กุมารแพทย์ย้ำต้องปกป้อง “สมองเด็ก” จาก “กัญชา” วอนพ่อแม่ดูแลลูกให้ดี หากเกิน 20 ปีรับผิดชอบตัวเอง เตือนอย่าใช้ช่อดอกกัญชาในอาหาร
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “อาหารและขนมผสมกัญชา ใกล้มือเด็ก ห้าม หรือ ให้”
โดย นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า กัญชาไม่เป็นยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% แม้กัญชาจะมีคุณประโยชน์ทางแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็มีโทษและผลข้างเคียงสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปที่อาจยังรับรู้โทษของกัญชา ดังนั้น ต้องเร่งรณรงค์สื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้อง
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สสส. เป็น 1 หนึ่งใน 8 หน่วยงาน ที่ลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมใช้กัญชา กัญชง เพื่อดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจและไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ให้ใช้ดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย ตระหนักถึงประโยชน์และโทษจากการใช้กัญชา กัญชง ให้เกิดการรับรู้ของสังคมในการร่วมมือ ป้องกันและต่อต้านการใช้ที่ไม่เหมาะสม
ด้าน รศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก หรือหมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ปกครองที่ติดตามเพจจะแสดงความเป็นห่วง เพราะการเข้าถึงกัญชา กัญชง ทำได้ง่ายมากขึ้นด้วยกลไกทางกฎหมาย อย่างที่เห็นการขายกัญชาอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีเด็กๆ เดินอยู่รอบๆ เป็นการเข้าถึงง่ายจนน่าตกใจ ดังนั้น พ่อแม่ที่อยากเลี้ยงลูกให้ได้ดีก็จะกังวลมาก เนื่องจากกัญชาเคยเป็นยาเสพติด แล้วเพิ่งปลดล็อกออกมาไม่นาน
รศ.นพ.วรวุฒิ กล่าวต่อว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ในเด็กมีน้อยมากจนแทบไม่มี แต่อาจมีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในกลุ่มเด็กที่มีอาการลมชักที่ไม่ตอบสนองกับยาแผนปัจจุบัน ก็จะนำสารสกัด CBD จากกัญชามาใช้เป็นหนึ่งในการรักษา และเป็นเคสที่จำกัดมากๆ ต้องอยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ โดยมีเพียง 2 โรคลมชักหายากที่มีข้อมูลว่า กัญชาอาจมีประโยชน์ แต่ต้องใช้ร่วมกับยาอื่น และยืนยันว่าไม่มีการใช้กัญชาในเด็กป่วยโรคมะเร็ง
“ข้อมูลเบื้องต้นคือไม่มีกัญชาที่ใช้ในเด็กเลย เรากังวล 2 อย่างคือ 1.รับประทานโดยอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างบราวนี่ผสมกัญชาก็เหมือนขนมเด็ก มีโอกาสที่เด็กจะได้รับโดยบังเอิญ ร้านอาหารที่ผสมกัญชาอย่างไม่เหมาะสม เช่น ปริมาณมากเกินไป ก็จะเกิดผลกระทบต่อเด็ก และ 2.ใช้เชิงสันทนาการ เชิงต่อการเสพติดได้”
รศ.นพ.วรวุฒิ กล่าวอีกว่า ฉะนั้น พ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกใช้เหมือนเหล้า บุหรี่ ก็สามารถเป็น 3 ดี 1 ชัด คือ แบบอย่างที่ดี เพราะเด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ หากเห็นพ่อแม่ใช้เป็นปกติ ก็จะรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย มีความสัมพันธ์อันดีกับลูก เพื่อให้เด็กเปิดใจคุยปัญหากับผู้ปกครอง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในครอบครัว จึงเป็นเรื่องยากหากในบ้านที่ปลูกกัญชา แบบนี้ก็ต้องระวังให้ดี และ 1 ชัด คือพ่อแม่ต้องชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ลูกใช้กัญชาก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะ แต่เราจะต้องไม่ตัดสินลูก
“ยกตัวอย่างลูกเล่าให้ฟังว่าเพื่อนใช้กัญชา ก็ไม่ควรตำหนิเด็ก ควรจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าใจและดูแลกัน ให้ข้อมูลกับเด็ก แสดงให้เห็นข้อเสียของกัญชา ดังนั้น การที่เด็กจะเลือกหรือไม่ใช้ ก็จะขึ้นอยู่กับการปลูกฝังของครอบครัว”
รศ.นพ.วรวุฒิ กล่าวต่อว่า เด็กอายุมากกว่า 20 ปีแล้ว หากจะใช้กัญชา ก็ขอให้มีความรับผิดชอบตัวเอง รับผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับระบบสมอง เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก สมองเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เราต้องปกป้องสมองเด็กจากกัญชาให้ได้ เด็กที่กินขนมที่มีส่วนผสมกัญชาที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ก็อาจทำให้เด็กซึม อาการไฮ บางคนจะหัวเราะ ไปจนถึงอาการแพ้ จึงต้องระวังให้มาก ต้องเก็บอาหารที่ผสมกัญชาให้มิดชิด เพราะยิ่งเด็กเล็กเท่าไร หากได้สาร THC ก็จะก่อให้เกิดพิษมากขึ้นเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว
ส่วน ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผอ.กองอาหาร อย. กล่าวว่า ความกังวลเรื่องกัญชาในเด็ก หากใช้เป็นยาจะถูกควบคุมการใช้ในสถานพยาบาล แต่เรากังวลการผสมในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเรามี พ.ร.บ.อาหาร เข้ามาควบคุม อย.ก็พัฒนากฎหมาย หากจะจำหน่ายในวงกว้างต้องมีความปลอดภัยต่อสมอง ซึ่งมีการทดลองในคนและสัตว์เพื่อให้ได้ค่าความปลอดภัยในการผสมกัญชาในอาหาร และต้องกำหนดในฉลากสินค้า
โดยกำหนดให้บริโภคไม่เกินคนละ 2 เมนู เช่น คุกกี้ 1 ชิ้นมีกัญชา 1 ใบ ก็กินได้ไม่เกิน 2 ชิ้น แต่หากจะกินน้ำผสมกัญชากับคุกกี้ ก็จะเป็นคุกกี้ 1 ชิ้นกับน้ำ 1 ขวด สิ่งสำคัญคือการอ่านฉลากเตือนที่สินค้า ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตต้องให้คำแนะนำ ทั้งนี้ คิดว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับใหม่ควรมีมาตรการจำกัดการจำหน่าย การวางสินค้า เพื่อป้องกันเด็ก สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ให้ปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร
“สำหรับอาหารที่ปรุงในร้าน ผู้บริโภคต้องถามคนปรุงว่าใช้กัญชาอย่างไร และที่สำคัญคือเราไม่แนะนำให้ใช้ช่อดอกกัญชาในอาหาร เพราะไม่มีข้อมูลความปลอดภัย ซึ่งเราจะต้องใช้กฎหมายให้มากที่สุดสำหรับกรณีที่เกิดความไม่ปลอดภัยเป็นไปตามอำนาจของ พ.ร.บ.อาหาร ฉะนั้นพวกเราจะต้องระมัดระวังและศึกษาสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในสังคม” ภญ.วรสุดากล่าว
ขณะที่ ดร.พรณิชา ชาตะพันธุ์ ผอ.ร.ร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถม) กล่าวว่า โรงเรียนมีนักเรียนมากกว่า 4,000 คน มีชั้นเรียนละ 20 ห้อง เน้นการเรียนรู้ให้นักเรียนทุกช่วงชั้นเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณ-โทษของกัญชาในทุกวิชาเรียนแบบบูรณาการ เน้นกิจกรรมสร้างเสริมความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียน เช่น วิชาศิลปะของนักเรียนชั้น ป.1 จะสอนเรื่องลักษณะของกัญชาเป็นอย่างไร ให้เด็กได้วาดรูป ระบายสี รวมไปถึงการจัดบอร์ดความรู้ตามจุดต่างๆ ในโรงเรียน ให้เห็นลักษณะของกัญชา กัญชง พืชกระท่อม และได้เรียนรู้ว่ามีคุณมีโทษต่อร่างกายอย่างไร การใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
“เมื่อเด็กไปเห็นอาหารที่ผสมกัญชา มีภาพใบกัญชาแบบที่เขาเคยได้เรียน ได้เห็นมาก่อน เขาสามารถปฏิเสธไม่รับประทานได้ ส่วนการควบคุมเมื่อเด็กอยู่นอกรั้วโรงเรียน ใช้วิธีแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ และขอให้ช่วยสอดส่องดูแล รวมถึงเป็นตัวอย่างให้เห็น เช่น ไม่สั่งอาหาร เครื่องดื่มที่ผสมกัญชาให้เด็กเห็น พร้อมขอความร่วมมือร้านอาหารรอบรั้วโรงเรียน ไม่ให้นำอาหาร ขนมที่ผสมกัญชามาจำหน่ายให้เด็กกิน” ดร.พรณิชา กล่าว
ด้านนายนที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย วงบุดด้า เบลส ศิลปินนักร้อง กล่าวว่า ตนเคยใช้กัญชามาก่อนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เห็นข้อดีและข้อเสียจากการใช้ ตอนนี้ก็ไม่ได้ใช้กัญชาแล้ว สำหรับการปลดล็อกในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ตนประหลาดใจเพราะตอนห้ามก็ห้าม แต่เมื่อปล่อยก็ปล่อยเลย ส่วนข่าวที่บอกว่าคนใช้กัญชาเห็นภาพหลอน ทำร้ายร่างกาย ตนไม่เชื่อ และไม่เคยเจอว่าคนใช้กัญชาเพียงอย่างเดียวจะก่อเหตุเช่นนั้น
“ผมเคยเห็นเพื่อนใช้สารสกัด CBD รักษาอาการลมชักในเด็กซึ่งได้ผลดี แต่ส่วนตนไม่ได้เชื่อว่ากัญชาจะช่วยรักษามะเร็ง เพียงแต่จะช่วยให้อยากอาหารได้ นอนหลับได้ดีขึ้น ข้อเสียที่เห็นชัดเจน 1.ไม่มีสติครบ 100% 2.อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย แม้จะใช้เพื่อการนอน แต่ตอนตื่นมาก็มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เพื่อนผมที่ใช้กัญชามานาน ก็ยังบอกว่าเป็นห่วงพ่อแม่ในยุคนี้ที่มีลูกเป็นวัยรุ่น ไม่อยากให้ลูกเดินทางซ้ำกับเขา เพราะวินัยเสีย ชีวิตวัยรุ่นพัง ผมอยากให้ถูกกฎหมายมานานแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะขนาดปัจจุบัน เพราะอย่างใช้กัญชาผสมอาหาร เป็นเรื่องยากที่จะหาปริมาณที่พอดี โดยเฉพาะในเด็ก”
นายนที ยังกล่าวถึงการผสมกัญชาในอาหารว่า การใช้กัญชาผสมอาหารแต่ละครั้งจะไม่มีค่าปริมาณสาร THC ที่แน่นอน เพราะกัญชาแต่ละต้น แต่ละพันธุ์ก็จะมีมากน้อยต่างกันไป แม้แต่กระบวนการผลิตอาหาร ก็ไม่สามารถกำหนดค่าที่แน่นอนได้ นอกจากต้องไปซื้อสารสกัด THC มาผสมในอาหาร แต่ส่วนนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้น การกินอาหารผสมกัญชา ก็เหมือนการเอาชีวิตไปเสี่ยงว่าจะเกิดอาการอย่างไร