่วงเช้าของวันที่ 11 กันยายน 2566
หลังจากนั้นตำรวจ ซึ่งสำนักข่าวได้ระบุว่าเป็นเพื่อนของ พ.ต.อ.วชิรา ได้พา พ.ต.อ.วชิรา ไปรับประทานอาหารเย็น และเปิดห้องที่โรงแรมย่านเมืองทองธานีให้ พ.ต.อ.วชิรา เข้าพัก โดยมีตำรวจเฝ้าอยู่หน้าห้องพัก และมีการเก็บโทรศัพท์มือถือของ พ.ต.อ.วชิรา เอาไว้ โดยนัดหมายเอาไว้ว่าในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น จะมีตำรวจมารับตัว พ.ต.อ.วชิรา เพื่อเข้ารายงานตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 8.30 น. ของวันที่ 11 ก.ย. 2566 เมื่อตำรวจได้เดินทางมาที่โรงแรมที่พักตามที่ได้นัดหมาย ปรากฏว่าเคาะประตูห้องพักแล้วไม่มีคนมาเปิด จึงได้ให้พนักงานของโรงแรมมาเปิดประตูเข้าไป ก็ปรากฎว่าไม่พบตัว พ.ต.อ.วชิรา ในห้องพัก จากนั้นเมื่อเวลา 9.00 น. เนื่องจากมีการเก็บโทรศัพท์มือถือของ พ.ต.อ.วชิรา เอาไว้ จึงไม่สามารถติดต่อกับ พ.ต.อ.วชิรา ได้ ตำรวจจึงได้ตามหาหลายที่ที่คาดว่า พ.ต.อ.วชิรา จะเดินทางไป จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.20 น. ที่หน้าบ้านพักของ พ.ต.อ.วชิรา ตำรวจได้สังเกตเห็นรองเท้าคู่ที่ พ.ต.อ.วชิรา ใส่อยู่ประจำ จึงได้โทรศัพท์ไปถามภรรยาของ พ.ต.อ.วชิรา เพื่อขอรหัสเปิดประตู และเมื่อเปิดเข้าไปก็พบร่างของ พ.ต.อ.วชิรา นอนเสียชีวิตที่พื้นบ้านชั้นล่างของบ้านหลังดังกล่าว โดยผลการชันสูตรพลิกศพและผลการพิสูจน์หลักฐานในเวลาต่อมาชี้ว่า เป็นการยิงตัวเองเสียชีวิต
- ลือสะพัด! ญาติ ‘แป้ง นาโหนด’ เข้าติดต่อ บิ๊กต่อ เพื่อขอมอบตัว
- คดียิงเด็กอุเทน – ครูเจี๊ยบ ตร. จับคนร้ายได้แล้ว 1 ค้นซุ้ม พบวางแผนมาอย่างดี
- ตั๋วเพื่อไทย ดราม่าสนั่น ก้าวไกล ซัด สส.ขอตำแหน่งผู้กำกับ ผิดชัดเจน
จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของโรงแรมพบว่า พ.ต.อ.วชิรา ได้หนีออกจากโรงแรมไปทางช่องหนีไฟ และขึ้นแท็กซี่สีชมพูในเวลาประมาณ 4.15 น. และไปถึงบ้านพักของตนเมื่อเวลา 4.45 น. โดยประมาณ จากพฤติการณ์ และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จึงมีเหตุอันควรต้องสงสัยอยู่อย่างน้อย 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1. การที่ตำรวจซึ่งเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตาม มาตรา 3 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้พาตัว พ.ต.อ.วชิรา ไปพักที่ห้องพักโรงแรมย่านเมืองทองธานี เมื่อคืนวันที่ 10 ก.ย. 2566 โดยมีการเก็บเอาโทรศัพท์ของ พ.ต.อ.วชิรา เอาไว้ และไม่ได้แจ้งให้ญาติของ พ.ต.อ.วชิรา ทราบ หาก พ.ต.อ.วชิรา มีความเต็มใจที่จะเข้าพักที่โรงแรมดังกล่าว เหตุใดจึงต้องมีตำรวจเฝ้าอยู่หน้าห้องพัก และเก็บโทรศัพท์มือถือของ พ.ต.อ.วชิรา เอาไว้ และหากการเข้าพักดังกล่าว เป็นไปด้วยความสมัครใจ เหตุใด พ.ต.อ.วชิรา จึงต้องหนีออกจากโรงแรมไปทางช่องหนีไฟ พฤติการณ์เหล่านี้ ล้วนเข้าข่ายการกระทำที่จำกัดเสรีภาพของ พ.ต.อ.วชิรา และอาจพิจารณาได้ว่า พ.ต.อ.วชิรา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบต่อว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำเนินการดังกล่าวได้บันทึกภาพ และเสียงขณะควบคุมตัว พ.ต.อ.วชิรา และมีการแจ้งพนักงานอัยการ และฝ่ายปกครอง ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือไม่ อย่างไร
2. หากการจำกัดเสรีภาพของ พ.ต.อ.วชิรา นั้นเข้าข่ายการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีการปกปิดชะตากรม ก็มีเหตุให้ต้องสงสัยว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือไม่ อย่างไร
3. การตัดสินใจยิงตัวเองเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ตามผลการชันสูตรพลิกศพ และผลการพิสูจน์หลักฐาน ที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่ พ.ต.อ.วชิรา เป็นคุณพ่อของลูกชายวัย 8 ขวบ จึงมีเหตุต้องสงสัยว่า ก่อนหน้าที่ พ.ต.อ.วชิรา จะยิงตนเองจนเสียชีวิต พ.ต.อ.วชิรา ได้ถูกกดดัน หรือถูกกระทำด้วยประการใดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าข่ายการกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือมีการกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ตามลำดับ หรือไม่ อย่างไร
เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ เข้าข่ายการเป็นคดีพิเศษอยู่หลายประการ เนื่องจากเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน พัวพันกับกรณี “ส่วยรถบรรทุก” ที่สังคมเชื่อว่ามีการเรียกรับ และส่งต่อผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชั่นมูลค่ามหาศาล ไปยังข้าราชการระดับสูง และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หลายนาย หลายขั้น มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก็คือ กรณีของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก ซึ่งกรณีดังกล่าวมีตำรวจเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 นาย ซึ่งก็คือ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว โดยระหว่างเกิดเหตุมีตำรวจถึง 21 นาย อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ และ พ.ต.อ.วชิรา ก็เป็นหนึ่งในตำรวจ 21 นายนั้นด้วย ซึ่งทั้งกรณี “ส่วยรถบรรทุก” และ “การเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ศิวกร และ พ.ต.อ.วชิรา” นั้นเป็นคดีความผิดทางอาญาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ อย่างไม่ต้องสงสัย
ตามมาตรา 26 (6) และมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ผมจึงได้ไปเดินทางไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวนี้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ทั้งกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไธสงค์ และประเด็นข้อสงสัยที่อาจเกี่ยวพันไปถึงกรณี “ส่วยรถบรรทุก” และการทุจริตคอร์รัปชั่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามมาตรา 31 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ จะถือว่าคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีพิเศษ “ซึ่งหลังจากนี้ ผมจะติดตามความคืบหน้าของคดีนี้กับทาง DSI ต่อไปครับ”