WHO ยันพบเสียชีวิตแล้ว 1 ราย สังเวย ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 กรมควบคุมโรค เผย ไทยยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ เร่งเฝ้าระวังป้องกัน
วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงาน โดยศูนย์ประสานงานแห่งชาติ (NFP) ของกฎระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศของเม็กซิโก (IHR) พบผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 59 ปี
โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 มีอาการหายใจลำบาก มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 24 เมษายา 2567 ที่ผ่านมา และเสียชีวิตในวันเดียวกัน ผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่น ๆ มาก่อน ยังไม่ทราบแหล่งที่มาของการสัมผัสเชื้อที่แน่ชัด
- 19 มิ.ย.นี้ รู้กัน! ผลสอบ “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” ชัดเจนแน่นอน
- ยังไม่หยุด! แอดมิน ลัทธิเชื่อมจิต บุก กองปราบ เอาผิดสื่อ-คนดัง
- อดีตโฟร์แมน ลาออกได้ 10 วัน กลับมาเยี่ยมเพื่อน ลื่นตกบ่อ หัวฟาดเหล็กดับ
มีการรายงานว่าพบการระบาดของไข้หวัดนก H5N2 ในฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐเม็กซิโก ช่วงเดือนมีนาคม จากการสอบสวนโรค และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม 17 ราย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัส Influenza และ SARS-CoV 2 ผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N2 ในมนุษย์รายแรก
ภาพประกอบ ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 มาก่อน นอกจากนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 ทั้งในคนและในสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพพร้อมตรวจวินิจฉัยเชื้อดังกล่าวได้ การเตรียมความพร้อมในด้านการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health)
โดยมีการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลและฝึกซ้อมแผนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพคนและสัตว์ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
ทั้งนี้ขอย้ำให้ประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจลำบาก ภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือประวัติเสี่ยงต่างๆ หากท่านมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422