เมื่อกีฬาสุดโหดของอาณาจักรโรมัน อาจจะเป็นแค่การแสดงที่เหมือนกับมวยปล้ำ WWE ในโลกโบราณ
“ไม่สู้ก็ตาย” น่าจะเป็นภาพจำของ กลาดิเอเตอร์ กีฬาในสมัยโบราณที่จับคนกับคน หรือบางทีก็คนกับสัตว์ดุร้ายมาสู้กันในสังเวียนโคลอสเซียม โดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน
มันถูกมองว่าเป็นกีฬาที่ป่าเถื่อนที่ให้มนุษย์ต้องมาห้ำหั่นกันเพื่อความอยู่รอด เพียงเพราะแค่เป็นความบันเทิงของผู้ชม หรือชนชั้นสูงที่จัดการประลองในแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น..
กีฬาสุดโหดยุคโบราณ
จักรวรรดิโรมัน ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เมื่อมันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งในอาณาจักรที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ตั้งแต่สุดฝั่งตะวันตกของยุโรปไปจนถึงตะวันออกกลางของเอเชีย
และหากพูดถึงยุคนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “กลาดิเอเตอร์” การต่อสู้สุดโหดที่เอาคนมาต่อสู้กัน ต่อหน้าผู้คนกว่าครึ่งแสนเพื่อความสนุกในสังเวียนขนาดยักษ์อย่างโคลอสเซียม
จุดเริ่มต้นของกลาดิเอเตอร์ ต้องย้อนกลับไปในปี 246 BC (ก่อนคริสตศักราช) เมื่อมีการนำนักสู้ 3 คู่มาประลองกันโดยมีชีวิตเป็นเดิมพันในงานพิธีศพของ จูนิอุส บรูตัส เปรา ขุนนางผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น โดยมีความเชื่อว่าการหลั่งเลือดจะทำให้วิญญาณผู้ตายมีความบริสุทธิ์
หลังจากนั้นการต่อสู้ในลักษณะนี้ก็เริ่มแพร่หลายในวงกว้าง มีเรื่องเล่าว่าในสมัยของ จูเลียส ซีซาร์ (100 BC – 44 BC) ผู้นำจอมเผด็จการของโรมัน มีการนำนักสู้นับร้อยมาสู้กันในงานศพของพ่อและลูกสาวของตัวเอง เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ร่วมงาน
ก่อนที่มันจะกลายเป็นกิจกรรมที่ค่อยๆแยกออกจากบริบทของงานศพ มาเป็นกีฬาที่ถูกจัดโดยผู้มีฐานะ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจและอิทธิพลของตน และขยับขยายไปสู้ในสังเวียนที่มีอัฒจันทร์ล้อมรอบ รวมไปถึง “โคลอสเซียม” ในเวลาต่อมา
โดยนักสู้กลาดิเอเตอร์ส่วนใหญ่มักจะเป็นทาสหน่วยก้านดี ซึ่งถูกซื้อมาจากตลาดค้าทาส ก่อนจะนำมาฝึกฝนทักษะการต่อสู้จนชำนาญ เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นกลาดิเอเตอร์โดยเฉพาะ
“กลาดิเอเตอร์ส่วนใหญ่จะถูกซื้อมาจากตลาดค้าทาส ที่จะเลือกจากความแข็งแกร่ง ความอึด และรูปร่างหน้าตาของพวกเขา” ดร.ไมล์ รัสเซลล์ นักโบราณคดีแห่งสถาบันโบราณคดีอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โรมันอธิบายในนิตยสาร History Revealed
อย่างไรก็ดี กลาดิเอเตอร์ ไม่ได้มีแบบเดียว เพราะมันสามารถแบ่งแยกไปตามอาวุธที่ใช้ ยกตัวอย่างเช่น Retiarius ที่ใช้สามง่ามกับตาข่าย, Secutor ที่มีดาบและโล่ห์เป็นอาวุธ หรือ Hoplomachus ที่ใช้หอกและมีดสั้น
นอกจากนี้ พาหนะที่ใช้และชุดเกราะ ก็สามารถใช้จำแนกประเภทของ กลาดิเอเตอร์ เช่น Eques ที่ขี่ม้า หรือ Essedarius ที่มีรถม้าเป็นพาหนะ หรือประเภทแปลกๆอย่าง Bestiarius ที่ต้องสู้กับสัตว์ป่า หรือ Andabatus ที่ต้องสู้กันโดยสวมหมวกที่ไม่ได้เจาะช่องสำหรับมองเอาไว้
แต่ไม่ว่าจะเป็นกลาดิเอเตอร์ประเภทไหน ส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายเหมือนกัน นั่นก็คือ อิสรภาพ
สู้เพื่อไม่ตาย
แม้ว่าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะยืนยันได้ว่าการประลองแบบ กลาดิเอเตอร์ ของโรมันจะมีกรรมการที่เรียกว่า Rudarius ที่จะคอยถือดาบไม้ Rudus คอยควบคุมการแข่งขัน แต่มันก็ไม่มีบันทึกของ “กติกา” ในสนาม
โดยจากข้อมูลที่มีระบุเพียงแค่ว่า การแข่งขันจะถูกยุติลงจากการตัดสินใจของกรรมการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การแข่งขันจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ยอมแพ้ หรือไม่สามารถทำการสู้ต่อได้
ในขณะที่ History.com กล่าวว่าผู้คนในสนามยังมีส่วนในการตัดสินว่าจะไว้ชีวิตผู้แพ้ ด้วยการชูนิ้วโป้งลงหรือโยนผ้าเช็ดหน้าลงมา หรือสั่งให้สังหารด้วยการชูนิ้วโป้งขึ้นได้อีกด้วย (สลับกับในภาพยนตร์ที่ชูนิ้วโป้งขึ้นหมายความว่าไว้ชีวิต ส่วนชูนิ้วลงหมายความว่าให้จัดการ)
ทำให้ กลาดิเอเตอร์ เป็นเหมือนการต่อสู้ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยกฎแค่ว่า “สู้ให้ชนะ” ที่ทำให้แต่ละฝ่ายต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อพิชิตคู่ต่อสู้ และไม่ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ แถมบางครั้งอาจจะต้องสู้กับสัตว์ป่าดุร้าย หรือกลาดิเอเตอร์ที่ไม่ใช่ประเภทเดียวกับตนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ลีลาการสู้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้ว่าชัยชนะในการสู้แต่ละครั้งจะมีความหมายไปถึงเงินทองและของรางวัล แต่ถ้าหากพวกเขาสู้ได้อย่างน่าประทับใจ มันอาจจะทำให้พวกเขาได้รับสิ่งที่ต้องการที่สุด นั่นคือ การเป็นไท
“ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลหรือของขวัญ เช่นเดียวกับมงกุฎใบปาล์มที่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ หรือถ้าหากนักสู้คนไหนสู้ได้ดี เอนเตอร์เทนทั้งผู้ชมและผู้สนับสนุนได้จากความกล้าหาญ ความยืดหยุ่น และทักษะในการสู้ เขาอาจจะได้รับรางวัลสูงสุด นั่นก็คือ อิสรภาพ” ส่วนหนึ่งจากนิตยสาร History Revealed กล่าวไว้
ด้วยเหตุนี้ กลาดิเอเตอร์ จึงเป็นเหมือนการผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ คล้ายกับศิลปะการต่อสู้ในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่แค่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องงดงาม เพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนดู
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นการต่อสู้สุดโหด เพราะหากพ่ายแพ้ อาจจะมีความหมายถึงชีวิต และทำให้มันถูกมองว่าเป็นกีฬาสุดป่าเถื่อน เมื่อเทียบกับบริบทในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น..
เพื่อความบันเทิง?
กลาดิเอเตอร์ อาจจะมีภาพจำว่าต้องสู้เพื่อเอาชีวิตรอด โดยเฉพาะการมาถึงของ Gladiator ภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดัง เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเวทีออสการ์ 2001 ทว่า บางทีมันอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
เมื่อในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000s ได้มีทฤษฎีใหม่เสนอว่า กลาดิเอเตอร์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ที่โหดร้ายและนองเลือด อาจจะเป็นการแสดงที่มีสคริปต์ไม่ต่างจากโชว์มวยปล้ำ WWE ของอเมริกา
จากการศึกษาของ สตีฟ ทัค ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยไมอามี พบว่าการต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์มีเป้าหมายเพื่อความบันเทิง และไม่ได้ตั้งใจจะเอาชีวิตกัน
“การต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์ อาจจะถูกมองในฐานะการฆ่ากันและการหลั่งเลือด แต่สำหรับผมกลับมองว่าสิ่งที่เราเห็นคือศิลปะการต่อสู้เพื่อความบันเทิงที่เอาไว้ดึงดูดความสนใจจากผู้คน” ทัคกล่าวกับ New Scientist
ศาสตราจารย์ทัคเน้นไปที่การศึกษาการต่อสู้แบบตัวต่อตัว (ตัดการต่อสู้แบบคนหมู่มากออกไป) โดยศึกษาจากภาพโบราณที่แสดงให้เห็นการต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์จำนวนทั้งสิ้น 158 ภาพ ซึ่งปรากฎอยู่ทั่วไปตามโคมไฟ อัญมณี เครื่องปั้นดินเผา รวมไปถึงภาพเขียนขนาดใหญ่
นอกจากนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เขายังได้ศึกษาคู่มือการต่อสู้ ที่ผลิตขึ้นในเยอรมันและตอนเหนือของอิตาลีในสมัยยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการสู้แบบกลาดิเอเตอร์
“สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะว่ามันแสดงให้เห็นลำดับการเคลื่อนไหว และมีคำอธิบายประกอบ” ทัคกล่าวต่อ
โดยจากการศึกษา ศาสตราจารย์ทัคพบว่าการต่อสู้แบบกลาดิเอเตอร์ จะมี 3 ช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งก็คือ หนึ่ง การปะทะกันครั้งแรก ที่ทั้งคู่จะมีอาวุธเต็มมือและพุ่งเข้าหากัน สองคือแยกออกจากกันหากนักสู้คนใดคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และสาม ที่นักสู้ทั้งสองฝ่ายจะทิ้งโล่ห์และอาวุธ แล้วเข้ามาปล้ำกันแบบมวยปล้ำ
การศึกษายังพบว่า การทิ้งโล่ห์และอาวุธและเข้ามาปล้ำกัน เป็นเหมือนสัญญาณของการปิดฉากการต่อสู้ในครั้งนั้น ที่ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องเอาชนะอย่างเด็ดขาดหรือต้องปลิดชีพคู่ต่อสู้
และด้วยสิ่งนี้จึงทำให้พวกเขามีสถานะไม่ต่างจากนักกีฬาอาชีพชื่อดังในปัจจุบัน
ซูเปอร์สตาร์แห่งยุค
“กลาดิเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงจะสู้น้อยมาก บางทีอาจจะแค่ 2-3 ครั้งต่อปี เหมือนกับนักมวยอาชีพในปัจจุบัน” ศาสตราจารย์ทัคอธิบาย
แม้ว่ากลาดิเอเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มาจากชนชั้นต่ำสุดในสังคมโรมัน แต่พวกเขาก็ถือเป็นนักสู้ที่น่าอิจฉา เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้มหาศาล ซึ่งมาจากรางวัลในการต่อสู้ในแต่ละครั้ง จนถึงขนาดต้องมีการกำหนดเพดานเงินเดือนในยุคหนึ่ง
นอกจากนี้ หากเป็น กลาดิเอเตอร์ ฝีมือดี หลายคนก็จะมีต้นสังกัด หรือที่เรียกกันว่าเจ้าของ (Owner) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขุนนางระดับสูงที่จะคอยอัดฉีดเงินทุนในการฝึกซ้อมและในชีวิตประจำวันอีกด้วย
“จักรพรรดิ มาร์คุส ออเรลิอุส ต้องกำหนดเพดานเงินเดือนแก่เหล่ากลาดิเอเตอร์ และเพื่อมาถึงจุดนี้ พวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนเงินทุนมหาศาลสำหรับเจ้านายของพวกเขา” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยไมอามีกล่าวต่อ
“มันจึงไม่สมเหตุสมผลที่นักสู้กลาดิเอเตอร์ที่มีราคาขนาดนั้นต้องถูกฆ่าตายในการต่อสู้ เพราะว่ามันเหมือนการเอาเงินไปทิ้ง”
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ กลาดิเอเตอร์ ไม่ได้เป็นอาชีพที่ออกไปสู้เพื่อตาย ในขณะเดียวกัน พวกเขายังได้รับการประคบประหงมเป็นพิเศษจากพี่เลี้ยง ที่เรียกว่า lanista จนมีสถานะไม่ต่างจากนักกีฬาอาชีพในปัจจุบัน
“กลาดิเอเตอร์ เป็นคนที่ได้รับการยกย่องคล้ายกับนักกีฬาในปัจจุบัน และพวกเขาก็มีสถานะที่ยิ่งใหญ่ เทียบได้กับนักกีฬาอาชีพระดับสูง”
“ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้พวกเขาไม่ได้เป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง และเจ้าของพวกเขาก็ไม่ได้หวังว่าจะเสียเงินลงทุนในทุกครั้งเพื่อให้ใครสักคนขึ้นมายืนบนเวที”
ในขณะที่ บริน วอลเตอร์ (Bryn Walters) ผู้อำนวยการสมาคมโบราณคดีโรมันแห่งอังกฤษ ก็สนับสนุนทฤษฎีนี้ โดยเขามองว่า ความบันเทิง น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของการจัดการสู้แบบกลาดิเอเตอร์
“กลาดิเอเตอร์ คือผู้ให้ความบันเทิง พวกเขาเป็นดารา และมีเจ้าของส่วนตัวที่คอยประคบประหงม เหมือนกับ เดวิด เบ็คแฮม ตอนที่เขายังเล่นอยู่ พวกเขาไม่ได้เข้าไปในสนามเพื่อตาย เพราะว่าพวกเขามีราคามากเกินไปที่จะให้สิ่งแบบนี้เกิดขึ้น” วอลเตอร์ กล่าวกับ The Scotsman
“เหล่าสมาชิกสภา นักธุรกิจผู้ร่ำรวย และจักรพรรดิ ไม่ได้ต้องการเอานักกีฬาที่ดีที่สุดของพวกเขามาแล่เนื้อในสนามกีฬาเพื่อเอาใจคนจำนวนมากหรอก”
เช่นเดียวกับวรรณกรรมโบราณ ที่ระบุว่า กลาดิเอเตอร์ ถูกฝึกมาเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้โดยไม่จำเป็นต้องนองเลือด ซึ่งตรงกับหลักฐานจากศตวรรษที่ 2 ที่พูดถึงความแพงของนักสู้กลาดิเอเตอร์ ซึ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักว่าการเสียชีวิตน่าจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ
“เป้าหมายจึงไม่ใช่การฆ่าคู่ต่อสู้ เหมือนกับที่กวีชาวโรมันก็พูดว่า ชนะโดยไม่ต้องกระทบกระทั่ง” ทัค อธิบายเสริม
นอกจากนี้ ในงานวิจัยทางด้านโบราณคดีของมหาวิทยาลัยเวียนนา และ มหาวิทยาลัยมิวนิค ที่ตรวจสอบร่องรอยของ กลาดิเอเตอร์ ในเมืองโบราณที่ชื่อว่า Ephesus ที่ตั้งอยู่ในประเทศตุรกีในปัจจุบัน ยังช่วยสนับสนุนทฏษฎีของทัค หลังพบว่ากลาดิเอเตอร์ได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในยุคนั้น
ในขณะที่จากการศึกษากระดูกอายุกว่า 2,000 ปี ยังทำให้พวกเขารู้ว่า กลาดิเอเตอร์ ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก เพื่อเสริมสร้างไขมันชั้นใต้ผิวหนังที่อยู่เหนือกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลในระหว่างการต่อสู้อีกด้วย
นักสู้ในตำนาน
แม้ว่าจากงานวิจัยของศาสตราจารย์ทัค จะเสนอทฤษฎีเพื่อความบันเทิง แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มีกลาดิเอเตอร์บางส่วนที่ถูกส่งมาให้ตายจริง โดยเป็นพวกนักโทษหรืออาชญากรที่มีความผิดร้ายแรง หรือเชลยศึกในสงคราม
“คนที่ตายมีแค่คนที่ถูกส่งเข้าไปในสนามเพื่อลงโทษ และพวกเขาคือนักโทษ คนที่มีความผิด อาชญากร และคนที่ถูกจับจากสงครามและการต่อสู้” วอลเตอร์ อธิบาย
ทำให้กลาดิเอเตอร์อาชีพจริงๆที่ต้องมาสังเวยชีวิตในโคลอสเซียมมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง ที่ทำให้พวกเขาต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อไม่ให้ผิดคิว และลงเอยด้วยการเสียชีวิต
นอกจากนี้ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับความนิยมแค่ไหน หรือมีเงินทองมากมายเพียงใด แต่สถานะของพวกเขาก็ยังเป็นคนชนชั้นต่ำสุดของสังคมโรมันอยู่ดี
แต่ถึงอย่างนั้น กลาดิเอเตอร์ ก็ถือเป็นนักสู้ที่ทรงเกียรติที่ทำให้หลายคนอยากจะไปยืนอยู่ในจุดนั้น ไม่เว้นแม้แต่เหล่าจักรพรรดิ ไม่ว่าจะเป็น เนโร หรือ คอมโมดุส ที่กระโดดลงมาสู้ในสังเวียนเพื่อชื่อเสียงและเกียรติยศของตน
สิ่งนี้คือภาพสะท้อนชั้นดีของความยิ่งใหญ่ของ กลาดิเอเตอร์ และทำให้เรื่องราวของพวกเขาถูกบันทึกผ่านโบราณวัตถุ ทั้งกระเบื้องโมเสค เครื่องปั้นดินเผา หรือภาพเขียน จนสามารถก้าวผ่านกาลเวลามาให้ผู้คนได้รู้จักในปัจจุบัน
ทำให้ถึงแม้ว่า กลาดิเอเตอร์ อาจจะเป็นแค่โชว์ แต่มันก็สามารถประทับอยู่ในใจของผู้คนยุคนั้นจนยากจะลืมเลือน