(What If) ถ้าวันหนึ่ง เฟซบุ๊กและเครือข่ายหายไปเกิน 6 ชั่วโมง

Home » (What If) ถ้าวันหนึ่ง เฟซบุ๊กและเครือข่ายหายไปเกิน 6 ชั่วโมง
(What If) ถ้าวันหนึ่ง เฟซบุ๊กและเครือข่ายหายไปเกิน 6 ชั่วโมง

สัปดาห์ที่แล้ว คนทั้งโลกต่างวุ่นวายเพราะเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียที่มีคนใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 2,890,000,000 active user ดันมาล่มนานถึงหกชั่วโมง และการล่มของเฟซบุ๊กดาวน์นั้นไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจหลากหลายประเภทที่อาศัยพื้นที่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือติดต่อผ่าน WhatsApp แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับเฟซบุ๊กในเรื่องความน่าเชื่อถือ จนทำให้หุ้นของเฟซบุ๊กร่วงไม่เป็นท่าในวันรุ่งขึ้น

และดูเหมือนว่าอาการเฟซบุ๊กดาวน์นั้น ก็ช่างประจวบเหมาะกับที่อดีตผู้บริหารของเฟซบุ๊กออกมาให้สัมภาษณ์กับรายการชื่อดัง 60 Minutes ทางช่อง CBS (สหรัฐอเมริกา) ว่าการทำงานของเฟซบุ๊กนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสังคม หากแต่เน้นเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังหรือดราม่า เพื่อให้ผู้คนวนเวียนอยู่แต่กับคอนเทนต์ของแพลตฟอร์มตนเอง เท่านั้นยังไม่พอนิตยสารไทม์ ยังขึ้นปกเป็นหน้ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก พร้อมกับข้อความและลูกศรที่กำลังจะยกเลิกแอคเคาท์ในเฟซบุ๊ก

ดูจะเป็นความวุ่นวายไม่น้อยของเฟซบุ๊ก ในยุคที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แล้วเข้าไปใช้งานบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้าดังรายนี้ แต่การล่มของเฟซบุ๊กเป็นเวลา 6 ชั่วโมงนั้นก็ได้สร้างความกังขา และคำถามขึ้นในใจกับผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นหน้าร้าน เป็นร้านขายของ เป็นที่กระจายข่าว เป็นพื้นที่สร้างงานทางการตลาด

gettyimages-453248108

(What if) แล้วถ้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมเกิดล่มนานกว่า 6 ชั่วโมง หรือถูกทำให้หายไป ลองมาดูกันไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง

เกิดการย้ายฐานข้อมูลครั้งใหญ่ 

จากตัวเลข 2.89 พันล้านนั้น หากเฟซบุ๊กล่มไปแล้วไม่กลับมา นั่นหมายความว่าจะเกิดการย้ายฐานข้อมูลครั้งใหญ่เพื่อไปอยู่กับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตัวใหม่ เพราะในโลกเฟซบุ๊กทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่เพียง Active User เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงร้านค้าออนไลน์ บริษัท ห้าง ร้าน ที่ต้องมีหน้าร้านออนไลน์บนเฟซบุ๊ก

การอยู่บนเฟซบุ๊กทุกวันนี้ก็เหมือนกับอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เมื่อมีการล่มนาน 6 ชั่วโมงไปแล้ว ครั้งต่อไปอาจนานกว่าหรือไม่ได้กลับมา การส่งสัญญาณเตือนในรอบนี้ ร้านค้าออนไลน์ บริษัท ห้าง ร้าน ที่มีหน้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมเพียงอย่างเดียวหรือมีทั้งสองทาง ควรพิจารณาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นเป็นตัวเลือกไว้ด้วย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกครั้ง ก็ยังสามารถ Cross Platform ได้ ไม่ถึงกับเสียหายมาก

แต่ถ้าไม่อยากทำตัวเหมือนคนเช่าบ้านใครอยู่และคิดว่า ข้อมูลลูกค้า รวมไปถึงการสะสมฐานเอฟซีให้ยังคงอยู่กับคุณไม่หายไปตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ลองมองทางเลือกในการสร้างเว็บไซต์เป็นของตนเองก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกหนึ่งเพราะอย่างน้อยแม้เซิร์ฟเวอร์ที่ฝากไว้จะล่ม แต่แบ็กอัปข้อมูลก็ยังคงอยู่

การทำธุรกิจออนไลน์ จะประสบปัญหาในวงกว้าง

มีผลสำรวจในเดือนกรกฎาคมปี 2013 มีรายงานระบุว่านักช้อปทั้งหลายนั้นมักจะหาข้อมูลก่อนจะซื้อสินค้า อันเป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสร้างเฟซบุ๊กเป็นของตนเอง เพื่อไว้เป็นข้อมูลสำหรับลูกค้าที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม

แน่นอนว่าในเฟซบุ๊กนั้นจะโพสต์ไว้แต่รีวิวที่เขียนถึงในแง่ดี โปรโมชันลดราคา ข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และถ้าเฟซบุ๊ก รวมไปถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในเครือข่ายเกิดล่มขึ้นมาข้ามเดือน ข้อมูลเหล่านั้นก็จะหายไปด้วย

ส่วนจะหวังพึ่งโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มอื่นอย่างทวิตเตอร์ที่สามารถเขียนได้เพียง 280 ตัวอักษรก็ไม่น่าจะพอ ดังนั้นทางออกของ ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่อยากก้าวไปถึงขั้นของเว็บไซต์ แต่หันมาเป็นการสร้าง blog ของตนเองน่าจะเป็นแผนสำรองสำหรับ “ฮับข้อมูล” ของผลิตภัณฑ์

การทำการตลาดจะเปลี่ยนไปจากเดิม

ปัจจุบันการทำการตลาดออนไลน์​หรือ Digital Marketing นั้นเน้นไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เกิดการติดตามและมีปฏิสัมพันธ์ต่อแบรนด์หรือที่เรียกว่า Engagement หากเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ชนิดที่เฟซบุ๊ก เข้าใช้งานไม่ได้มากกว่าแค่ข้ามคืน นักการตลาดทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ก็ต้องปรับกระบวนยุทธของตนเอง

เพราะทิศทางของ Content ในปัจจุบันนั้นเป็นไปตามการเปิดการมองเห็นหรือการจัดอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก หากต้องเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มใหม่หรือสื่อออนไลน์ใหม่ การจัดการ Content เพื่อให้โดนใจลูกค้า รวมไปถึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ก็ต้องเปลี่ยนไป

ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องพยายามเข้าใจลูกค้าในแต่ละแพลตฟอร์ม ที่มีความสนใจที่แตกต่างกัน เพราะถึงแม้จะเป็นโซเชียลมีเดียเหมือนกัน แต่คนที่ใช้โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มก็มีลักษณะนิสัยที่ต่างกัน และจะหา Influencer ที่สามารถประสบความสำเร็จข้ามแพลตฟอร์มได้ค่อนข้างยาก

หากศึกษาและเข้าใจการใช้ Blog เว็บไซต์ รวมไปถึงโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มได้อย่างถ่องแท้แล้ว การนำเสนอ Content เดียวกันแต่มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแพลตฟอร์ม น่าจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับแบรนด์ได้ หากวันหนึ่งเฟซบุ๊กเกิดหายไปจากโลกใบนี้ขึ้นมา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ