กรมการแพทย์ เร่งประชุมคลอดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" วางเกณฑ์แยกวินิจฉัย 5 โรค อาการคล้ายกัน

Home » กรมการแพทย์ เร่งประชุมคลอดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" วางเกณฑ์แยกวินิจฉัย 5 โรค อาการคล้ายกัน


กรมการแพทย์ เร่งประชุมคลอดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" วางเกณฑ์แยกวินิจฉัย 5 โรค อาการคล้ายกัน

กรมการแพทย์ เร่งประชุมคลอดแนวทางรักษา “ฝีดาษลิง” สถาบันโรคผิวหนัง วางเกณฑ์แยกวินิจฉัย 5 โรคที่อาการคล้ายกัน ทั้งอีสุกอีใส เริม งูสวัด ไข้ทรพิษ ฝีดาษลิง

วันที่ 26 ก.ค.65 พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monleypox) ว่า ช่วงวันที่ 26-27 ก.ค. กรมการแพทย์ได้หารือกับ รพ. คลินิกโรคผิวหนัง เพื่อประชุมแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เนื่องจากเป็นโรคใหม่สำหรับประเทศไทย จากเดิมเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา

ทั้งนี้ โดยฝีดาษลิงเป็นดีเอ็นเอไวรัส ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มฝีหนอง น้ำเหลือง หรือน้ำต่างๆของร่างกาย ระยะฟักเชื้อ 7-21 วัน ตุ่มสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วตัวมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มีตุ่มแดงขึ้น ระยะที่2 ตุ่มพัฒนากลายเป็น ตุ่มนูน ระยะที่ 3 ตุ่มกลายเป็นหนอง และระยะที่ 4 ตุ่มแตก

“การแพร่เชื้อหรือติดต่อจะเกิดในระยะที่ 3 และ 4 โดยทั่วไปโรคนี้หายเองได้ เมื่อแผลตกสะเก็ด หรือรักษาตามอาการ สำหรับคนที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งหรือปลูกถ่ายอวัยวะ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 8 ปี และหญิงตั้งครรภ์” พญ.นฤมลกล่าว

พญ.นฤมล กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีลักษณะของตุ่มน้ำตามผิวหนัง ใกล้เคียงทั้งโรคอีสุกอีใสและไข้ทรพิษ เบื้องต้นสถาบันโรคผิวหนังได้วางเกณฑ์และแนวทางจำแนกแยกโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับฝีดาษลิง เพื่อให้แยกโรคออก ได้แก่

1.โรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วตัว ในกระพุ้งแก้ม ช่องปาก สามารถติดต่อได้จากละอองฝอย ถือว่าเป็นกลุ่มอาการรุนแรงน้อย ในกลุ่มที่มีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย ระยะฟักโรค 11-20 วัน รักษาด้วยการทานยาต้านไวรัส

2.โรคเริม นอกจากตุ่มน้ำตามร่างกายแล้ว ยังจะมีอาการอักเสบตามเส้นประสาท และทิ้งรอยโรคไว้ สามารถกลับมาป่วยซ้ำได้ โดยมีระยะฟักตัว 3-7 วัน รักษาด้วยยาต้านไวรัส

3.งูสวัด เป็นการพัฒนาของเชื้ออีสุกอีใส แต่เชื้อหลบที่ปมประสาท ทำให้มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีอาการแสบร้อน คันผิวหนัง ติดเชื้อได้จากสารคัดหลั่ง การรักษาเน้นยาต้านไวรัส

4.ไข้ทรพิษ มีไข้สูง ปวดเมื่อย มีตุ่มผื่นขึ้น อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดท้อง ระยะฟักตัว 7-17 วัน การรักษาเน้นประคับประคอง

5.ฝีดาษลิง มีตั้งแต่ไข้ ปวดเมื่อยศีรษะตามร่างกาย ปวดหลัง และเด่นชัดต่อมน้ำเหลืองโต รักษาเน้นประคับประคอง

“แนวทางการแยกโรค กรมการแพทย์จะประชุมและสรุปส่งให้ EOC กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป ส่วนที่มีความกังวล เรื่องเชื้อในสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า เชื้อนี้สามารถฆ่าได้ด้วยแอลกอฮอล์และสบู่ ดังนั้น การหมั่นล้างมือ งดสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกันสามารถป้องกันได้” พญ.นฤมลกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ