‘ก้าวไกล’ สับแหลก มติรัฐสภาอัปยศ ผ่านสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 เอื้อ”ประยุทธ์” สืบทอดอำนาจ ชี้ไม่ใช่การออกแบบระบบเลือกตั้งที่เป็นไปประโยชน์ของประชาชน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 ก.ค.65 ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความผิดหวังต่อที่ประชุมรัฐสภามติเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 23 ของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตามกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ที่ใช้สูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสมโดยเอา 500 หาร
นายชัยธวัช กล่าวว่า เรายืนยันมาโดยตลอดว่าการแก้ไขระบบการเลือกตั้งผ่าน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เป็นระบบที่หาร 500 นั้นขัดต่อ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเจตนาชัดเจนทั้งบทบัญญัติและการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องการที่จะเปลี่ยนไปใช้สูตรการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ไม่ใช่แบบระบบสัดส่วนผสมอย่างที่ทางพรรคก้าวไกลเคยเสนอ
การลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ไม่ได้เป็นไปเพื่อต้องการจะออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ดีให้แก่ประชาชน แต่เป็นการลงมติเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการสืบทอดอำนาจ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพียงเท่านั้น จนนำไปสู่การโหวตที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
“เป็นการลงมติที่อัปยศที่สุด เพียงเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้นพรรคก้าวไกลยังยืนยัน ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ. การเลือกตั้ง และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด รวมถึงคัดค้านกระบวนการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และจะร่วมมือกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและพี่น้องประชาชน เพื่อออกจากระบบประยุทธ์ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตีความ 8 ปีนายกฯ จะทำอย่างถึงที่สุด” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพ.ร.บ. ฉบับที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ หากว่าผ่านรัฐสภาไปได้ ตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องส่งไปให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หากมีความเห็นส่งกลับมาว่าร่างพ.ร.บ. ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกส่งกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขอีกครั้ง ซึ่งหากเกิดกระบวนการแบบนั้น จะมีการต่อสู้อย่างเต็มที่ ให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ให้ชอบต่อรัฐธรรมนูญให้ได้
ขณะที่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนอยู่ในกระบวนการทุกอย่าง ซึ่งกมธ.เสียงส่วนใหญ่ ยืนยันในชั้นกมธ.มาโดยตลอดว่า อย่างไรก็ต้องหาร 100 และเสียงของผู้แปรญัตติและผู้สงวนความเห็นของการหาร 500 เสียงเบามาก แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มีการเปลี่ยนท่าที โดยเฉพาะของฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าอย่างไรก็ต้องเอาหาร 500 ให้ได้
เพราะฉะนั้น ขอยืนยันว่าเสียงดังกล่าวคือ ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างน่าสงสัยที่สุด อย่างไรก็ตามระบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์อำนาจเดิมเท่านั้น ซึ่งเราจะไม่ร่วมสังฆกรรม และไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ โดยจะต่อต้านถึงที่สุด
ด้าน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า การแปรญัตติของตนที่ยื่นไปนั้น เพราะเห็นว่าร่างของกมธ.เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นร่างเดียวกับที่ยื่นไปในวาระที่ 1 เป็นร่างที่ไม่รอบคอบ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เพื่อจะบอกว่ากติกาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ดีที่สุด แต่เมื่อมีการร่างกฎหมายลูก กลับมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2554 มาใช้ในครั้งนี้ จึงเกิดเป็นการเลือกตั้งแบบลูกผสม
และสุดท้ายเมื่อมีการกลับไปคำนวณถึงคะแนนที่มีการเลือกตั้งกับครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปัญหาคือการเกิดส.ส.ปัดเศษ นั่นหมายความว่าเกิดส.ส. ที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ อาจจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นจำนวนมาก และอาจจะมีผลทำให้ 2 พรรค ที่มีผลคะแนนต่างกันถึง 3 เท่าตัว กลับได้จำนวนส.ส. เท่ากัน
ฉะนั้นตนจึงยื่นร่างแปรญัตติที่แตกต่างออกไปเพียงเล็กน้อย แต่มีผลที่ออกมาจะแตกต่างกันมาก และอาจจะสอดคล้องมากกว่าร่างของกมธ. จึงเป็นเหตุผลว่าพรรคก้าวไกล ยืนยันไม่เห็นด้วยกับกมธ. เสียงส่วนใหญ่ แต่เห็นด้วยกับร่างหาร 100 ในแบบที่ตนแปรญัตติไป เพื่อไม่อยากให้มีข้อครหาเหมือนการเลือกตั้งปี 2562
“ทุกคนคงทราบว่าในตอนแรกจะเป็นการหาร 100 แต่เมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็พลิกกลับ ผมสงสัยว่าที่ชอบพูดกันว่า ส.ว. เป็นอิสระ ตรงไหนคือความอิสระ ส่วนส.ส.รัฐบาล ผมไม่แน่ใจว่าไปคุยกันตอนไหน แต่เข้าใจว่าคงไปคุยกันที่ทำเนียบฯ ซึ่งหมายความว่าการทำหน้าที่ของสภาแห่งนี้ ของส.ว. ไม่ได้เป็นความอิสระจริงๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับไปใช้ระบบที่หาร 500 ซึ่งเป็นการตอกย้ำการสืบทอดอำนาจ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่การออกแบบระบบเลือกตั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการออกแบบที่อยู่บนพื้นฐานว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีประชาชนอยู่ข้างในเลย