กลุ่ม ‘Save อโยธยา’ แถลงการณ์ สนับสนุนรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่ควรทำลายเมืองโบราณ จี้ย้ายเส้นทางไปนอกเมือง ล่าชื่อปชช.ที่ต้องการรักษาประวัติศาสตร์ของชาติไว้
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2557 อันมีตรงกับปีแรกของการก้าวขึ้นสู่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และใช้กฎหมาย ม.44 ในการดำเนินการให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้นนั้น
ส่งผลให้มีเส้นทางช่วงหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงที่จะสร้างทับเมืองโบราณที่สำคัญในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกำลังจะเริ่มสร้างหากผ่านผลการประเมิน HIA (Heritage Impact Assessment) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ.2566 ที่กำลังจะถึงนี้นั้น
พื้นที่เมืองโบราณดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพ-สถานีพระแก้ว ซึ่งเป็นเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเลียบด้านนอกเกาะเมืองอยุธยา (ทับตามแนวทางรถไฟสายเดิม) พื้นที่ดังกล่าวนี้เรียกว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” หรือ “อโยธยา” ถือเป็นพื้นที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาทั้งในทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี เพราะเก่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.1893
ดังนั้น จึงพื้นที่ที่เป็นรากฐานของการก่อกำเนิด ‘ความเป็นอยุธยา’ หรือความเป็นไทยในทุกวันนี้ หากสร้างรถไฟทับในพื้นที่ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติในอนาคต การก่อสร้างที่ย่อมขุดเจาะเสาเข็ม และตอม่อขนาดใหญ่ รวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนในการสร้าง และการสั่นสะเทือนจากการวิ่งของรถไฟทุกเมื่อเชื่อวันหลังจากที่สร้างเสร็จแล้วนั้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อบรรดาโบราณวัตถุสถานทั้งบนดิน และใต้ดินอย่างมากมายมหาศาล
การสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังอยุธยา ย่อมส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจในพื้นที่ และการท่องเที่ยวแน่ จึงสมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ควรสร้างให้ห่างออกไปจากเขตเมืองเก่า ดังเคยมีผู้เชี่ยวชาญเคยเสนอมาแล้วให้สร้างตามแนวถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
เพราะนอกจากเพื่อเป็นการอนุรักษ์เมืองเก่า และหลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีต่างๆ แล้ว จุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวอยุธยานั้น ก็คือความเป็นเมืองเก่า และประวัติศาสตร์ของชาติ ดังนั้น จึงไม่ควรที่การพัฒนาเมืองในครั้งนี้จะเป็นต้นเหตุของการทำลายตัวเมืองเก่าและทุนทางวัฒนธรรมเสียเอง
ในการนี้กลุ่ม ‘Save อโยธยา’ จึงรวบรวมรายชื่อประชาชน 218 รายชื่อ ที่ต้องการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของชาติไว้ เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานทบทวนให้ย้ายเส้นทางรถไฟออกไปนอกเขตเมืองเก่าอโยธยาศรีรามเทพนคร
โดยจะนำรายชื่อผู้เสนอให้ทบทวนโครงการฯ เสนอต่อที่ประชุม HIA วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566 นี้รายชื่อผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก แถลงการณ์ ‘Save อโยธยา’ สนับสนุนรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่ควรทำลายเมืองโบราณ ณ เวลา 21.00 น. วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566