“เขตสัมพันธวงศ์” ย่านเก่าแก่สุดคลาสสิก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายวัฒนธรรมจีนอันมีเสน่ห์ ที่วันนี้มีแลนด์มาร์คใหม่อย่าง “ฝาท่อลายอาร์ต” ช่วงจากซอยศาลเจ้าโรงเกือกถึงศาลเจ้าโจวซือกง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ที่ไม่ใช่แค่ฝาท่อธรรมดา แต่เป็นเหมือน “ไทม์แมชชีน” พาเราย้อนเวลาไปสัมผัสเรื่องราวในอดีตของชุมชนแห่งนี้
โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร โดยเขตสัมพันธวงศ์ ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าของตลาดน้อย จึงผุดไอเดียเนรมิตทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเพิ่มลูกเล่นกิ๊บเก๋ ด้วยการออกแบบฝาท่อให้มีลวดลายเฉพาะตัว บอกเล่าเรื่องราวของย่านนี้ ผ่านฝีมือการออกแบบของ คุณจุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชนคนเก่ง ที่อาศัยอยู่ในย่านตลาดน้อยมาตั้งแต่เด็ก
- ชี้พิกัด! ที่จอดรถเยาวราช 2024 แบบปลอดภัยรอดจากใบสั่ง!
- อินเดีย “ฟรีวีซ่า” ให้คนไทยเที่ยวได้นาน 30 วัน เริ่ม 1 ก.ค. 67
- สุดภูมิใจ! ไทยคว้าอันดับ 4 ประเทศที่สวยที่สุดในโลก!
ลายเส้นบนฝาท่อ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!
ฝาบ่อบริเวณตลาดน้อย
- ฝาบ่อที่ 1 ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก : ย่านนี้ขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมเก่าแก่ บ้านทรงจีน ร้านค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แค่เดินผ่านก็เหมือนหลุดเข้าไปในยุคก่อน
- ฝาบ่อที่ 2 ซอยศาลเจ้าโรงเกือก : ร้านขายยาเพ็ญไทย ตึกแถวโบราณ 3 ชั้น ที่เปิดมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ใครป่วยก็แวะเวียนมาใช้บริการกัน
- ฝาบ่อที่ 3 ฝั่งซอยเจริญกรุง 23 : เล่าเรื่องอดีตที่เคยเป็นท่าเรือของบ้านโซวเฮงไถ่ ที่เรือสำเภาจีนมาจอดเทียบท่าคึกคัก
- ฝาบ่อที่ 4 ซอยดวงตะวัน : รถเฟียตคู่ใจตลาดน้อย อายุอานามก็หลายสิบปี เป็นพยานบอกเล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองของย่านอะไหล่เก่า “เชียงกง”
- ฝาบ่อที่ 5 ปากซอยเจริญกรุง 22 : ร้านข้าวต้มปลา “ง่วนสูน” เจ้าเก่าแก่ เปิดมานานกว่า 100 ปี รสชาติอร่อยเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
- ฝาบ่อที่ 6 ปากซอยเจริญกรุง 22 : ร้านทองเล่งหงษ์ ร้านทองเก่าแก่คู่ตลาดน้อย เปิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ใครอยากเสริมโชคลาภต้องมา
- ฝาบ่อที่ 7 หน้าศาลเจ้าโจวซือกง : ศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจีนฮกเกี้ยน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน
ฝาท่อระบายน้ำ บริเวณถนนเยาวราช
- A1 ค้างคาวกับเหรียญ : เน้นที่ค้างคาว 5 ตัวและเหรียญ 5 เหรียญ โดยเชื่อว่าค้างคาวจะนำพรมาให้ ส่วนเหรียญจะช่วยสร้างสมดุลและความมั่นคง
- A2 (ไม่มีชื่อ) : ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงเลข 8 ของจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสมดุลและป้องกันสิ่งชั่วร้าย
- A3 เหรียญจีนโบราณ : ใช้เหรียญจีนโบราณเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวยและนำโชคลาภ
ฝาท่อทึบ บริเวณถนนเยาวราช
- B1 เราคือเพื่อนพ้องพี่น้องชาวจีน : สื่อถึงโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งโดยชาวจีนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้
- B2 เรืองรองรุ่งเรืองเยาวราช : สื่อถึงความรุ่งเรืองของถนนเยาวราชในอดีตที่มีรถรางเป็นระบบขนส่งสาธารณะ
- B3 ความบันเทิงเยาวราชในอดีต : แสดงให้เห็นถึงสถานที่บันเทิงและแหล่งพบปะของชาวจีนในอดีต เช่น สภากาแฟ โรงน้ำชา โรงแรม และบ่อน
- B4 สวรรค์ชั้นเจ็ด : ได้รับแรงบันดาลใจจากตึกสูงยุคแรกของสยามบนถนนเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงและเป็นที่มาของวลี “สวรรค์ชั้นเจ็ด”
- B5 โต๊ะจีน : นำเสนอจุดเริ่มต้นของการกินอาหารจีน เช่น หูฉลาม ผัดหมี่ฮ่องกง กระเพาะปลาน้ำแดงผัดแห้ง
- B6 โรงงิ้ว : สื่อถึงโรงงิ้ว ซึ่งเป็นรูปแบบความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งของเยาวราชในอดีตที่หายไป
- B7 ตลาดเก่าเยาวราช : สื่อถึง “เหล่าตั๊กลัก” ตลาดเก่าแก่ใจกลางถนนเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าและอาหารมากมาย
- B8 ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ : สื่อถึงตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายวัตถุดิบสำหรับทำอาหารจีน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล
- B9 ห้างทอง : สื่อถึงร้านขายทองคำบนถนนเยาวราช ซึ่งสะท้อนถึงความร่ำรวยและเจริญรุ่งเรืองของย่านนี้
- B10 ของขวัญ : นำเสนอ “แจกันใหญ่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลและแทนคำอวยพร
- B11 สุกี้เยาวราช : สื่อถึงตรอกที่เป็นต้นกำเนิดของสุกี้เยาวราช
- B13 ห้างใต้ฟ้า : แสดงถึงบรรยากาศคึกคักของแยกราชวงศ์และห้างใต้ฟ้าในวันวาน
- B14 นำเสนอเรือสำเภา ที่นำเงินทองจากจีนผ่านท่าเรือเข้ามาในประเทศไทย
- B15 คลองถม : นำเสนอความสนุกสนานของตลาดคลองถมในอดีต ซึ่งเป็นแหล่งขายของสารพัดอย่าง
- B16 ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ : แสดงให้เห็นถึงชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม เป็นย่านขายผ้าและมีร้านขายตาชั่งเก่าแก่ เป็นจุดผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน และแขก
- B17 เวิ้งนาครเขษม : สื่อถึงเวิ้งนาครเขษมในอดีต ซึ่งเป็นย่านค้าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ แหล่งบันเทิง และปัจจุบันเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
- B18 สะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่าง : สื่อถึงย่านขายของเล่นและโมเดลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นคลองโอ่งอ่างที่สวยงาม
เพียงแค่ฝาท่อ ก็ทำให้เราได้รู้จักตลาดน้อยมากขึ้น กทม. พยายามใส่ใจในทุกรายละเอียดของการพัฒนาเมือง แม้กระทั่งสิ่งเล็ก ๆ อย่างฝาท่อระบายน้ำ เพื่อสะท้อนเรื่องราวและอัตลักษณ์ของชุมชน หากท่านมีโอกาสมาเยือนตลาดน้อย อย่าลืมสังเกตลวดลายต่าง ๆ บนฝาท่อระหว่างทางเดินชมเสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้ ท่านจะได้พบกับความประทับใจในทุกรายละเอียดอย่างแน่นอน
ที่มา กรุงเทพมหานคร