ขู่ยุติส่งออกน้ำมันปาล์มไปยุโรป มาเลย์-อินโดฯไม่ปลื้มอียูต้านสินค้ารุกป่า
ขู่ยุติส่งออกน้ำมันปาล์มไปยุโรป – วันที่ 12 ม.ค. รอยเตอร์รายงานว่า ทางการมาเลเซียขู่ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มให้สหภาพยุโรปหรืออียู หลังไม่พอใจข้อบังคับใหม่ของอียูเลิกน้ำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่อียูมองว่าทำลายป่าไม้
นายฟาดิลลาห์ ยูโซฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าการเกษตรของมาเลเซีย (เทียบเท่ารมว.เกษตร) กล่าวว่า ทางการมาเลเซียและอินโดนีเซียจะหารือกันถึงปัญหาของข้อบังคับใหม่จากอียู ซึ่งไม่ยอมรับสินค้าที่มองว่าทำลายป่าไม้ ยกเว้นกรณีชาติผู้ส่งออกจะพิสูจน์ว่าข้อครหาของอียูไม่เป็นความจริงได้
รายงานระบุว่า อียูเป็นกลุ่มชาติผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่ร่างกฎหมายใหม่ของอียูที่เพิ่งผ่านสภาไปเมื่อเดือนธ.ค. 2565 สร้างความไม่พอใจให้กับชาติผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ มาเลเซียและอินโดนีเซีย
นายฟาดิลลาห์ กล่าวว่า มาเลเซียอาจมีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ หรือไม่อาจต้องยุติการส่งออกไปอียูอย่างสิ้นเชิงแล้วหันไปมุ่งส่งออกให้ชาติอื่นแทน เพราะกฎหมายใหม่ของอียูนั้นสร้างความยากลำบากให้ผู้ส่งออกอย่างมาก
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางข้อครหาจากบรรดานักสิ่งแวดล้อมที่กล่าวโทษว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการแผ้วถางป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้มาเลเซียและอินโดนีเซียจะมีการตรวจสอบและออกใบรับรองให้กับผู้ส่งออกก็ตาม
นายฟาดิลลาห์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ยังเรียกร้องให้บรรดาชาติสมาชิกสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม หรือซีพีโอพีซี ร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านกฎหมายใหม่ของอียูและต่อกรกับข้อกล่าวหาเลื่อนลอยจากอียูและทางการสหรัฐอเมริกา ว่าสวนปาล์มทำลายป่าไม้
ด้านนายมิคาลิส โรคาส เอกอัครราชทูตอียูประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวตอบโต้ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลมาเลเซีย ว่าทางการอียูไม่ได้มีคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย และปฏิเสธว่ากฎหมายคุ้มครองป่าไม้ฉบับใหม่ของอียูนั้นสร้างปัญหาให้กับผู้ส่งออกจากมาเลเซีย
นายโรคาส ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้กับสินค้าที่ผลิตจากทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงจากชาติสมาชิกอียูด้วยกันเอง และมีจุดประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ นั้นจะไม่ทำให้ป่าไม้ถูกแผ้วถางสูญเสียไปมากกว่าในปัจจุบัน โดยตนยินดีเข้าหารือกับนายฟาดิลลาห์เพื่อลดทอนความไม่สบายใจของทางการมาเลเซีย
ทั้งนี้ ความต้องการน้ำมันปาล์มของอียู คาดว่าจะลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากแผนพัฒนาพลังงานรักษ์โลกของอียูที่มุ่งเน้นให้ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม (เช่น ไบโอดีเซล) ภายในปี 2573 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้
ทางการมาเลเซียและอินโดนีเซียเคยนำเรื่องที่เกิดขึ้นร้องเรียนกับองค์กรการค้าระหว่างประเทศหรือดับเบิ้ลยูทีโอ โดยระบุว่า กฎหมายใหม่ของอียูเป็นการเลือกปฏิบัติและสร้างกำแพงการค้า
ขณะที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย และนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เห็นพ้องกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะผนึกกำลังกันต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้านการนำเข้าน้ำมันปาล์มของอียู และเตรียมจะเพิ่มพูนความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย
ข้อมูลจากบอร์ดน้ำมันปาล์มมาเลเซีย ระบุว่า อียูเป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมดจากมาเลเซีย หรือราว 1.47 ล้านตันเมื่อปี 2565 ลดลงจากเมื่อปีก่อนหน้าร้อยละ 10.5